วันจันทร์, 20 มกราคม 2568
  

บุคคลที่เกี่ยวข้องกับหนทางแห่งไม้กางเขนในเหตุการณ์พระมหาทรมานของพระเยซูคริสต์ (Passion Sunday)

1.    ยูดาส อิสคาริอ็อท (Judas Iscariot)

พวกเรารู้ดีว่า ยูดาส อิสคาริอ็อท เป็นผู้ถือถุงเงินในกลุ่มอัครสาวก และทรยศพระเยซู ด้วยการติดสินบนเพียงแค่ 30 เหรียญเงิน เพื่อชี้เบาะแสนำจับพระองค์โดยการจูบ ซึ่งถูกเรียกว่า “จูบของยูดาส” ทำให้พวกทหารของมหาสมณะไคยาฟาส เข้าจับกุมและนำตัวส่งต่อให้ทหารของปอนซีโอ ปีลาโต

        ใช่แล้ว บรรดาคริสตชนจำนวนมาก ยังคงถือว่า “ยูดาส” คือผู้ทรยศ ความจริง คำาว่า “ยูดาส” นั้น มีปรากฏอยู่ในหลายภาษา ซึ่งมีความหมายตรงกันว่า คนทรยศ หรือ คนหักหลัง

2. มหาสมณะ, ฟาริสี, นักกฎหมาย – คู่ปรปักษ์ (Chief Priest, Pharisee, Lawyer – Adversary)

        ถ้าหากมหาสมณะทำบาป เขานำความผิดมาสู่ปวงชนทั้งหมด (เทียบ เลวีนิติ 4:3) “ด้วยอำนาจอะไร ที่ท่านกระทำสิ่งเหล่านี้” (มาร์โก 11:27-28) คำถามลักษณะเดียวกันเช่นนี้ในพระวรสาร เป็นภาพของพระเยซูที่เป็นคู่ปฏิปักษ์อย่างเลี่ยงไม่ได้กับพวกมหาสมณะ นักกฎหมาย ผู้อาวุโส พวกฟาริสี พวกซัดดูสี ในฐานะที่เป้นพวกที่เลวร้าย ต่อต้านพระเยซูตลอดเวลา ทุกกรณี จนกระทั่งวางแผนอย่างลับๆ เพื่อนำพระองค์ไปฆ่า

3.    สาวกทั้ง 12 คน (Disciples)

คำว่า “สาวก” (disciples) มีความหมายคือ ผู้เรียนรู้ หรือ ผู้ติดตาม ส่วนคำว่า “อัครสาวก” (apostle) หมายถึง ผู้ที่ถูกส่งออกไป ในขณะที่พระเยซูคริสต์อยู่ในโลกนี้ ผู้ติดตามพระองค์ทั้ง 12 คน ถูกเรียกว่า “อัครสาวก” ทั้ง 12 คนเรียนรู้ และเจริญชีวิตอยู่กับพระองค์ หลังจากพระองค์กลับคืนชีพ และเสด็จขึ้นสวรรค์ พระองค์ส่งพวกเขาออกไปเป็นพยานถึงพระองค์ สาวกทั้ง 12 นี้ คือเพื่อนสนิทของพระองค์ อยู่กับพระองค์แบบเต็มเวลา และพระองค์ได้ล้างเท้าพวกเขา แต่ว่า พวกเขาหายตัวไปไหน ขณะที่พระองค์ถูกจับกุม?

4.    เปโตร : ผู้มีความเชื่อสั่นคลอน (Peter: his faith was shaking)

        เปโตร แปลว่า ศิลา หรือ หิน แต่ดูเหมือนว่า จะไม่มีลักษณะความมั่นคง และในสถานการณ์เช่นนี้ ขณะที่เขาเป็นกลุ่มแรกจริงๆ ที่ถูกเรียกให้เป็นสาวก ผู้รับใช้ เขาเป็นเหมือนโฆษกของกลุ่มสาวกเขาถูกเรียกว่า “คนความเชื่อน้อย” (อ่าน มัทธิว 14) พระเยซูคริสต์ ตวาดเขาว่า “ไปให้พ้น เจ้าซาตาน” เขาเคยปฏิเสธพระเยซูคริสต์ 3 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ในบรรยากาศฉลองปาสกา เปโตรกลายเป็นตัวอย่างของคนบาป ที่ได้รับการอภัย! ขณะที่มีเหตุการณ์ลำบาก ความคิดเห็นต่าง และจำเป็นต้องตีความ ถามความเห็น ด้วยความนับถือ ทั้งด้วยอำนาจ และด้วยความรับผิดชอบ พระเยซูคริสต์มักจะมอบเรื่องสำคัญๆ เช่นนี้แก่เปโตร!

5.    ยากอบ และ ยอห์น (ลูกชาย 2 คนของเศเบดี) – James & John, sons of Zebedee

เขาทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทของพระเยซูคริสต์ ยากอบเป็นหนึ่งในสามของสาวก ผู้ที่พระเยซูคริสต์เลือกให้เป็นพยานในเหตุการณ์การสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรืองบนภูเขาเฮอร์โมน ยอห์นเป็นสาวกคนนั้นที่พระเยซูคริสต์ทรงรักมาก และ เขาวิ่งไปพร้อมกับเปโตรที่วังของมหาสมณะ หลังจากการจับกุมพระองค์เกิดขึ้น ยอห์นเป็นเพียงสาวกคนเดียวเท่านั้นที่ยืนอยู่ใกล้พระเยซูคริสต์ที่สุด ที่ใต้กางเขน ณ เนินเขากัลวารีโอ กับพระแม่มารีย์ มารดาของพระองค์ และสตรีใจศรัทธาบางคน และยอห์นเป็นผู้พาแม่พระไปดูแล ซึ่งเป็นความปรารถนาสุดท้ายของพระเยซูคริสต์

6.    ปอนซีโอ ปีลาโต-ผู้ว่าราชการ (Pontius Pilate) และภรรยา ชื่อเกลาเดีย โปรกูล่า (Claudia Procula)

ปีลาโต ผู้ว่าราชการโรมัน แห่งแคว้นยูเดีย ระหว่างปี ค.ศ. 26-36 ปีลาโตล้างมือ เพื่อแสดงว่าเขาไม่รับผิดชอบในการประหารชีวิตพระเยซูคริสต์ แม้ว่าจะรู้สึกลังเลใจมากที่ส่งพระองค์ไปสู่ความตาย เขาลังเล กังวล ในการตัดสินคดีของพระเยซูคริสต์ แต่ว่าเขาถูกกดดันมากๆ จากฝูงชนที่ไม่อาจควบคุมได้ ขณะที่พวกแกนนำชาวยิวก็คอยเตือนเขาว่า พระเยซูคริสต์เรียกตัวเองว่าเป็นกษัตริย์ ซึ่งเป็นการท้ายทายการปกครองของโรมัน และท้าทายอำนาจของโรมัน ซีซ่าร์

ปกติแล้วผู้ปกครองชาวโรมัน มักจะมีดุลพินิจแบบกว้างๆ ในเรื่องการตัดสินประหารชีวิตคนต่างชาติ แต่ทำไมกรณีนี้ ปีลาโตถูกครอบงำจากฝูงชนแบบเลี่ยงไม่ได้ ต่อมาปีลาโตถูกเรียกตัวกลับกรุงโรม เนื่องจากเขาใช้ความรุนแรงเกินเหตุปฏิบัติต่อชาวยิว ปีลาโตเป็นคนที่ค่อนข้างโหดต่อชาวกาลิเลียน และปีลาโตพิพากษาพระเยซูคริสต์ในฐานะที่เป็นชาวกาลิเลียน เพราะปีลาโตส่งพระองค์ไปหาเฮร็อด และเฮร็อดก็เจ็บแค้นปีลาโต เพราะปีลาโตเป็นคนมีอคติและโหดร้ายต่อชาวกาลิเลียนโดยทั่วไป ปีลาโตใช้เงินทองของวิหารยิวมากมาย เพื่อเอามาสร้างท่อส่งน้ำของโรมัน ปีลาโตมักจะซ่อนกองกำลังทหารในหมู่ชนชาวยิว โดยเฉพาะ ขณะที่เขาต้องกล่าวปราศรัยต่อพวกยิว ถ้าหากปีลาโตไม่พอใจ เขาจะส่งสัญญาณให้ทหารโจมตี ทุบตี และฆ่าพวกยิว เพื่อปิดปากพวกที่ชอบร้องขอโน่นนี่ เขาเป็นคนขี้ขลาด ใช้อำนาจที่มีในทางที่ผิด เพื่อความอยู่รอดของตนเอง และหาผลประโยชน์ใส่ตน และมีพฤติกรรมคอร์รัปชั่นตลอด ที่เขาล้างมือก็เพราะภรรยาเขา เคลาเดีย ฝันร้าย และจะเกิดการอับโชค ถ้าหากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

7.    บารับบาส (Jesus Bar-Abbas)

ในพระวรสารทั้ง 4 ฉบับ ย้ำว่าเป็นธรรมเนียมของยิวที่จะต้องปล่อยตัวนักโทษในโอกาสวันปาสกา หรือ นิรโทษกรรมนั่นเอง ปีลาโตเสนอฝูงชน ตัวเลือกระหว่างนักโทษกบฏ ชื่อบารับบาส หรือ พระเยซูคริสต์ ซึ่งขณะนั้นสถานการณ์ค่อนข้างสับสน รุนแรง เพราะว่าบารับบาส มีชื่อเต็มๆ ว่า “เยซุส บารับบาส” คือ เยซุส ลูกของอับบาส ฝูงชนคงสับสน และเข้าใจผิดว่าใครกันแน่ที่พวกเขาถูกถามว่าจะต้องปล่อย พวกหัวหน้าชาวยิวหัวรุนแรงจึงถือโอกาสนี้ใช้เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ให้ร้องตะโกนไปว่า ปล่อยเยซุส บารับบาส!

8.    ฝูงชน (Crowds)

พวกฝูงชนอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่ลมจะพัดไปทางไหน อารมณ์ไม่อยู่กับร่องกับรอย ขาดความรู้ ขาดข้อมูลในความจริง เจริญชีวิตแบบยากจน ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงถูกล้างสมอง และถูกซื้อตัวอย่างง่ายดาย พวกเขาเป็นคนมีจิตใจดีไหม? หรือว่า เป็นเพียงแค่พวกแสวงหาผลตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ

9.    พวกทหารโรมัน (Roman Soldiers)

นิสัยทหารโรมัน คือเอาความมันเข้าไว้ เอาสนุกไว้ก่อน หัวเราะเยาะ สมองวิ่งแบบเครื่องจักร พวกเขาลากตัวพระเยซูคริสต์ไปที่จวนข้าหลวง และเกณฑ์กองทหารทั้งกองทัพมาอยู่หน้าพระองค์ พวกเขาจับพระองค์ เปลือยกาย และเอาเสื้อยาวสีม่วงห่มให้ ใส่มงกุฏหนามบนศีรษะพระองค์ แล้วเอาไม้อ้อมาใส่ไว้ในพระหัตถ์ขวา แล้วทำเป็นคุกเข่าต่อหน้าพระองค์ เยาะเย้ย เสียดสี แบบสะใจ พูดว่า “ขอจงทรงพระเจริญ กษัตริย์แห่งชาวยิว” ถ่มน้ำลายรดพระองค์ และเอาไม้อ้อที่ถือนั้นฟาดลงไปที่ศีรษะพระองค์ เมื่อเยาะเย้ยเสร็จแล้วก็น้ำพระองค์ไปตรึงกางเขน

10.  ซีมอน ชาวซีเรน (Simon of Cyrene)

เนื่องจากบ้านเกิดของเขาอยู่ที่เมืองซีเร็น หรือประเทศลิเบียในปัจจุบัน ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอาฟริกา ด้วยเหตุนี้จึงพูดกันว่า ซีมอนชาวซีเร็น เป็นนักบุญชาวอาฟริกันคนแรก! ที่เมืองซีเร็นนั้น มีกลุ่มชนชาวยิวอาศัยอยู่ประมาณ 1 แสนคน ในระหว่างการปกครองของปโตเลมี โซแตร์ (323-285 ก.ค.ศ.) ขณะนั้นมีศาลาสาธารณะอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม และพวกยิวต้องเดินทางไปฉลองเทศกาลประจำปี

ยังมีเรื่องเล่าว่าลูกชาย 2 คนของซีมอน คือ รูฟาส และอเล็กซานเดอร์ ภายหลังกลายเป็นมิสชันนารี ซึ่งมาร์โก เอ่ยชื่อทั้ง 2 นี้ว่า เป็นหลักสำคัญต่อกลุ่มคริสตชนเริ่มแรก โดยเฉพาะที่กรุงโรม ในจดหมายเปาโลถึงชาวโรม ก็มีกล่าวถึง รูฟาส ลูกซีมอนชาวซีเร็น (โรม 16:13) บางคนกล่าวว่า ซีมอน พร้อมกับบุรุษจากเมืองซีเร็น เป็นผู้ประกาศพระวรสารที่ประเทศกรีซด้วย

ซีมอนช่วยพระเยซูคริสต์แบกไม้กางเขน บางคนวิเคราะห์ว่า เขาถูกเลือก เพราะว่า เขาอาจจะแสดงออกถึงความสงสาร เห็นใจพระเยซูคริสต์ แต่บางคนแย้งว่า อาจไม่ใช่ เพราะในเนื้อหาพระวรสาร ไม่มีบ่งรายละเอียด เขาอาจจะไม่มีทางเลือก อาจถูกบังคับ เพราะการแบกกางเขนไม่ใช่เป็นเรื่องเห็นอกเห็นใจ ในภาพยนตร์เห็นว่า เขาถูกบังคับจากทหารโรมัน และไม่เต็มใจ แต่ภายหลัง เขาก็ยินดี เพราะจะเดินขึ้นไปกัลวารีโออยู่แล้ว จึงสงสารและช่วยเหลือพระองค์ นำกางเขนไปจนถึงยอดเขานั้น

11.  โจร 2 คน ข้างซ้าย และข้างขวาที่ถูกตรึงข้าง ๆ กางเขนพระเยซูคริสต์ (2 robbers – left & right of Jesus’ cross)

คนดีและคนชั่ว คนหนึ่งสุภาพ ถ่อมตน ยอมรับสภาพแท้จริงของตนเอง อีกคนหนึ่งมีแต่ความจองหอง อวดดี! ความรักของพระเจ้าให้โอกาสในการกลับใจเสมอแม้เป็นวินาทีสุดท้ายของชีวิต

12.  นายร้อย (The Centurion) – นายทหารที่ชื่อลองจิอุส (Longius)

เขาเป็นคนดี แต่ไม่มีอำนาจ อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า เขาเป็นคนต่างศาสนา ที่ยืนยันว่า พระเยซูคริสต์ คือพระเจ้าเที่ยงแท้ และเป็นพระแมสซีอาห์ตัวจริง! นายทหารลองจิอุส เป็นคนที่เอาหอกแทงสีข้างพระเยซูคริสต์ ต่อมายืนยันความเชื่อ และ ภายหลังได้เป็นนักบุญ

13.  บรรดาสตรีใจศรัทธา (many pious women)

ผู้มีส่วนร่วมในแผนการไถ่บาป กล้าหาญมาก เช่น เวโรนิก้า ขณะที่พระเยซูคริสต์แบกกางเขน ฝูงชนปะปนกันหลากหลาย เดินตามพระองค์ไปด้วย บรรดาสตรีเป็นทุกข์คร่ำครวญโศกเศร้าถึงพระองค์ แต่พระองค์หันมาตอบกับพวกนางว่า “พวกท่าน ลูกสาวแห่งเยรูซาเล็ม อย่าร้องไห้เพราะเราเลย แต่จงร้องไห้เพื่อตัวพวกเจ้าเอง และลูกๆ ของเจ้าเถิด”

14.  พระนางมารีย์ แม่ของพระเยซูคริสต์… “หัวใจผู้เป็นแม่” (Mary, Mother of Jesus – Heart of Mother)

ผู้มีส่วนร่วมกับพระผู้ไถ่เต็มรูปแบบ เพื่อแผนการแห่งความรอด พร้อมเสมอในการน้อมรับพระประสงค์ของพระเจ้า พระแม่ผู้ยืนเคียงข้างพระเยซูคริสต์ตลอดเวลา รวดร้าวในหัวใจ มีความเข้าใจลึกซึ้งในแผนการความรอดเพื่อมนุษยชาติ

15. แมรี่  มักดาเลน (มารีอา มักดาเลนา) – Mary Magdalene

ต้องถือว่านางเป็น “อัครสาวกยิ่งใหญ่”  กล้าหาญ ซื่อสัตย์ จริงใจ เป็นสัญญลักษณ์ แห่งการกลับใจแท้จริง ความรักแท้ของมักดาเลนา ทำให้นางกลายเป็นผู้นำของบรรดาศิษย์หญิงของพระเยซู และนางเด็ดเดี่ยวยืนอยู่ข้างกางเขนในขณะที่สาวกชายอื่น ๆ หนีเตลิดไปหมด ยกเว้น ยอห์นศิษย์รักแมรี่อยู่นั่นช่วยกันฝังศพพระองค์ เธอมีความศรัทธาแรงกล้า ติดตามพระเยซูคริสต์ ต้องถือว่าเธอเป็นคนวงในจริง ๆ ในบรรดาผู้ที่พระเยซูคริสต์สอน โดยเฉพาะช่วงเวลาที่พระองค์ปฏิบัติศาสนบริการที่กาลิลี มักดาเลนเป็นคนที่โดดเด่นมากโดยเฉพาะในวันท้าย ๆ ปลายชีวิตของพระเยซูคริสต์ เดินทางเป็นเพื่อนพระองค์ตั้งแต่ต้นจนจบแบบทุ่มชีวิตด้วยความศรัทธา เธอเป็นพยานปากเอกในเหตุการณ์ตรึงกางเขน และการฝังศพของพระองค์

รูปลักษณ์ของแมรี่มักดาเลน ดุจดัง “ผู้อุปถัมภ์ หรือ รูปแบบ” ของบรรดาสตรี ผู้เป็นพยานและประกาศข่าวดีด้วยชีวิต จุดหนึ่งที่ทำให้มักดาเลนโดดเด่น และ “ป๊อปปูล่า” ก็เพราะเธอเป็นที่รู้จักว่าเป็นผู้เคยมีความปวดร้าวในชีวิตและเคยถูกมอง ถูกดูถูกในชีวิต จนทำให้ชื่อเสียงของเธอในอดีตถูกเป็นที่นินทายับเยิน จึงมีข้อถกเถียงกันและในการยอมรับอัตลักษณ์ของเธอ ฐานะโสเภณีกลับใจ  และบรรดาศิลปินก็มักจะวาดภาพเธอในลักษณะคนบาปร่ำไห้ และมัวแต่เช็ดเท้าพระเยซูคริสต์ด้วยน้ำตา และมวยผมของเธอเอง

16.  โยเซฟ บุรุษผู้มีฐานะดี แห่งอริมาเธีย (Joseph, wealthy man of Arimathea)

จากการบันทึกในพระวรสาร กล่าวถึงชายคนนี้ที่ยกหลุมศพที่เขาเตรียมไว้ให้ตนเอง แด่พระเยซูคริสต์ หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์บนกางเขน

คริสตชนตีความบทบาทของโยเซฟ ได้สำาเร็จตรงกับการทำนายล่วงหน้าของประกาศกอิสยาห์ที่ว่า “หลุมศพของผู้รับใช้ที่ทุกข์ทรมาน” ซึ่งเป็นของชายที่มีฐานะดีคนหนึ่ง (อิสยาห์ 53:9) เราเข้าใจว่า ผู้รับใช้ฯ นี้คือ พระแมสซีอาห์ นั่นเอง

ตามกฎหมายของชาวโรมัน ระบุว่าสมาชิกที่มีความผูกพันใกล้ชิดกับบุคคลที่ถูกประหารชีวิต สามารถนำศพไปประกอบพิธีได้ แต่ว่าถ้าหากไม่มีญาติสนิทที่บันทึกไว้ในสำมะโนครัว มันก็อาจจะเป็นความเสี่ยง ที่จะอนุญาตให้นำศพไปได้ ผลตามมาคือ ต้องโยนศพทิ้งไป และไม่อนุญาตให้ฝังตาม

อ้างอิงถึงธรรมประเพณีและยังมีระบุอีกว่า ตามธรรมเนียม ศพนั้น อาจถูกฝังไว้ในระหว่างหลุมของสมาชิกในครอบครัว และไม่อนุญาตให้ฝังในหลุมศพของคนแปลกหน้า

        แต่กรณีพระเยซูคริสต์นี้แปลก และเป็นที่น่าพิศวงจริง ๆ ที่มอบหมายให้คนแปลกหน้า เช่น โยเซฟ ไปขออนุญาตนำศพพระองค์มาประกอบพิธี ทั้ง ๆ ที่ญาติของพระเยซูคริสต์ก็มีอยู่อีกหลายคน รวมทั้งยากอบที่เป็นญาติ และมารีย์ผู้เป็นมารดา บรรดาญาติอื่นก็แปลกใจและบ่น ๆ เหมือนกันว่าทำไมต้องเป็นโยเซฟแห่งอริมาเธีย

        เนื่องจากว่าไม่เคยมีบันทึกในทะเบียนอย่างเป็นทางการว่าพระเยซูคริสต์เคยแต่งงาน ดังที่พวกองค์ความรู้เคยเล่า ๆ กันมา ดังนั้นเขานับญาติกันว่า โยเซฟ อาจจะอยู่ในฐานะเป็นปู่ของพระองค์ก็ได้ ในสังคมของพวกเราก็เหมือนกัน มีคนมีฐานะดีจำนวนมาก ที่มีใจกว้าง และจิตใจงดงามช่วยสนับสนุนพระศาสนจักรเสมอมา

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทรำพึงนี้มาแบ่งปันและไตร่ตรองในวันแห่ใบลาน หรือเริ่มต้นอาทิตย์สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์)