วันพฤหัสบดี, 7 พฤศจิกายน 2567
  

การเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาแบบทั่วไป (General Audience) วันพุธที่ 4 สิงหาคม 2021

การเรียนคำสอน: 3 – พระวรสารเพียงเล่มเดียวเท่านั้น

อรุณสวัสดิ์ลูก ๆ และพี่น้องชายหญิงที่รักทั้งหลาย

        เมื่อพวกเราพูดถึงพระวรสารและพันธกิจทีต้องประกาศ เปาโลมีความกระตือรือร้นมากด้วยความระอุที่ออกจากตัวเอง ท่านดูเหมือนว่าจะมองไม่เห็นอะไรนอกจากพันธกิจที่พระเยซูคริสต์ทรงมอบให้ท่านกระทำ ทุกสิ่งในตัวท่านถูกมอบให้กับการประกาศพระวรสารและท่านก็ไม่สนใจในสิ่งใดนอกจากพระวรสารเท่านั้น นี่เป็นความรัก ความสนใจ และอาชีพของเปาโลที่จะต้องทำการประกาศข่าวดีจนกระทั่งท่านกล้าพูดว่า “พระเยซูคริสต์ไม่ได้ส่งข้าพเจ้ามาโปรดศีลล้างบาป แต่ให้มาประกาศพระวรสาร” (1 คร. 1: 17) เปาโลตีความชีวิตของตนเองว่าเป็นกระแสเรียกให้ประกาศพระวรสาร เพื่อให้ทุกคนรู้ถึงสาส์นของพระเยซูคริสต์ เพื่อให้ทุกคนรู้จักพระวรสาร ท่านกล้ากล่าวว่า “วิบัติจงมีแก่ข้าพเจ้า หากข้าพเจ้าไม่ประกาศพระวรสาร” (1 คร. 9: 16) เมื่อเขียนจดหมายถึงคริสตชนชาวโรมัน ท่านแสดงตนง่ายๆ ว่า “เปาโลข้ารับใช้ของพระเยซูคริสต์ อัครธรรมทูตโดยกระแสเรียกถูกเลือกให้ประกาศพระวรสารของพระเจ้า” (รม. 1: 1) นี่คือกระแสเรียกของท่าน พูดสั้นๆ คือ ท่านรับรู้อย่างดีว่าท่านถูก “แต่งตั้ง” ให้นำพระวรสารไปสู่ทุกคนและท่านไม่สามารถจะเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากอุทิศตนเองทั้งหมดจนสิ้นสุดกำลังเพื่อพันธกิจนี้

        ดังนั้นพวกเราจึงสามารถเข้าใจความเศร้าใจ ความผิดหวัง และกระทั่งความขมขื่นของอัครธรรมทูตที่มีต่อชาวกาลาเทียนที่กำลังเดินไปในหนทางที่ผิดอันจะนำพวกเขาไปสู่จุดที่กู่ไม่กลับ พวกเขาเดินไปในหนทางที่ผิด เรื่องใหญ่ใจความทั้งหมดอยู่ที่พระวรสาร เปาโลไม่ได้คิดถึงพระวรสารทั้งสี่เล่มซึ่งเป็นของธรรมดาสำหรับพวกเรา ที่จริงขณะที่ท่านเขียนจดหมายฉบับนี้ ช่วงเวลานั้นยังไม่มีการเขียนพระวรสารสี่เล่ม สำหรับท่านแล้วสิ่งที่ท่านประกาศคือพระวรสารซึ่งท่านเรียกว่า “เก-ริก-มา kerygma” ซึ่งนั่นก็คือหัวใจการประกาศ แล้วการประกาศคืออะไร?  นั่นคือเป็นการประกาศถึงการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความรอด เป็นพระวรสารที่แสดงออกมาด้วยคำกิริยาสี่คำด้วยกัน “พระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์เพื่อบาปของพวกเราตามความในพระคัมภีร์ พระองค์ถูกฝังไว้ในคูหา พระองค์ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพในวันที่สามตามความในพระคัมภีร์ และทรงปรากฏพระองค์แก่เซฟัสและอัครธรรมทูตทั้ง 12 คน”(1 คร. 15: 3-5) นี่คือการประกาศของเปาโล เป็นการประกาศที่มอบชีวิตให้กับทุกคน พระวรสารนี้เป็นความสำเร็จแห่งคำสัญญาและความรอดที่พระเจ้าทรงมอบให้กับมนุษย์ทุกคน ผู้ใดที่น้อมรับก็คืนดีกับพระเจ้าและได้รับการต้อนรับดุจบุตรที่แท้จริงและจะได้รับมรดกแห่งชีวิตนิรันดร

        เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์เช่นนี้อัครธรรมทูตไม่สามารถอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดชาวกาลาเทียนจึงคิดที่ไปยอมรับ “พระวรสารอื่น” ซึ่งบางทีอาจจะมีความคิดที่สูงส่งกว่า ที่มีภูมิปัญญามากกว่า พ่อเองก็ไม่ทราบ… แต่เป็น “พระวรสาร” อีกอย่างหนึ่ง ทว่าพวกเราควรตั้งข้อสังเกตว่าคริสตชนเหล่านั้นยังคงไม่ปฏิเสธพระวรสารที่เปาโลประกาศ อัครธรรมทูตทราบดีว่ายังคงพอมีเวลาที่จะไม่ให้พวกเขาเลือกเดินหนทางที่ผิด แต่ท่านก็ส่งจดหมายตักเตือนไปอย่างหนักแน่น เหตุผลประการแรกของท่านชี้ให้เห็นความจริงที่ว่าการเทศน์โดยธรรมทูตใหม่ – คือผู้ที่เทศน์โดยนำเรื่องประดิษฐ์ประดอยใหม่ๆ เข้ามา – ซึ่งไม่อาจที่จะเป็นพระวรสารได้ ตรงกันข้ามนั่นเป็นการประกาศที่บิดเบือนพระวรสารที่แท้จริง เพราะนั่นเป็นการกีดกั้นไม่ให้พวกเขาบรรลุถึงความเป็นอิสระที่สามารถได้รับโดยมีความเชื่อ – นี่เป็นคำซึ่งเป็นกุญแจดอกสำคัญมิใช่หรือ? – การกีดกันมิให้พวกเขาบรรลุถึงเสรีภาพดังที่พวกเราได้รับจากการที่พวกเรามีความเชื่อ ชาวกาลาเทียนยังคงเป็นคริสตชน “ใหม่” และพวกเราพอที่จะเข้าใจถึงการที่พวกเขารู้คำสอนแบบงูๆ ปลาๆ  พวกเขายังไม่รู้จักความสลับซับซ้อนในประมวลกฎหมายของโมเสส และความกระตือรือร้นของพวกเขาในการมีความเชื่อในพระเยซูคริสต์นำพวกเขาให้ฟังนักเทศน์ใหม่เหล่านั้น โดยหลอกตัวเองว่าสาส์นของพวกเขาเป็นการต่อยอดจากการเทศน์ของเปาโล ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้นเลย

        ทว่าอัครธรรมทูตเปาโลไม่สามารถที่จะเสี่ยงกับการออมชอมบนพื้นฐานที่มีความสำคัญเช่นนั้นได้ พระวรสารมีเพียงหนึ่งเดียว และนั้นคือสิ่งที่ท่านประกาศ จะต้องไม่มีพระวรสารอื่น ๆ ที่แปลกปลอม ขอให้จงระวังให้ดี! เปาโลไม่ได้บอกว่าพระวรสารที่แท้จริงเป็นของตนเอง เพราะท่านเป็นผู้ประกาศ เปล่าเลย! ท่านไม่ได้กล่าวเช่นนั้น นี่จะเป็นการมโนโมเมและเป็นการอวดโม้ ตรงกันข้ามท่านยืนยันว่า พระวรสาร “ของท่าน” เช่นเดียวกันกับพระวรสารที่บรรดาอัครธรรมทูตประกาศในที่ต่างๆ อันเป็นพระวรสารที่แท้จริงแต่หนึ่งเดียว เพราะว่าเป็นพระวรสารของพระเยซูคริสต์ ท่านจึงเขียนว่า “ข้าพเจ้าใคร่ที่จะให้ท่านทั้งหลายทราบว่าพระวรสารที่ข้าพเจ้าประกาศนั้นไม่ใช่พระวรสารของมนุษย์ แต่เป็นการเผยแสดงของพระเยซูคริสต์” (กท. 1: 11)  พวกเราจึงสามารถเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดเปาโลจึงใช้คำพูดที่หนักหน่วง สองครั้งที่ท่านใช้คำว่า “ต้องถูกสาปแช่ง” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องอยู่ให้ห่างจากชุมชนที่เป็นพิษเป็นภัยถึงรากเหง้าแห่งความเชื่อของพวกเรา และ “พระวรสาร” ที่ใคร ๆ คิดว่าเป็นความจริงใหม่นี้จะคุกคามจนถึงรากเหง้าของชุมชน (พระจิตไม่ได้ประดิษฐ์ความจริงใหม่ ความจริงมีอยู่แล้วในพระองค์) พูดง่ายๆ คือสำหรับประเด็นนี้อัครธรรมทูตไม่ยอมให้มีการเจรจากัน พวกเราไม่อาจที่จะเจรจาต่อรองกันได้ ด้วยความจริงของพระวรสารพวกเราไม่สามารถที่จะเจรจาต่อรอง ตกแต่งประดิษฐ์ใหม่ พวกเราจะยอมรับพระวรสารอย่างที่เป็นอย่างที่ถูกประกาศออกมา หรือพวกเราจะยอมรับพระวรสารฉบับแปลใดๆ ก็ได้ แต่พวกเราไม่สามารถที่จะทำการต่อรองประดิษฐ์ความจริงกับพระวรสาร พวกเราไม่อาจที่ออมชอมได้ ความเชื่อในพระเยซูคริสต์ไม่ใช่เรื่องของการต่อรอง แต่เป็นเรื่องของความรอด เป็นการพบปะกัน เป็นการไถ่กู้มนุษย์ ซึ่งไม่อาจที่จะนำมาซื้อขายแบบสินค้าในราคาถูกต่อรองราคา

        การพูดถึงสถานการณ์ดังกล่าวในตอนต้น ๆ ของจดหมายถึงชาวกาลาเทียนดูเหมือนจะมีความขัดแย้งกัน เพราะทุกคนที่เกี่ยวข้อง และดูเหมือนจะมีแรงบันดาลใจด้วยความรู้สึกที่ดี ชาวกาลาเทียนที่ฟังนักเทศน์หน้าใหม่ ๆ คิดว่าโดยอาศัยการรับพิธีเข้าสุหนัตนั้นพวกเขาจะได้ศรัทธาในพระประสงค์ของพระเจ้าเพิ่มขึ้น และจะเป็นที่พอใจของเปาโลมากขึ้นด้วย ศัตรูของเปาโลดูเหมือนจะได้รับแรงดลใจจากความซื่อสัตย์ต่อธรรมประเพณีที่ส่งมอบต่อ ๆ มาจากบรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย และเชื่อว่าความเชื่อแท้จริงอยู่ที่การปฏิบัติตามบทบัญญัติ ท่ามกลางความเชื่อสูงสุดนี้พวกเขาเกิดความสงสัยแม้กับตัวเปาโลที่พวกเขาถือว่าเป็นบุคคลที่เพี้ยนไปจากธรรมประเพณี ฝ่ายอัครธรรมทูตเองก็รับรู้อย่างดีว่าพันธกิจนี้มีธรรมชาติที่เป็นของพระเจ้า – เป็นสิ่งที่พระเยซูคริสต์เองทรงเผยให้ท่านทราบ – เพราะฉะนั้นท่านจึงมีความกระตือรือร้นในความใหม่สดของพระวรสาร ซึ่งเป็นเรื่องความจริงแห่งชีวิตอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่ความใหม่ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่มีพระวรสารที่เป็นแบบ “แฟชั่น” พระวรสารเป็นของใหม่เสมอ เป็นความสดใหม่ ความร้อนรนเชิงอภิบาลของท่านทำให้ท่านเป็นบุคคลเข้มงวด เพราะท่านมองเห็นความเสี่ยงอย่างสูงและเป็นอันตรายที่คริสตชนใหม่ ๆ กำลังเผชิญ พูดสั้นๆ คือในความสับสนแห่งความตั้งใจที่ดีเหล่านี้จำเป็นต้องมีการคลี่คลายเพื่อที่จะเข้าใจถึงความจริงสูงสุดที่สอดคล้องกันกับพระบุคคล และการเทศนาเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ และการเผยแสดงของพระองค์ถึงความรักของพระบิดา นี่เป็นสิ่งสำคัญกล่าวคือ การรู้จักไตร่ตรองแยกแยะความจริง บ่อยครั้งพวกเรามองเห็น ระยะเวลาอันยาวนานแห่งประวัติศาสตร์และมองเห็นแม้กระทั่งทุกวันนี้ว่ามีบางกระบวนการขับเคลื่อนในการประกาศพระวรสารตามความคิดของตัวเองซึ่งบางทีก็ด้วยพระพรที่แท้จริง และแล้วพวกเขาก็ไปไกลเกินไปจนลดคุณค่าของพระวรสารเหลือเป็นเพียง “กระบวนการขับเคลื่อน” และนี่ไม่ใช่พระวรสารของพระเยซูคริสต์ นี่เป็นคำสอนของผู้ก่อตั้งนิกาย หรือลัทธิ แน่นอนว่าสิ่งนี้อาจช่วยได้ในตอนแรก ๆ แต่ในที่สุดแล้วก็จะไม่บังเกิดผล ด้วยเหตุนี้คำพูดที่ชัดเจนของเปาโลจึงเป็นคำชมเชยชาวกาลาเทียนและพวกเราด้วย พระวรสารเป็นของขวัญของพระเยซูคริสต์สำหรับพวกเรา พระองค์เองทรงเผยแสดงให้เราทราบ เป็นสิ่งที่มอบชีวิตให้กับพวกเรา  ขอขอบคุณ

พระสันตะปาปาทรงกล่าวต้อนรับ

        พ่อขอต้อนรับสัตบุรุษที่พูดภาษาอังกฤษ พ่ออธิษฐานขอให้วันหยุดฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึงนี้เป็นเวลาแห่งการพักผ่อนและการฟื้นฟูชีวิตจิตสำหรับลูก ๆ และครอบครัว ขอความชื่นชมยินดีและสันติสุขจงสถิตอยู่กับลูก ๆ ขอพระเจ้าทรงอวยพรทุกคน

การวิงวอนสำหรับชาวเลบานอน

หนึ่งปีหลังการระเปิดที่ท่าเรือในกรุงเบรุต

        ในหลายวันมานี้พ่อคิดถึงประเทศเลบานอนเป็นพิเศษที่เมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมาเกิดระเบิดครั้งใหญ่ที่ท่าเรือในนครหลวง กรุงเบรุตซึ่งก่อให้สูญเสียหลายชีวิตและการทำลายมหาศาล พ่อคิดถึงผู้ที่ตกเป็นผู้เคราะห์ร้ายและครอบครัวของพวกเขา หลายคนได้รับบาดเจ็บ หลายคนต้องสูญเสียบ้านและการทำมาหากิน หลายคนสิ้นหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป

        ในวันที่เป็นวันอธิษฐานภาวนาและการไตร่ตรองสำหรับชาวเลบานอนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่แล้ว พร้อมกันกับผู้นำศาสนาพวกเราทุกคนได้ฟังความหวังและแรงปรารถนา ความสิ้นหวังและความอ่อนล้าของชาวเลบานอน และพวกเราก็อธิษฐานภาวนาขอให้พวกเขาได้รับของขวัญจากพระเจ้าให้พวกเขามีความหวังที่จะเอาชนะต่อวิกฤติอันรุนแรงครั้งนี้

        วันนี้พ่อยังปรารถนาที่จะวิงวอนต่อชุมชนสากลให้มอบความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมไม่ใช่เพียงด้วยวาจา แต่ด้วยการกระทำที่เป็นรูปธรรมในการเดินทางแห่ง “การฟื้นฟูขึ้นมาใหม่” พ่อหวังว่าการประชุมสากลขององค์การสหประชาชาติในขณะนี้จะบังเกิดผลในประเด็นนี้

        ลูก ๆ และกัลยาณมิตรชาวเลบานอนที่รัก พ่อใคร่ที่จะไปพบพวกลูกและพ่ออธิฐานภาวนาสำหรับพวกลูก เพื่อที่ประเทศเลบานอนจะกลายเป็นสาส์นอีกครั้งหนึ่งแห่งสันติภาพและภราดรภาพสำหรับตะวันออกกลาง

__________________________

สรุปคำปราศรัยของสมเด็จพระสันตะปาปา

ลูก ๆ พี่น้องชายหญิงที่รัก ในการเรียนคำสอนของพวกเราเกี่ยวกับจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวกาลาเทียน บัดนี้พวกเราพิจารณากันถึงการยืนหยัดในความซื่อสัตย์อย่างสิ้นเชิงต่อพระวรสาร สำหรับเปาโลการประกาศข่าวดีคือชีวิตของท่าน สิ่งที่ท่านประกาศต่อชาวกาลาเทียนความจริงแล้วเป็น “เก-ริก-ม่า kerygma” ของอัครธรรมทูตที่สรุปถึงความสำเร็จแห่งคำสัญญาในพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อบาปของชาวเรา ทรงถูกฝังไว้ ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพในวันที่สาม และทรงปรากฏพระวรกายแก่เปโตร (เทียบ 1 คร. 15: 3-5) นี่เป็นการอธิบายว่าเหตุใด ในต้อนต้นของจดหมาย เปาโลเรียกร้องอย่างหนักหน่วงไม่ให้ชาวกาลาเทียนหันเหไปจากเสรีภาพที่เกิดขึ้นจากพระวรสาร เพราะเพราะวรสารที่มอบให้กับอัครธรรมทูตนั้นเป็นการมอบให้กับทุกคนรวมถึงพวกเราเองด้วย เป็นการับประกันถึงชีวิตและเสรีภาพใหม่ที่หลั่งไหลมาจากไม้กางเขนของพระเยซูคริสต์และของขวัญของพระจิต

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและไตร่ตรอง)