วันจันทร์, 20 มกราคม 2568
  

ข้อคิดข้อรำพึงวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (Good Friday of The Passion of The Lord)

เวลาของพระองค์มาถึงแล้ว

เราได้มาถึงจุดสูงสุดในพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าแล้ว  เวลาของพระองค์มาถึงแล้ว

“เวลาที่บุตรแห่งมนุษย์จะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์มาถึงแล้ว” (ยน 12:23)

“พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าถึงเวลาแล้วที่จะทรงจากโลกนี้ไปเฝ้าพระบิดา” (ยน 13:1)

“เวลา” ของพระองค์ไม่เพียงแต่หมายถึง  “เวลาแห่งการรับทรมาน” เท่านั้น  แต่หมายถึง  “เวลาแห่งการรับทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพ” ด้วย  คือเป็นเวลาที่จะ  “ผ่าน”  จากโลกนี้ไปเฝ้าพระบิดา  จะเป็นการผ่านที่แท้จริงของพระองค์   เป็นปัสกาแท้ (คำว่า ปัสกา แปลว่า ผ่าน)  พระทรมานจึงเป็นเวลาที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของพระเยซูเจ้าโดยแท้  ดังที่พระองค์ได้ทรงประกาศไว้ล่วงหน้าแล้วว่า  “เมื่อใดที่ท่านยกบุตรแห่งมนุษย์ขึ้น  เมื่อนั้นท่านจะรู้ว่า  เราเป็น” (ยน 8:28)

พระทรมานของพระเยซูเจ้าในมุมมองของนักบุญยอห์น

เราไม่อาจเข้าใจพระเยซูเจ้าได้  ถ้าไม่รำพึงเรื่องพระทรมานของพระองค์  ผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสี่องค์ก็เขียนเล่าเรื่องนี้ค่อนข้างยาว  นักบุญยอห์นนำเสนอเรื่องราวพระทรมานแตกต่างจากผู้นิพนธ์พระวรสารคนอื่นๆทั้งสามคน  และพระทรมานที่เล่าโดยนักบุญยอห์นนี้  พระศาสนจักรกำหนดให้อ่านในคืนวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ของทุกๆปี  หัวข้อหลักของเรื่องพระทรมานของพระเยซูเจ้ากลับไม่ได้เน้นไปที่พระทรมานที่ทรงได้รับ  แต่เป็นเรื่องชัยชนะของพระองค์ต่างหาก  เหมือนกับที่พระองค์ได้ตรัสไว้ก่อนหน้านี้เพียงเล็กน้อยว่า  “และเมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน  เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา” (ยน 12:32)  กล่าวคือนักบุญยอห์นไม่ได้เล่าทุกฉากของพระทรมาน  เช่นว่า  ไม่เล่าตอนที่ทรงเข้าตรีทูต  ไม่เล่าตอนที่ยูดาสทรยศพระองค์ด้วยการจูบ  ไม่เล่าเรื่องการถูกตัดสินประหารชีวิต  การถูกเยาะเย้ย  ถูกถ่มน้ำลายรด  และความรุนแรงอื่นๆที่เกิดขึ้นกับพระองค์  แต่นักบุญยอห์นเล่าเรื่องการถูกสวมมงกุฎหนาม  ซึ่งสื่อความหมายถึง  ความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้า  ต่อจากนั้นนักบุญยอห์นเขียนไว้สั้นๆว่า  พระเยซูเจ้าทรงถูกเฆี่ยน  และทรงถูกตรึงกางเขน

ถ้าสังเกตเรื่องของนักบุญยอห์นที่เล่าถึงพระทรมานของพระเยซูเจ้า  จะเห็นว่า  พระองค์ทรงสงบมาก  เช่นว่า  พระองค์ทรงต้อนรับเจ้าหน้าที่ที่พากันมาจับกุมตัวพระองค์  และทรงออกคำสั่งราวกับว่าทรงเป็นผู้บังคับบัญชาพวกเขา  ในการถูกสอบสวนต่อหน้าอันนาส  พระองค์ทรงรักษาความสง่างามได้เป็นอย่างดี  ในการถูกสอบสวนต่อหน้าปีลาต  มีการประกาศอย่างเป็นทางการถึงฐานะกษัตริย์ของผู้ถูกกล่าวหาว่า  “นี่คือกษัตริย์ของท่านทั้งหลาย” (ยน 19:14)  เมื่อเราอ่านพระทรมานของพระเยซูเจ้าตามที่ท่านยอห์นบันทึกไว้  เราจะรู้สึกได้ว่า  หนทางกางเขน  เป็นหนทางแห่งชัยชนะ  เราจะมาพิสูจน์เรื่องนี้กัน  โดยพิจารณาบางส่วนจากข้อเขียนของท่าน

ข้อความแรกที่เราจะพิจารณาคือข้อความที่นักบุญยอห์นบันทึกไว้ว่า  “พระองค์เสด็จพร้อมกับบรรดาศิษย์  ข้ามห้วยขิดโรน  ที่นั่นมีสวนแห่งหนึ่ง”  ตำแหน่งของบรรดาศิษย์คืออยู่ข้างๆพระเยซูเจ้า  ห้วยขิดโรนนั้นมีน้ำไหลมาจากพระวิหาร  ส่วนเรื่อง “สวนแห่งหนึ่ง” นี่น่าสนใจ  นักบุญยอห์นเริ่มเรื่องพระทรมานด้วยการพูดถึงสวนแห่งหนึ่ง  เหมือนสวนสวรรค์ในพันธสัญญาเดิม  และก็จบเรื่องพระทรมานด้วยสวนอีกแห่งหนึ่ง  “สถานที่ที่พระองค์ทรงถูกตรึงนั้นมีสวนแห่งหนึ่ง  สวนนี้มีคูหาขุดใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ฝังผู้ใดเลย  เขาจึงอัญเชิญพระศพของพระเยซูเจ้าบรรจุไว้ที่นั่น” (ยน 19:41-42)  น่าเสียดายที่บรรดาศิษย์ที่ควรจะอยู่เคียงข้างพระองค์  แต่เมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้นกับพระองค์  พวกเขาพากันละทิ้งพระองค์  เหมือนกับว่า  การรู้จักพระองค์เป็นเรื่องอันตรายเกินไป  เป็นเรื่องที่น่าอับอาย  นักบุญเปโตรที่ได้ตามพระเยซูเจ้าไปห่างๆ ก็ได้ปฏิเสธการรู้จักพระองค์  และไม่ใช่เพียงครั้งเดียว  แต่ถึงสามครั้งด้วยกัน  แต่พระเยซูเจ้าได้ทรงหันมามองเปโตรด้วยสายพระเนตรแห่งความรักและเมตตา  จิตใจของศิษย์ผู้ไม่ซื่อสัตย์นั้นเจ็บช้ำมาก  นักบุญเปโตรร้องไห้เสียใจมากมายในบาปของตน  นักบุญเปโตรเป็นข้อพิสูจน์ถึงพระวาจาที่ว่า

“ความรักปกคลุมบาปจำนวนมากมาย”

ข้อความที่สองที่เราจะพิจารณาคือ  นักบุญยอห์นเน้นว่า  “พระองค์ทรงแบกไม้กางเขน  เสด็จออกไปยังสถานที่เรียกว่า  “เนินหัวกะโหลก  เขาตรึงพระองค์บนไม้กางเขนที่นั่น”  กางเขนกลายเป็นการประกาศความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้า  เพราะปีลาตเขียนป้ายประกาศติดไว้บนไม้กางเขนเป็นข้อความว่า  “เยซูชาวนาซาเร็ธ  กษัตริย์ของชาวยิว”  ป้ายนั้นเขียนไว้ถึงสามภาษาคือ ฮีบรู ละติน และกรีก  เหตุการณ์ต่อมาคือบรรดาทหารนำฉลองพระองค์มาแบ่งกัน  “ส่วนเสื้อยาวของพระองค์นั้นไม่มีตะเข็บ”  รายละเอียดตรงนี้หมายถึงตำแหน่งสมณะของพระเยซูเจ้า  เพราะอาภรณ์ของมหาสมณะนั้นทอโดยไม่มีตะเข็บ

และฉากที่ทำให้เราสะเทือนใจมากที่สุดคือ  พระเยซูเจ้าทรงอยู่บนกางเขน  แทบพระบาทของพระองค์มีมารีย์อยู่สามคน  แต่ขอพูดเฉพาะถึงมารีย์สองคน  คือมารีย์ผู้บริสุทธิ์(พระมารดา)  กับมารีย์คนบาป(ชาวมักดาลา)  ในระหว่างหญิงสองคนนี้น่าจะมีที่สำหรับเราแต่ละคนด้วย  “ศิษย์ที่รักของพระเยซูเจ้า”  คือตัวแทนของเราทุกคน  พระเยซูเจ้าตรัสกับพระมารดาว่า  “หญิงเอ๋ย  นี่คือลูกของแม่”  คำว่า  “หญิงเอ๋ย”  ทรงต้องการหมายความว่าพระมารดาทรงเป็น “เอวา” คนใหม่  พระเยซูเจ้าทรงอยู่บนกางเขน  ทรงยากจนที่สุด  สมบัติเดียวและสุดท้ายที่ทรงเหลืออยู่ คือ พระมารดาและพระองค์ทรงมอบให้ชาวเรา  “นี่คือแม่ของท่าน”  นับแต่นั้นมา  ศิษย์นั้นก็รับพระมารดามาเป็นมารดาของตน

และสุดท้าย คือเรื่องพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์  หลังจากนั้น  พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าทุกสิ่งสำเร็จแล้ว  จึงตรัสว่า  “เรากระหาย”  นักพระคัมภีร์ยืนยันว่า  ความทรมานที่สาหัสที่สุดของการถูกตรึงกางเขนคือความกระหายน้ำ  พระองค์ไม่ได้เสวยอะไรเลยตั้งแต่เมื่อวานตอนเย็น  ไม่ได้ดื่มอะไรเลยตั้งแต่อาหารค่ำมื้อสุดท้าย  และทรงเสียเลือดไปมากจากการถูกเฆี่ยนและการสวมมงกุฎหนาม  ท่ามกลางอากาศร้อนอันทารุณของเดือนเมษายน  ซึ่งถือว่าเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์  เป็นความกระหายอย่างรุนแรงนี่เองที่ทำให้พระองค์ต้องสิ้นพระชนม์  อย่างไรก็ตาม  ความกระหายทางกายก็มิอาจเปรียบได้กับความกระหายอีกอย่างหนึ่ง  ที่รุนแรงกว่ามากนัก  คือ พระองค์ทรงกระหายที่จะช่วยพวกเราให้รอดพ้น นั่นเอง

“สำเร็จบริบูรณ์แล้ว”  เหมือนคนงานที่ดี  พระองค์จะไม่ทรงจากไปจนกว่าจะได้ตรวจตราว่างานของพระองค์สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี  “อาหารของเราคือทำตามพระประสงค์ของผู้ทรงส่งเรามา  และประกอบภารกิจของพระองค์ให้สำเร็จลุล่วงไป”  แล้วพระองค์ทรงเอนพระเศียร  สิ้นพระชนม์

(คุณพ่อวิชา  หิรัญญการ  เรียบเรียงใหม่ วันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 2020

Based on : “รำพึงและเข้าใจพระวรสารนักบุญยอห์น”  แปลโดย คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร

จากบทเทศน์ของ Fr. Andre Gelinas, SJ)