บทเทศน์ของพระสันตะปาปาฟรานซิส มิสซาเสกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ (Chrism Mass)

        พระวรสารของวันนี้แสดงให้พวกเราเห็นถึงการเปลี่ยนใจของประชากร ซึ่งฟังพระวาจาของพระเยซูคริสต์ การเปลี่ยนใจนั้นน่าคิด น่าไตร่ตรองมาก และแสดงให้เห็นถึงขอบเขตที่การเบียดเบียนและไม้กางเขนนั้นต่างก็มีการเชื่อมสัมพันธ์กันกับการประกาศพระวรสาร ความพิศวงที่ถูกกระตุ้นด้วยพระวาจาที่เปี่ยมด้วยพระหรรษทานที่กล่าวโดยพระเยซูคริสต์มิได้คงอยู่นานในจิตใจของประชากรแห่งนาซาเร็ธ ยังมีการวิจารณ์ของบางคนที่บ่นไปทั่วว่า “ชายคนนี้ไม่ใช่บุตรของโยเซฟดอกหรือ?” (ลก. 4: 22)

        นี่เป็นหนึ่งในการแสดงออกที่คลุมเครือที่หลุดออกจากปากโดยปราศจากการยั้งคิด พวกเราอาจกล่าวในเชิงบวกก็ได้ว่า “ช่างน่าพิศวงเสียนี่กระไรที่ชายผู้สุภาพนั้นตรัสอย่างผู้มีอำนาจ” บางคนอาจใช้คำพูดเพื่อเหยียดหยาม “แล้วชายคนนี้มาจากไหนกัน?  พวกเขากำลังคิดว่าบุรุษผู้นี้เป็นใคร?” หากพวกเราคิดถึงเรื่องนี้พวกเราอาจได้ยินคำพูดเดียวกันที่มีคนพูดกันมากมายในวันที่พระจิตเสด็จลงมา เมื่อบรรดาอัครสาวกที่เปี่ยมด้วยพระจิตเริ่มเทศนาพระวรสาร มีบางคนพูดว่า “คนพวกที่กำลังพูดนี้ ไม่ใช่ชาวกาลิเลียนดอกหรือ?” (กจ. 2: 7) คนอื่น ๆ ได้แต่เพียงคิดว่าบรรดาอัครสาวกกำลังมึนเมา

        หากจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมา คำพูดเหล่านั้นที่หมู่บ้านนาซาเร็ธอาจเป็นไปได้ทั้งสองทาง ถ้าพวกเราดูเรื่องราวทั้งหมดที่ตามมาภายหลัง ซึ่งมีความชัดเจนว่ามีความเกี่ยวพันกับการใช้ความรุนแรงที่มีเป้าหมายพุ่งตรงไปที่พระเยซูคริสต์

        นี่เป็น “คำพูดแห่งการสร้างความยุติธรรม” [1] อย่างเช่นเมื่อมีคนพูดว่า “นั่นจะมากเกินไปแล้ว” แล้วก็กล่าวโจมตีผู้อื่น หรือเดินหนีไป

ครั้งนี้พระเยซูคริสต์ ซึ่งบางครั้งก็ไม่พูดอะไรเลย หรือเพียงแค่เดินจากไป บางครั้งพระองค์ไม่ได้ปล่อยให้การวิพากวิจารณ์ผ่านไป พระองค์ทรงเปิดหน้ากากที่แฝงไว้ซึ่งความชั่วร้ายในการซุบซิบนินทาแบบชาวบ้านทั่วไปออกมา “ท่านจะอ้างภาษิตที่กำลังบอกเราว่า “ท่านนายแพทย์ ท่านจงรักษาตนเองเสียก่อน” สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังถึงสิ่งที่ท่านกระทำที่เมืองกาฟาร์นาอูมก็จงทำที่นี่ ณ บ้านเกิดของท่านด้วย (เทียบ ลก. 4: 23) “จงรักษาตัวท่านเองก่อนเถิด…”

“ขอให้เขาช่วยตัวเขาเองก่อน” นี่เป็นยาพิษ! คำพูดเดียวกันเหล่านี้จะติดตามพระเยซูคริสต์ไปจนถึงไม้กางเขน “เขาช่วยคนอื่นได้ ก็ให้เขาช่วยตัวเองสิ” (ลก. 23: 35) หนี่งในโจรสองคนนั้นกล่าวเพิ่มอย่างนั้น (เทียบ ข้อ 39)

เหตุการณ์เป็นเช่นนี้เสมอ พระเยซูคริสต์ทรงปฏิเสธที่จะสนทนากับปิศาจ พระองค์เพียงแค่ตอบด้วยคำพูดในพระคัมภีร์ ประกาศกเอลียาห์และเอลีชาได้รับการต้อนรับไม่ใช่จากชนชาติของพวกเขา แต่โดยหญิงม่ายชาวเฟนีเชี่ยนและชาวซีเรียน ที่เป็นโรคเรื้อน ทั้งสองเป็นคนต่างชาติ ทั้งสองนับถือศาสนาอื่น ในตัวเองนี่เป็นเหตุการณ์ที่น่าทึ่งและแสดงให้เห็นถึงความจริงว่ าคำทำนายที่ได้รับการดลใจของซีเมโอนผู้ชราที่กล่าวว่าพระเยซูคริสต์จะเป็น “เครื่องหมายแห่งความขัดแย้ง (semeion antilegomenon)” (ลก. 2: 34) [2]

พระวาจาของพระเยซูคริสต์เปี่ยมด้วยอำนาจที่นำมาสู่ความสว่างไม่ว่าใครในพวกเรายึดพระวาจานี้ไว้อย่างเหนียวแน่นในหัวใจ ซึ่งบ่อยครั้งจะปะปนกันดุจข้าวสาลีและวัชพืชหญ้าร้าย และนี่คือสิ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งฝ่ายจิตมากขึ้น ขณะที่พวกเราเห็นเครื่องหมายแห่งพระเมตตาอันเหลือล้นของพระเยซูคริสต์และได้ฟังปฐมเทศนา “บุญลาภ-ความสุขแท้” เราก็พบ “ความเลวร้าย” ในพระวรสารด้วย พวกเราพบตนเองว่าถูกบังคับให้ต้องไตร่ตรองแยกแยะและตัดสินใจ ในกรณีนี้พระวาจาของพระเยซูคริสต์ไม่ได้รับการตอบรับ และนี่คือสิ่งที่ทำให้ประชาชนโกรธ และมุ่งหมายที่จะทำร้ายพระองค์ ทว่ายังไม่ถึงเวลา และดังที่พระวรสารกล่าวไว้ พระเยซูคริสต์ “ทรงดำเนินผ่านพวกเขา แล้วหลบพระพักตร์ไป”

ด้วยว่ายังไม่ถึงเวลาของพระองค์ แต่ความโกรธของฝูงชนก็ทะลักออกมาอย่างรวดเร็วและความเหี้ยมโหดของความโกรธก็พร้อมที่จะกำจัดพระองค์เมื่อใดก็ได้ที่พบเห็น ซึ่งแสดงให้เห็นว่านั่นถึงเวลาของพระองค์แล้ว นี่คือสิ่งที่พ่อปรารถนาจะนำมาแบ่งปันกับพวกท่านในวันนี้  บรรดาบาดหลวงที่รัก เวลาแห่งการประกาศพระวรสารด้วยความชื่นชมยินดี เวลาแห่งการเบียดเบียน และเวลาแห่งไม้กางเขนล้วนมาพร้อมกัน

การประกาศพระวรสารจะมีการเชื่อมสัมพันธ์กันกับการที่ต้องเผชิญบางสิ่งบางอย่างที่เกี่ยวกับไม้กางเขนเสมอ แสงสว่างแห่งพระวาจาของพระเจ้าจะฉายรัศมีอย่างโชติช่วงในดวงใจซึ่งพร้อมที่จะน้อมรับ แต่จะสร้างความสับสนและการปฏิเสธจากผู้ที่ไม่ยอมรับ พวกเราเห็นเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในพระวรสาร

เมล็ดพันธุ์ดีตกไปในผืนดินจะบังเกิดผลร้อยเท่าหกสิเท่าสามสิบเท่า ขณะเดียวกันก็สร้างความอิจฉาให้กับศัตรูซึ่งแอบหว่านเมล็ดหญ้าในยามค่ำคืน (เทียบ มธ. 13: 24-30; 36-43)

ความรักอ่อนโยนของบิดาผู้เมตตาดึงดูดบุตรผู้ล้างผลาญให้กลับบ้านเสมอ แต่นั่นก็ทำให้บุตรผู้พี่โกรธจัดและเสียใจ (เทียบ ลก. 15: 11-32)

ความใจกว้างของเจ้าของไร่องุ่น คือเหตุผลของความกตัญญูสำหรับคนงานที่ถูกเรียกในชั่วโมงท้ายๆ แต่นั่นก็ก่อให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างขมขื่นจากคนงานที่ถูกเรียกในชั่วโมงแรกๆ ที่ขัดใจในความใจกว้างของนายจ้าง (เทียบ มธ. 20: 1-16)

ความใกล้ชิดสนิทสนมของพระเยซูคริสต์ ซึ่งนั่งร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกับคนบาป ซึ่งสามารถชนะหัวใจของคนเหล่านั้น เช่นซัคเคว มัทธิว และสตรีชาวสะมาเรีย แต่นั่นก็ทำให้พระองค์ถูกด่าว่าจากพวกที่ถือว่าตนเองเป็นบุคคลชอบธรรมในสังคม

ความใจดีของกษัตริย์ที่ส่งบุตรชายของตนไป โดยคิดว่าเขาจะได้รับความเคารพเกรงใจจากชาวไร่ ผู้เช่าที่ดินของตนต้องบันดาลโทษะจนทนไม่ไหว ณ จุดนี้พวกเราพบว่าตัวเราเองเผชิญกับพระธรรมล้ำลึกแห่งความชั่วช้าที่นำไปสู่การสังหารบุตรพระเจ้าผู้เป็นองค์แห่งความชอบธรรม (เทียบ มธ. 21: 33-46)

พี่น้องบาดหลวงที่รัก ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ทำให้พวกเราเห็นว่าการประกาศข่าวดีนั้นจะมีการเชื่อมสัมพันธ์กันอย่างเร้นลับกับการเบียดเบียนและหนทางสู่ไม้กางเขน

นักบุญอิกญาซีโอแห่งโลโยลา – ขออภัยที่พ่อ “โฆษณาคณะเยสุอิต” – แสดงให้เห็นถึงความจริงแห่งพระวรสารนี้ ในการไตร่ตรองพิศเพ่งถึงการบังเกิดของพระเยซูคริสต์ ท่านนักบุญเชิญชวนพวกเราให้ “ไตร่ตรองและพิจารณาการที่นักบุญโยเซฟและพระแม่มารีย์ต้องออกเดินทางเพื่อพระเยซูคริสต์จะได้บังเกิดในความยากจนที่สุด และหลังจากนั้นแม้จะต้องทำงานอย่างหนัก กระนั้นพระองค์ก็ยังต้องประสบกับความหิว ความกระหาย ความร้อน ความหนาว  ความเจ็บปวด ความอัปยศ – ตายบนไม้กางเขน และทุกอย่างนี้ก็เพื่อฉัน” ท่านนักบุญจึงเชิญพวกเราให้ “ไตร่ตรองเรื่องนี้เพื่อที่จะได้รับประโยชน์ฝ่ายจิตบางประการ” (Spritual Exercises, ข้อ 116) ความชื่นชมยินดีแห่งการบังเกิดของพระเยซูคริสต์ ความทุกข์เจ็บปวดแห่งไม้กางเขน การเบียดเบียน

พวกเราต้องไตร่ตรองสิ่งใดบ้างเพื่อที่จะ “ได้รับประโยชน์” สำหรับชีวิตการเป็นสมณบริกรของพวกเราโดยการพิศเพ่งไม้กางเขน – ความเข้าใจผิด การถูกปฏิเสธ และการถูกเบียดเบียน – ตั้งแต่เริ่มต้นประกาศพระวรสาร?

พ่อมีความคิดอยู่สองประการ

ประการแรก พวกเรารู้สึกผิดหวังที่เห็นไม้กางเขนเข้ามาอยู่ในชีวิตของพระเยซูคริสต์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการทำพันธกิจของพระองค์ แม้กระทั่งก่อนที่พระองค์จะทรงบังเกิดมา ซึ่งปรากฏมาแล้วตั้งแต่ที่พระแม่มารีย์ตกอกตกใจต่อสาส์นจากทูตสวรรค์ สถานการณ์ปรากฏมาแล้วในความฝันของโยเซฟ เมื่อท่านรู้สึกว่าจำเป็นที่ต้องส่งมารีย์กลับไปบ้านอย่างเงียบๆ สถานการณ์ปรากฏมาแล้วในการเบียดเบียนของเฮโรดและในความยากลำบากที่ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ต้องสู้ทนเฉกเช่นครอบครัวอื่นๆ อีกมากมายที่ถูกบังคับให้ต้องมีชีวิตอยู่ในทะเลทรายโดยที่ต้องหนีตายไปจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน

สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเราต่างก็รับรู้ว่าพระธรรมล้ำลึกแห่งไม้กางเขนมีอยู่ “ตั้งแต่แรกเริ่ม” ทำให้พวกเราเข้าใจว่าไม้กางเขนไม่ใช่ความคิดที่เลื่อนลอย หรือเป็นอะไรที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญในชีวิตของพระเยซูคริสต์ เป็นความจริงว่าทุกคนที่จับผู้อื่นไปตรึงบนไม้กางเขน ตลอดประวัติศาสตร์ไม้กางเขนปรากฏเป็นความหายนะที่ควบคู่ไปกับชีวิตของตนเอง แต่นั่นไม่ใช่กรณี ไม้กางเขนไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ไม้กางเขนทั้งเล็กและใหญ่ของมนุษยชาติ ไม้กางเขนของพวกเราแต่ละคนไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ

เหตุใดพระเยซูคริสต์จึงยอมรับไม้กางเขนทุกอย่างจนถึงที่สุด? เหตุใดพระองค์จึงทรงน้อมรับการทรมานทุกอย่าง การถูกทรยศและถูกทอดทิ้งจากบรรดามิตรสหายหลังการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย การจับกุมพระองค์ที่ปราศจากความชอบธรรม การถูกรวบรัดพิพากษาคดี และการตัดสินที่เกินเหตุ การใช้ความรุนแรงที่ปราศจากเหตุผลที่พระองค์ทรงถูกโบยและถูกถ่มน้ำลายรด… หากอำนาจการไถ่บาปแห่งไม้กางเขนเป็นเพียงสิ่งบังเอิญ พระเยซูคริสต์ก็คงจะไม่ยอมรับทุกสิ่ง ทว่าเมื่อเวลาของพระองค์มาถึงพระองค์ทรงยอมรับไม้กางเขนอย่างเต็มพระทัยโดยปราศจากเงื่อนไข เพราะว่าบนไม้กางเขนไม่สามารถที่จะมีความคลุมเครือ ไม่แน่ใจ ไม้กางเขนเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะต่อรองกันได้

ความคิดประการที่สอง เป็นความจริงที่มีมิติหนึ่งแห่งไม้กางเขนว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งความครบถ้วนแห่งสภาพที่เป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นข้อจำกัดและความอ่อนแอของพวกเรา แต่ก็เป็นความจริงด้วยว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นบนไม้กางเขน ที่ไม่เกี่ยวกับความความอ่อนแอของความเป็นมนุษย์ของพวกเรา คือแบบการกัดของงูพิษ ซึ่งเมื่อเห็นผู้ที่ถูกตรึงบนไม้กางเขนหมดทางสู้ก็กัดพระองค์ ในความพยายามที่จะปล่อยพิษร้ายและทำลายผลงานทุกอย่างของพระองค์ เป็นการกัดที่ต้องการให้เกิดการเป็นที่สะดุด – และนี่เป็นยุคแห่งการเป็นที่สะดุด – เป็นการกัดที่พยายามจะไม่ให้มีความสามารถ ทำให้ไร้ซึ่งผลและความหมายถึงการรับใช้และการเสียสละเพื่อผู้อื่น นี่เป็นยาพิษของปิศาจที่พยายามยืนยันว่า จงช่วยตนเองให้รอดเสียก่อนเถิด

นี่เป็นเพราะ “การกัด” ที่รุนแรงและเจ็บปวดนี้ ซึ่งพยายามที่จะนำเอาความตายมาให้พวกเรา อันทำให้พวกเราเห็นถึงชัยชนะของพระเจ้าในที่สุด นักบุญมักซีมุส ผู้ฟังแก้บาปบอกพวกเรา ในพระเยซูคริสต์ถูกตรึงบนไม้กางเขนมีสิ่งที่กลับกันตรงกันข้ามเกิดขึ้น ในการกัดแบบงูบนพระกายของพระเยซูคริสต์ ปิศาจไม่สามารถวางยาพิษให้กับพระองค์ เพราะในพระองค์นั้นปีศาจพบแต่ความอ่อนโยนที่ไร้ขอบเขตและความนบนอบต่อพระประสงค์ของพระบิดา ตรงกันข้าม เพราะกับดักแห่งไม้กางเขน เจ้าปิศาจพยายามกัดพระกายของพระเยซูคริสต์ซึ่งกลายเป็นยาพิษสำหรับปีศาจ แต่สำหรับพวกเรานั้นพระกายของพระเยซูคริสต์บนกางเขนเป็นยาต้านทานที่ไปละลายอำนาจของเจ้าปิศาจ [3]

เหล่านี้คือการไตร่ตรองของพ่อ ขอให้พวกเราวอนขอพระหรรษทานจากต่อพระเยซูคริสต์เพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากคำสอนนี้ เป็นความจริงว่าไม้กางเขนมีอยู่ในการประกาศข่าวดีของพวกเรา อันเป็นไม้กางเขนแห่งความรอด ต้องขอบคุณในพระโลหิตที่ช่วยให้มีการคืนดีกันของพระเยซูคริสต์ เพราะเป็นไม้กางเขนทีมีอำนาจแห่งชัยชนะของพระเยซูคริสต์ที่เอาชนะความชั่วร้ายทั้งปวงและช่วยให้พวกเรารอดพ้นจากปิศาจ เพื่อที่จะรับไม้กางเขนพร้อมกับพระเยซูคริสต์และดังที่พระองค์ทรงกระทำต่อพวกเราก่อน ขอให้พวกเราออกไปทำการเทศนา พระองค์จะทรงทำให้พวกเราสามารถแยกแยะและปฏิเสธยาพิษแห่งการเป็นที่สะดุด ซึ่งปิศาจต้องการที่จะใส่ยาพิษให้พวกเราเมื่อใดที่ไม้กางเขนปรากฏอยู่ต่อหน้าพวกเราโดยที่พวกเราไม่เคยคาดฝัน

“แต่พวกเราไม่ได้อยู่ในพวกที่ถอยหลัง (Hypostoles)” (ฮบ. 10; 39) ผู้ที่เขียนจดหมายถึงชาวฮีบรูกล่าว “เราไม่ได้อยู่ในพวกที่ยอมแพ้ถอยหลัง” นี่เป็นคำแนะนำที่ผู้เขียนจดหมายมอบให้พวกเรา พวกเราไม่ถือว่าเป็นที่สะดุด เพราะว่าพระเยซูคริสต์เองก็ไม่ถือว่าเป็นที่สะดุดเมื่อเห็นว่าการเทศนาอันน่าชื่นชมยินดีแห่งความรอดต่อคนยากจนไม่ได้เป็นที่ยอมรับกันอย่างเต็มใจ แต่ท่ามกลางเสียงตะโกนสาปแช่ง และการข่มขู่ที่จะทำร้ายของผู้ที่ปฏิเสธที่จะฟังพระวาจาของพระองค์ หรือต้องการที่จะลดค่าของไม้กางเขนลงให้เห็นเพียงแค่มิติของบทธรรมบัญญัติ เช่นในเรื่องของศีลธรรมและกฎของสมณะ

พวกเราไม่รู้สึกเป็นที่สะดุดเพราะว่าพระเยซูคริสต์ก็ไม่รู้สึกในการรักษาผู้ป่วย และปล่อยให้นักโทษเป็นอิสระท่ามกลางการต่อล้อต่อเถียงเชิงจริยธรรม กฎหมาย และหลักการของสมณะ ซึ่งเกิดขึ้นทุกครั้งที่พระองค์กระทำสิ่งดี ๆ

พวกเราถือว่าไม่เป็นที่สะดุดเพราะว่าพระเยซูคริสต์ถือว่าไม่เป็นที่สะดุดโดยการมอบสายตาให้กับคนตาบอดท่ามกลางผู้คนที่ปิดตา เพื่อที่จะได้มองไม่เห็นหรือมองไปยังทิศทางอื่น

พวกเราไม่ถือว่าเป็นที่สะดุดเพราะพระเยซูคริสต์ก็ไม่ถือว่าเป็นที่สะดุดเช่นเดียวกันเมื่อพระองค์ประกาศปีแห่งพระหรรษทานของพระเจ้า – ปีที่รวบรวมประวัติศาสตร์ทั้งมวล – อันก่อให้เกิดการเป็นที่สะดุดสาธารณะในเรื่องที่ทุกวันนี้แทบจะไม่ปรากฎเลยในหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น

พวกเราไม่ถือว่าเป็นที่สะดุดเพราะการประกาศพระวรสารอย่างมีประสิทธิภาพไม่ใช่เพราะคำพูดที่คมคาย แต่เพราะอำนาจของไม้กางเขน (เทียบ 1 คร. 1: 17)

วิธีที่พวกเรารับไม้กางเขนในการประกาศพระวรสาร – ด้วยการปฏิบัติและเมื่อจำเป็นด้วยคำพูด – ทำให้สองสิ่งมีความชัดเจน นั่นคือความทุกข์ทรมานที่มาจากพระวรสารไม่ใช่ความทุกข์ของพวกเรา แต่เป็น “ความทุกข์ของพระเยซูคริสต์ในตัวเรา” (2 คร. 1: 5) และ “เราไม่ได้เทศนาด้วยตัวของเราเอง แต่พระเยซูคริสต์ในฐานะที่ทรงเป็นเจ้านายและพวกเราเป็นผู้รับใช้ของทุกคนเพื่อเห็นแก่ความรักของพระเยซูคริสต์” (2 คร. 4: 5)

พ่อปรารถนาที่จะจบการเทศน์ด้วยการแบ่งปันความทรงจำประการหนึ่งของพ่อ ครั้งหนึ่งในยามมืดมนในชีวิตของพ่อ พ่อวอนขอพระหรรษทานจากพระเยซูคริสต์ได้โปรดช่วยให้พ่อเป็นอิสระจากสถานการณ์ที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน นั่นเป็นเวลาที่มืดมนจริงๆ พ่อต้องเทศน์เข้าเงียบกับนักบวชหญิงคณะหนึ่ง และในวันสุดท้ายตามธรรมเนียมในเวลานั้นพวกเขาต้องไปสารภาพบาป ซิสเตอร์ผู้สูงวัยท่านหนึ่งซึ่งมีสายตาดีเต็มไปด้วยชีวิตีวา ท่านเป็นคนของพระเจ้า เมื่อการสารภาพบาปสิ้นสุดลงแล้วพ่อรู้สึกว่าอยากจะขอร้องอะไรท่านสักอย่างหนึ่ง “ซิสเตอร์ เพื่อเป็นการใช้โทษบาปของท่านโปรดภาวนาสำหรับพ่อเพราะพ่อต้องการพระหรรษทานพิเศษ ก็ขอพระเจ้าเอาสิ ถ้าคุณพ่อขอพระเจ้า แน่นอนว่าพระองค์จะทรงประทานให้” แล้วเธอก็เงียบไปครู่หนึ่งและดูเหมือนว่าเธอกำลังสวด จากนั้นเธอก็เงยหน้าขึ้นมองพ่อแล้วกล่าวว่า “แน่นอนว่าพระเจ้าจะทรงประทานพระหรรษทานให้พ่อ แต่อย่าเข้าผิด พระองค์จะทรงประทานพระหรรษทานให้พ่อในหนทางของพระองค์” นี่ทำให้พ่อรู้สึกดีมากกับการที่ได้ยินว่าพระเจ้าจะทรงประทานสิ่งที่พวกเราขอเสมอ แต่พระองค์จะทรงประทานให้ในวิถีทางของพระองค์ หนทางนั้นรวมถึงหนทางแห่งไม้กางเขนด้วย ไม่ใช่การทำโทษตนเองในทางจิตวิทยา แต่ด้วยความรัก รักจนถึงที่สุด [4]

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทเทศน์พระสันตปาปามาแบ่งปันและไตร่ตรอง)

——————————-
[1] A master of the spiritual life, Father Claude Judde speaks of expressions that accompany our decisions and contain “the
final word”, the word that prompts a decision and moves a person or a group to act. Cf. C. JUDDE, Oeuvres spirituelles, II, 1883 (Instruction sur la connaissance de soi-même), pp. 313-319), in M. Á. FIORITO, Buscar y hallar la voluntad de Dios, Buenos Aires, Paulinas, 2000, 248 s.

[2] “Antilegomenon” means they would speak in different ways about him: some would speak well of him and others ill.

[3] Cf. Cent. I, 8-13.

[4] Homily at Mass in Santa Marta, 29 May 2013.