วันพฤหัสบดี, 7 พฤศจิกายน 2567
  

พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงยืนยันว่า เลบานอนคือประเทศต่อไปที่พระองค์จะเสด็จไปเยือนในการประทานสัมภาษณ์บนเครื่องบินเที่ยวกลับจากตะวันออกกลาง (8 มีนาคม 2021)

ผู้อำนวยการสำนักข่าว มัตเตโอ บรูนี่ (MATTEO BRUNI)

        นี่คือการเสด็จเยือนครั้งพิเศษจริง ๆ ที่ประทับใจของผู้คนในประเทศนี้

พระสันตะปาปาฟรานซิส (POPE FRANCIS)

        พ่อขอบคุณสำหรับการทำงานของพวกท่าน สำนักข่าวเครือข่ายต่าง ๆ ของพวกท่าน และความเหน็ดเหนื่อยของพวกท่าน

        วันนี้ (8 มีนาคม) เป็นวันสตรีสากล… พ่อขอแสดงความยินดีกับบรรดาสุภาพสตรี… เป็นวันฉลองของสตรี ไม่ใช่ของบุรุษ

        ภรรยาของประธานาธิบดีประเทศอีรักได้สนทนากับพ่อได้ดีมากเกี่ยวกับเรื่องราวของสตรี… อันเป็นพลังที่สตรีทำให้ชีวิตก้าวไปข้างหน้า เช่นครอบครัว ผู้อาวุโส เยาวชน… หลายสิ่งหลายอย่างด้วยกัน

        ประการที่สาม วันนี้เป็นวันเกิดของนักข่าวจากสำนัก COPE … บัดนี้พ่อขอมอบเวทีการสัมภาษณ์ให้กับพวกคุณ

SKY NEWS ARABIA ประเทศเลบานอน

        การพบปะกันที่กรุงอาบูดาบี้ ประเทศสหรัฐอาหรับอีมิเร็ตกับมหาอิหม่ามแห่ง อัล-ลาซาห์ (Al-Ahzar) มุสลิมนิกายสุหนี่ และการลงนามในแถลงการณ์ร่วมเรื่องภราดรภาพมนุษย์นั้นเกิดขึ้นสองปีมาแล้ว (ค.ศ. 2019) เมื่อสามวันที่แล้วพระองค์ได้พบปะกับอยาโตลลาห์ อัล-ซิสตานี (Al Sistani) ผู้นำสูงสุดของชาวมุสลิมนิกายซีอะห์ สันตะบิดรทรงมีพระดำริอะไรบ้างที่คล้ายคลึงทำนองนี้กับชาวมุสลิมนิกายชีอะห์บ้างหรือไม่? และประการที่สอง ประเทศเลบานอน ซึ่งพระสันตะปาปานักบุญจอห์น พอลที่ 2 เคยตรัสว่า ที่นั่นเป็นอะไรที่มากไปกว่าเป็นเพียงประเทศหนึ่งดุจเป็นสาส์นสำคัญ… แต่นับว่าโชคร้าย ข้าพเจ้าอาจกล่าวได้ว่าสาส์นนี้กำลังเลือนรางหายไปจากชาวเลบานอน พระองค์ทรงมีดำริที่จะไปเยือนประเทศนี้ครั้งต่อไปเมื่อใด?

POPE FRANCIS

        เกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วม ณ กรุงอาบูดาบี้นั้นได้มีการตระเตรียมกันอย่างเงียบ ๆ เป็นเวลา 6 เดือน โดยมีการสวดภาวนา ไตร่ตรองร่วมกันตลอด เป็นสิ่งที่เหมือนกับข้อสันนิษฐานหรือสมมุติฐาน และหากถือว่านั่นเป็นข้อสันนิษฐาน นั่นก็คือก้าวแรกอย่างที่ท่านถามพ่อ และสำหรับคำถามที่สอง สำหรับเลบานอนจะเป็นประเทศต่อไป และก็ยังมีประเทศอื่นๆ อีกด้วย เส้นทางแห่งภราดรภาพเป็นสิ่งสำคัญ

        ณ เวลานี้ พวกเรามีเอกสารที่สำคัญสองฉบับ… กล่าวคือ ฉบับแรก “ปฏิญญาแห่งกรุงอาบูดาบี้” ซึ่งทำให้พ่อได้รับแรงบันดาลใจจนต้องออกสมณสาส์นเวียน “พวกเราต่างเป็นพี่น้องกัน” (Fratelli Tutti) ขอให้พวกเราศึกษาเอกสารทั้งสองฉบับอย่างจริงจัง เพราะเนื้อหาสาระพูดไปในทิศทางเดียวกัน พวกเราต่างก็แสวงหาภราดรภาพ

        สำหรับท่านอยาโตลลาห์ อัล-ซิสตานี (Ayatollah Al Sistani) ระหว่างการสนทนา ท่านได้พูดวลีคำหนึ่งที่พ่อคิดว่าพ่อยังคงจำได้ดี นั่นคือ มนุษย์ทุกคนต่างเป็นพี่น้องกันทางศาสนาหรือมีความเท่าเทียมกันจากการสร้างโดยพระเจ้า – นี่คือภราดรภาพและความเท่าเทียมกัน ทว่าพวกเราไม่อาจก้าวไปข้างหน้าได้ภายใต้เครื่องหมายแห่งความเท่าเทียมกัน พ่อเชื่อว่าต้องเป็นหนทางแห่งวัฒนธรรมด้วย ยกตัวอย่าง พวกเราคิดถึงตัวเราในฐานะที่เป็นคริสตชน คิดถึงสงครามที่ยืดยาว 30 ปี คิดถึงราตรีของนักบุญบาร์โธโลมิว เมื่อพวกเราคิดถึงสิ่งเหล่านี้ ทำให้ความคิดของพวกจะเปลี่ยนแปลงไป… เพราะความเชื่อทำให้พวกเราพบว่าความจริงเป็นเช่นนี้ การเผยแสดงของพระเยซูคริสต์ และความรักนำพวกเราไปสู่ความเป็นจริงเช่นนี้ ทว่าต้องใช้เวลากี่ศตวรรษเพื่อที่จะเป็นเช่นนี้ได้ นี่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ – ภราดรภาพของมนุษย์ – มนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกัน และพวกเราต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยกันพร้อมกับศาสนิกของศาสนาอื่น ๆ

        เจตนารมณ์จากสภาสังคายนาวาติกัน ที่ 2 ได้มีมาตรการยิ่งใหญ่เกี่ยวกับประเด็นนี้รวมถึงสถาบันต่างๆ ด้วย หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดสมณสภาเพื่อความเป็นเอกภาพของคริสตชน และเพื่อการเสวนาระหว่างศาสนาซึ่งมีพระคาร์ดินัลมีเกล อายูโซ (Ayuso) เป็นสมณมนตรีฯ ที่ทำงานการสานสัมพันธ์ ผู้นำศาสนาอิสลาม อยาโตลลาห์ท่านมีความเป็นมนุษย์ ท่านเป็นบุตรของพระจ้า ท่านเป็นพี่น้องของพ่อ นี่คือการชี้บอกที่ดีที่สุด เราควรที่จะใช้มาตรการนี้ใช่ไหม นี่เป็นความเสี่ยงต่อความเชื่อไหม?

        พวกท่านทราบดีว่าบางครั้งจะมีข้อตำหนิติฉินนินทาว่า พระสันตะปาปาไม่ใช่ผู้ที่กล้าหาญ พระองค์วิ่งเต้นหาวิธีโน้นวิธีนี้ที่อาจขัดกับความเชื่อของคริสตชนจนพระองค์เฉียดที่จะเป็นเฮเรติก… มีความเสี่ยง แต่การตัดสินใจดังกล่าวกระทำไปเสมอพร้อมกันกับการสวดภาวนา การเสวนา พร้อมกับขอคำแนะนำและมีการไตร่ตรอง นี่ไม่ใช่การตัดสินตามอำเภอใจ แต่ทำไปตามครรลองของคำสอนจากสภาสังคายนาเสมอ นี่คือคำตอบสำหรับคำถามแรกของคุณ

        สำหรับคำตอบที่สอง ประเทศเลบานอนนั้นคือสาส์น เลบานอนตกทุกข์ได้ยาก เลบานอนขาดความสมดุลอย่างยิ่ง ยังมีจุดอ่อนและความแตกต่างที่ยังไม่สามารถตกลงคืนดีกันได้ แต่เลบานอนก็มีพลังของผู้ยิ่งใหญ่ที่ยังมีคนดีดุจต้นสนซีดาร์ พระอัยกาขอร้องให้พ่อแวะเยือนกรุงเบรุตด้วย แต่พ่อเห็นว่า ณ เวลานี้ยังไม่เหมาะสมท่ามกลางปัญหาสำหรับประเทศที่กำลังตกทุกข์ได้ยากในประเทศเลบานอน พ่อได้เขียนจดหมายให้สัญญาว่าพ่อจะไปเยือนประเทศเลบานอนสักวันข้างหน้า

        ทว่าในขณะนี้ประเทศเลบานอนกำลังมี่วิกฤต เป็นวิกฤตถึงขั้นชีวิต พ่อไม่อยากไปรบกวนพวกเขา แต่ห่วงใยที่ประชาชนเผชิญวิกฤตแห่งชีวิต  เลบานอนเปิดใจกว้างต้อนรับผู้อพยพ เลบานอนจะเป็นจุดเยือนถัดไปของพ่อ

นักข่าว JOHANNES – GERMAN ถาม

        การพบปะกับอยาโตลลาห์อัล-ซิสตานี (Al Sistani) ได้ผลสิ่งใดบ้าง รวมถึงสาส์นถึงผู้นำศาสนาในประเทศอิหร่าน?

Pope Francis ตอบ:

        พ่อคิดว่าการพบปะกันเป็นสาส์นสากล พ่อรู้สึกว่าการจาริกแสวงบุญครั้งนี้เป็นการแสวงหาการหยั่งลึกในความเชื่อและการใช้โทษบาป เป็นการเดินทางไปเพื่อพบกับปัญญาชนของพระเจ้า พ่อสัมผัสกับประเด็นนี้ได้เพียงจากการฟังผู้อื่น… และเมื่อพูดถึงสาส์น พ่อปรารถนาจะบอกว่า นี่เป็นสาส์นสำหรับทุกคน และท่านอยาโตลลาห์ก็เป็นผู้ที่มีปรีชาญาณ ซึ่งสนทนากับพ่อว่า “ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าไม่เคยต้อนรับผู้ใดที่มาเยี่ยมข้าพเจ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะขอมาพูดเรื่องการเมืองหรือวัฒนธรรมโดยไม่มีวัตถุประสงค์เรื่องของศาสนา” ท่านอยาโตลลาห์วางตัวน่าเคารพมากในเวลาที่เราพบปะกัน พ่อรู้สึกเป็นเกียรติเพราะท่านยืนขึ้นถึงสองครั้งเพื่อทักทายพ่อ ท่านเป็นบุคคลสุภาพและเฉลียวฉลาด การพบปะกันครั้งนี้ทำให้พ่อรู้สึกดีมากๆ ท่านคือแสงสว่าง บุคคลที่ฉลาดเหล่านี้มีอยู่ทุกหนทุกแห่งเพราะปรีชาญาณของพระเจ้ากระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับบรรดานักบุญ ซึ่งไม่ได้อยู่เพียงแค่บนพระแท่น แต่เป็นนักบุญทุกวัน ซึ่งพ่อเรียกว่านักบุญข้างบ้าน ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตในความเชื่ออย่างคงต้นคงวาไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ท่านเหล่านั้นดำเนินชีวิตอย่างสม่ำเสมอในความเป็นพี่น้องกันด้วยการเห็นคุณค่าของมนุษย์ พ่อเชื่อว่าพวกเราสามารถค้นหาบุคคลเหล่านี้ได้พร้อมพยานหลักฐาน เพราะบุคคลเหล่านี้จำพวกนี้มีอยู่มากมาย ขณะเดียวกันก็ยังมีบุคคลที่เป็นที่สะดุดด้วยซึ่งก็มีมากมายในพระศาสนจักรเช่นเดียวกัน… และสิ่งนี้ไม่ได้ช่วยอะไร แต่พวกเราต้องให้ผู้คนรู้จักกับบุคคลเหล่านี้เพื่อที่จะหนทางสร้างภราดรภาพ สร้างนักบุญข้างบ้าน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเราจะพบกับบุคคลที่เป็นพี่น้องของเรา ณ ที่นั้น

นักข่าวถาม:

        การเดินทางของพระองค์ได้รับความสนใจมากทั่วโลก พระองค์คิดว่านี่เป็น “การเดินทาง นักเดินทาง ในสมณสมัยของพระองค์หรือไม่”? มีการกล่าวกันว่านี่เป็นการเดินทางที่มีความเสี่ยงมากที่สุด พระองค์ทรงกลัวในบางช่วงของการเดินทางหรือไม่?  พระองค์กำลังจะครบแปดปีแห่งสมณสมัยการเป็นสันตะปาปา พระองค์ยังคงคิดอยู่อีกหรือไม่ว่าจะเป็นเพียงสมณสมัยที่สั้น?  สุดท้าย คำถามสำคัญ พระองค์จะกลับไปยังประเทศอาร์เยนตีน่าเป็นบางครั้งหรือไม่?

Pope Francis ตอบ:

        “ขอตอบคำถามสุดท้ายก่อน… พ่อเข้าใจคำถามของท่าน ในหนังสือของเพื่อนนักข่าวเนลสัน คาสโตร (Nelson Castro) ซึ่งเป็นแพทย์เขาเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งพูดถึงการเจ็บป่วยของประธานาธิบดีอาเจนติเนียน เพราะเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะทราบถึงการเจ็บป่วยของประธานาธิบดี และพ่อก็เคยพูดกับเขาครั้งหนึ่งว่าหากเขาเดินทางมาที่กรุงโรม เขาต้องเขียนเรื่องความเจ็บป่วยของพระสันตะปาปา เพราะเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะรู้เกี่ยวกับการเจ็บป่วยของพระสันตะปาปา อย่างน้อยก็สำหรับเวลาในระยะหลังๆ นี้ เขาสัมภาษณ์พ่อและไม่ช้าหนังสือก็คงตีพิมพ์ออกมา พ่อได้ยินเขาพูดกันว่านี่จะเป็นหนังสือที่ดีแต่พ่อไม่เคยเห็นหนังสือของเชาเลย เขาถามพ่อหลายคำถามเช่นว่า “หากพ่อลาออก – หากพ่อจากโลกนี้ไป หรือลงจากตำแหน่ง พ่อจะกลับไปยังประเทศอาร์เยนตีน่าหรือว่ายังจะอยู่ที่นี่? พ่อบอกว่าพ่อจะไม่กลับไปยังประเทศอาร์เยนตีน่า และน่าจะอยู่ที่นี่ในสังฆมณฑลของพ่อ แต่ในสมมติฐานนั้นก็เชื่อมเข้ากับคำถามที่ว่า พ่อจะกลับไปยังประเทศอาร์เยนตีน่าเมื่อไร หรือทำไมพ่อจึงไม่กลับไป…  พ่อมักจะตอบเล่นๆ เสมอว่า พ่อเจริญชีวิตอยู่ในประเทศอาร์เยนตีน่ามาตั้ง 76 ปีแล้วนะ เพียงพอแล้วไม่ใช่หรือ?

        นี่เป็นอะไรบางอย่างที่พ่อไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่มีการกล่าวถึง การวางแผนที่จะไปเยือนประเทศอาร์เยนตีน่าในเดือนพฤศจิกายน 2017 ได้มีการเริ่มวางแผนการเดินทางกันแล้วซึ่งรวมถึงประเทศชิลี อาร์เยนตีน่า และอุรุกวัย ซึ่งจะเป็นปลายเดือนพฤศจิกายน แต่ว่าในช่วงนั้นมีการรณรงค์เลือกตั้งในประเทศชิลี ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งคือผู้สืบทอดตำแหน่งจากมิเกลเล บาเชลเลท (Michelle Bachelet) พ่อควรไปเยือนก่อนที่จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล แต่พ่อก็ไม่สามารถที่จะไป… มีการวางแผนว่าให้เราทำดังนี้ คือให้เราไปยังประเทศชิลีในเดือนมกราคมแล้วต่อไปยังประเทศอาร์เยนตีน่า… ทว่าเป็นไปไม่ได้อีก เพราะมกราคม ก็เหมือนกับกรกฎาคม และสิงหาคมสำหรับสองประเทศ เมื่อได้คิดสาวราวเรื่องนี้ใหม่มีการเสนอขึ้นมาว่า ทำไมไม่เลยไปเยือนประเทศเปรูด้วย เพราะประเทศเปรูเคยถูกตัดออกจากการเยือนประเทศเอควาดอร์ โบลีเวีย และปารากวัย อาร์เยนติน่าถูกตัดออกไป จากประเด็นนี้ในเดือนมกราคม (2018) พ่อจึงได้มีการเยือนประเทศชิลีและเปรู พ่อต้องการกล่าวถึงสิ่งนี้เพื่อได้ไม่จินตนาการไปต่าง ๆ นานา ว่า “พระสันตะปาปาคิดถึงบ้าน” อย่างไรก็ตามเมื่อมีโอกาสเราจะสามารถทำได้ เพราะเรายังมีแผนเดินทางไปประเทศอาร์เยนตีน่า อุรุกวัย และภาคใต้ของบราซิล ซึ่งเป็นแหล่งของวัฒนธรรมยิ่งใหญ่ที่สลับซับซ้อน

        เกี่ยวกับการเยือนต่างๆ เหล่านี้เพื่อการตัดสินใจ พ่อมักจะฟังเสียงคนอื่นก่อน พ่อฟังคำแนะนำของคณะที่ปรึกษา และบางครั้งมีคนมาหาแล้วเสนอว่า พระองค์คิดอย่างไรที่จะไปเยือนมิสซังโน้นมิสซังนี้? ข้อมูลทุกอย่างเป็นประโยชน์ที่พ่อจะรับฟัง การรู้จักฟังช่วยให้พ่อสามารถติดสินใจในภายหลัง พ่อมักฟังคำแนะนำของคณะที่ปรึกษาและพ่อก็อธิษฐานภาวนาแล้วก็ไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง ในการเดินทางแต่ละครั้งพ่อต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ จากนั้นการตัดสินใจก็เกิดขึ้นเกือบจะทันทีจากภายใน ทั้งนี้ต้องสืบเนื่องมาจากผลที่สุกงอม อันเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างยืดยาว การเดินทางบางครั้งก็ยาก บางครั้งก็ง่าย สำหรับการเดินทางครั้งนี้ ณ ประเทศอีรัก ประเด็นแรกมาจากแพทย์หญิง (รักษาเด็ก) ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตของประเทศอิรัก เธอรบเร้าให้พ่อไปเยือนประเทศอิรัก  ในฐานะที่เป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศอิตาลี เธอก็เป็นนักสู้ จากนั้นเธอก็เป็นเอกอัครราชทูตประจำสันตะสำนัก นครรัฐวาติกัน ส่วนท่านประธานาธิบดีนั้นเคยมาเยือนวาติกันก่อนหน้านี้แล้ว เรื่องทั้งหมดนี้เป็นเรื่องภายใน ทว่ามีอะไรบางสิ่งที่อยู่เบื้องหลังซึ่งพ่อปรารถนาที่จะแจ้งให้ทราบ มีคนหนึ่งมอบหนังสือที่เขียนเป็นภาษาสเปนให้พ่อที่เขียนโดยสุภาพสตรี เธอชื่อนาเดีย มูราด (Nadia Mourad) แต่พ่ออ่านฉบับที่แปลเป็นภาษาอิตาเลียน เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพี่น้องมุสลิมชาวยาซีดี (Yazidi)  นักเขียนนาเดีย มูราด (Nadia Mourad) เล่าเรื่องราวที่น่ากลัวมาก พ่อขอแนะนำให้พวกท่านลองไปหามาอ่านหนังสือเล่มนี้ดู ในบางตอนรู้สึกว่าจะหนักเกินไป แต่สำหรับพ่อแล้วเรื่องนั้นกลายเป็นเหตุผลหลักสำหรับการตัดสินใจของพ่อ หนังสือเล่มนั้นทำให้พ่อเกิดร้อนอกร้อนใจ และยิ่งจะหนักขึ้นไปอีกเมื่อคุณนาเดีย ได้มาพบพ่อเป็นส่วนตัวและเล่าให้พ่อฟัง… สิ่งเหล่านี้ช่วยให้พ่อตัดสินใจเมื่อคำนึงถึงทุกสิ่งและปัญหามากมาย แล้วในที่สุดพ่อก็ตัดสินใจที่จะไปเยือนประเทศอิรัก

        ส่วนคำถามเรื่องแปดปีแห่งสมณสมัย พ่อยังจะเดินทางช่นนี้อีกหรือ? (พระองค์ชูนิ้วที่ไขว้กันขึ้น)

        พ่อไม่ทราบว่าจะมีการเดินทางอีกหรือไม่ พ่อเพียงแต่จะสารภาพกับพวกท่านว่าการเดินทางครั้งนี้ พ่อเหนื่อยยิ่งกว่าครั้งใด ๆ เรื่องอายุ 84 ปีนั้นไม่สำคัญ ผลของการเดินทางต่างหาก พวกเราต้องคอยดูกันต่อไป ขณะนี้พ่อกำลังเตรียมตัวไปประเทศฮังการีเพื่อถวายมิสซาโอกาสปิดการชุมนุมเคารพศีลมหาสนิทนานาชาติ ไม่ใช่ไปเพื่อเยือนประเทศ แต่ไปที่นั่นเพื่อถวายมิสซา กรุงบูดาเปสต์อยู่ห่างจากเมืองบราตีสสลาวา (Bratislava) เพียง 2 ชั่วโมงโดยทางรถยนต์ แล้วเหตุใดจึงไม่เยือนประเทศสโลวาเกียด้วย? นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

คำถาม – โรคระบาดกับการเสด็จเยือนประเทศอิรัก

ดังที่พ่อได้เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ การเดินทางหลายครั้งในอดีตฝังลึกในมโนธรรมของพ่อและการเดินทางครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้พ่อรู้สึกมีพลังเพิ่มขึ้น พ่อไตร่ตรองอย่างมาก ภาวนาอย่างมากเกี่วกับเรื่องนี้ จนในที่สุดพ่อตัดสินใจอย่างเสรี แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างมาจากชีวิตฝ่ายจิตภายใน พ่อเคยกล่าวไปแล้วว่าพระเจ้าทรงประทานพลังให้พ่อในการตัดสินใจ พระองค์ต้องพิทักษ์คุ้มครองประชากรของพระองค์ ดังนั้นพ่อจึงตัดสินใจหลังจากที่สวดภาวนา และรับรู้อย่างดีถึงภัยอันตรายต่าง ๆ รวมถึงทุกสิ่งทุกอย่าง

คำถามจากนักข่าวชาวฝรั่งเศส

        พวกเราได้เห็นความกล้าหาญและพลวัตของคริสตนชาวอิรัก พวกเราได้เห็นการท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญ การถูกข่มขู่ทำร้ายด้วยการใช้ความรุนแรงจากชาวมุสลิมกลุ่มหัวรุนแรง การอพยพ และการที่ต้องเป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อในบรรยากาศสิ่งแวดล้อมอันเลวร้าย สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นความท้าทายสำหรับคริสตชนทุกคนในภูมิภาคนี้ นี่ไม่ใช่ที่ประเทศเลบานอนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในประเทศซีเรีย และแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ด้วย หลายปีมาแล้วได้มีการประชุมซีน็อดในตะวันออกกลาง ขณะที่อาสนวิหารแห่งกรุงแบกแดดก็ถูกโจมตี  พระองค์คิดที่จะทำสิ่งใดบางอย่างสำหรับภูมิภาคตะวันออกกลางบ้างไหม เช่นการประชุมซีน็อดภูมิภาค หรือความคิดริเริ่มอะไรบางอย่าง?

Pope Francis ตอบ:

        พ่อไม่คิดว่าจะจัดเป็นสมัชชาซีน็อด… พ่อเปิดใจกว้างให้กับความคิดริเริ่มหลายอย่าง พ่อไม่ได้คิดที่จะจัดประชุมซีน็อด พวกเราได้หว่านเมล็ดพันธุ์พืชเมล็ดแรกไปแล้ว พวกเราจะเฝ้าดูว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น ชีวิตของคริสตชนกำลังเผชิญปัญหา แต่ก็ไม่ใช่เพียงแค่คริสตชนเท่านั้น พวกเราเพิ่งเอ่ยถึงชุมชนชาวยาซีดี (Yazidi) และกลุ่มศาสนิกของศาสนาอื่น ๆ ด้วยที่ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจของความชั่วร้าย….

        พ่อเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเหตุใดเรื่องนี้จึงทำให้พ่อเกิดมีพลัง ทว่าก็ยังมีปัญหาอย่างที่กล่าวไปแล้ว กล่าวคือ ปัญหาการอพยพ เมื่อวานนี้ขณะที่พ่อกำลังเดินทางจากเมืองการากอซ (Qaraqosh) สู่เมืองอัรบีล (Erbil) โดยทางรถยนต์ พ่อได้เห็นผู้คนมากมายที่มีอายุถัวเฉลี่ยต่ำ ส่วนใหญ่จะเป็นเยาวชน และมีบางคนถามพ่อว่า พวกเด็กหนุ่มเหล่านี้อนาคตของพวกเขาจะเป็นเช่นใด? พวกเขาจะไปที่ไหน? หลายคนคงจะต้องออกนอกประเทศ ก่อนที่พ่อออกเดินทางมาประเทศอีรักได้มีผู้อพยพชาวอิรัก 12 คนมาพบปะกับพ่อที่วาติกัน คนหนึ่งในพวกเขาใส่ขาเทียมเพราะเขาหนีด้วยการซ่อนตัวอยู่ใต้ท้องรถบรรทุก และได้รับอุบัติเหตุ ยังมีผู้คนจำนวนมากที่หลบหนี การอพยพเป็นสิทธิสองชั้น สิทธิที่จะไม่อพยพและสิทธิที่จะอพยพ คนเหล่านี้ไม่มีสิทธิทั้งสองอย่าง เพราะพวกเขาไม่สามารถอพยพและที่ไม่สามารถอพยพก็เพราะโลกยังไม่ยอมรับรู้ว่าการอพยพเป็นสิทธิของมนุษย์ เมื่อมีการพูดถึงด้านภูมิศาสตร์ของฤดูหนาวในประเทศอิตาลี นักสังคมศาสตร์ท่านหนึ่งกล่าวกับพ่อเมื่อวันก่อนว่า ในอีก 40 ปีพวกเราจะต้องสั่งคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานแล้วให้เสียภาษี เวลานี้พวกเราจะต้องจ่ายภาษีจากเงินบำเหน็จบำนาญของเรา ประเทศฝรั่งเศสดูจะฉลาดกว่าคนอื่นแล้วก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นประมาณ 10 ปี เพราะมีกฎหมายสนับสนุนครอบครัวที่เป็นผลดี

        การอพยพกลับถูกมองว่าเป็นการรุกราน เมื่อวานนี้หลังพิธีมิสซาพ่อต้องการที่จะพบกับบิดาของนายอลัน คูร์ดี (Alan Kurdi) เพราะเขาขอมา เด็กคนนี้คือสัญลักษณ์ เป็นสัญลักษณ์ที่มากไปกว่าความเป็นเด็กที่ต้องเสียชีวิตไปในการอพยพ เขาคือสัญลักษณ์ของความศิวิไลซ์ที่ตายไปไม่สามารถอยู่รอด เป็นสัญลักษณ์แห่งมนุษยชาติ จำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนที่ประชาชนไม่มีความจำเป็นที่ต้องอพยพและต้องมีมาตรการที่จะคุ้มครองสิทธิที่จะอพยพ เป็นความจริงว่าทุกประเทศต้องมีการศึกษาให้ดีถึงความสามารถที่จะให้การต้อนรับผู้อพยพ เพราะการอพยพไม่ใช่เป็นแค่เปิดประตูต้อนรับ แต่ยังหมายถึงการเฝ้าติดตาม การทำให้ผู้อพยพมีการพัฒนาและทำให้พวกเขาผนึกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วย การทำให้ผู้อพยพเข้ากับสังคมได้เป็นสิ่งที่ชัดเจน มีสองตัวอย่างด้วยกัน ขอให้พวกเราคิดถึงกรณีของประเทศเบลเยี่ยม ผู้ก่อการร้ายเป็นชาวเบลเยี่ยมที่เกิดในประเทศเบลเยี่ยมเพราะไม่ถูกผนึกเข้าไปในสังคม สำหรับอีกตัวอย่างหนึ่ง พ่อเดินทางไปยังประเทศสวีเดน ขณะที่พ่อกำลังเดินทางกลับ ได้พบกับรัฐมนตรีหญิงคนหนึ่ง เธอเป็นลูกสาวของผู้อพยพกับสตรีชาวสวีดิช แต่เธอมีคุณสมบัติพิเศษที่ไม่เหมือนชาวสวีดิชทั่วไป เธอเข้ากันได้ดีกับสังคมจนกระทั่งเธอกลายเป็นรัฐมนตรี ขอให้พวกเราลองนึกถึงสองเหตุการณ์นี้ดู

        พ่อยังต้องกล่าวคำขอบคุณประเทศที่มีใจกว้างต่างๆ ประเทศที่ให้การต้อนรับผู้อพยพ ประเทศเลบานอนเป็นประเทศที่ใจกว้างต่อผู้อพยพ ประเทศจอร์แดน… ไม่มีประเทศใดเทียบเท่าประเทศจอร์แดน กษัตริย์อับดุลลาห์ (Abdullah) เป็นบุคคลใจดีมีเมตตาจนกระทั่งมอบพื้นที่ให้อย่างเสรี ซึ่งพ่อเองต้องขอขอบคุณพระองค์ จอร์แดนใจดีมาก มีผู้อพยพมากกว่าหนึ่งล้านห้าแสนคน และอีกหลายประเทศก็เช่นเดียวกัน ขอบคุณประเทศเหล่านั้น ขอบคุณมาก

นักข่าวถาม:

        ภายในสามวัน ประเทศที่สำคัญในตะวันออกกลางได้ทำสิ่งที่ประเทศมหาอำนาจมีการอภิปรายกันมาเป็นเวลา 30 ปี พระองค์ได้ทรงอธิบายถึงต้นตอแห่งการเดินทางครั้งนี้ เหตุใดการเดินทางครั้งนี้จึงเกิดขึ้น แต่ในเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้เมื่อมองไปยังตะวันออกกลาง พระองค์ทรงดำริที่จะไปเยือนประเทศซีเรียบ้างไหม? จากนี้ไปอีกหนึ่งปีพระองค์มีเป้าหมายอะไรบ้างเกี่ยวกับประเทศอื่น ๆ ที่ได้ขอร้องให้พระองค์เสด็จไปเยือน?

        ประเทศเลบานอนเป็นเพียงสมมติฐานในตะวันออกกลาง และยังเป็นแค่คำสัญญา พ่อยังไม่คิดที่จะไปเยือนประเทศซีเรีย เพราะว่าพ่อยังไม่มีแรงบันดาลใจอย่างสมควร แต่หัวใจของพ่ออยู่ใกล้ชิดกับประชาชนของประเทศซีเรียอันเป็นดินแดนแห่งมรณะสักขีและที่ที่พ่อรัก  พ่อยังจำได้ดีถึงการอธิษฐานภาวนาในบ่ายวันนั้น ณ ลานมหาวิหารนักบุญเปโตร เมื่อเริ่มสมณสมัยของพ่อ พวกเราได้สวดสายประคำและการอวยพรศีลมหาสนิท ยังมีพี่น้องมุสลิมอีกหลายคนที่อยู่พร้อมกันบนผืนพรมได้มีการอธิษฐานเพื่อสันติภาพในประเทศซีเรีย เพื่อให้มีการยุติทิ้งระเบิดในขณะนั้น ซึ่งมีการกล่าวกันว่านั่นเป็นการทิ้งระเบิดที่ดุเดือดที่สุด ประเทศซีเรียอยู่ในหัวใจของพ่อเสมอ แต่ในขณะนี้พ่อยังไม่คิดที่จะเดินทางไปเยือนที่นั่น

คำถาม – ความรู้สึกที่เมืองการากอซ Qaraqosh ในการพบปะกับประชาชนและในการเข้าเฝ้า

        พ่อรู้สึกแตกต่างกันเมื่อพ่ออยู่ห่างไกลจากประชาชนเมื่อมีการเข้าเฝ้า พ่ออยากเริ่มให้มีการเข้าเฝ้าอีก หวังว่าในไม่ช้าสถานการณ์โรคระบาดจะเปลี่ยนไป ในช่วงนี้พ่อต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่พวกเขาต้องรับผิดชอบและพวกเขาจำเป็นต้องทำตามหน้าที่

        บัดนี้พ่อเริ่มให้มีการเข้าเฝ้าแบบทั่วไป ณ ลานมหาวิหารอีกครั้งหนึ่งในเวลาสวดทูตสวรรค์แจ้งข่าว (Angelus) พวกเราสามารถทำได้หากมีการรักษาระยะห่าง มีการเสนอให้ผู้เข้าเฝ้ามีจำนวนไม่มาก แต่พ่อยังไม่ได้ตัดสินใจจนกว่าพวกเราจะเห็นการพัฒนาของเหตุการณ์ให้ชัดเจนเสียก่อน หลังจากที่ถูกขังตัวเป็นเวลาหลายเดือน เพราะพ่อรู้สึกว่าเหมือนถูกขังคุก การเริ่มใหม่นี้เป็นเหมือนกับการมีชีวิตขึ้นมาใหม่ เพราะว่าประชากรของพระเจ้าจะได้สัมผัสกับบรรยากาศพระศาสนจักรอีกครั้งหนึ่ง

        เนื่องจากศาสนบริกรบาดหลวงได้รับศีลบวชเป็นบาดหลวงก็เพื่อที่จะบริการรับใช้ประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า ท่านเหล่านั้นจึงต้องรับใช้ประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า ไม่ใช่เป็นอาชีพ ไม่ใช่เพื่อเงินทอง ไม่ใช่เพื่อเกียรติหรือเพือตำแหน่งให้ผู้คนเคารพยกย่อง …

        บทอ่านในพิธีมิสซาเมื่อเช้านี้ (พกษฉบัยที่ 2) เพื่อเยียวยานาอามาน (Naaman) แม่ทัพชาวซีเรียน มีการพูดกันว่านาอามาน (Naaman) ต้องการมอบของขวัญหลังจากที่เขาหายป่วย… ทว่าประกาศกเอลิชาห์ปฏิเสธ แต่พระคัมภีร์ยังกล่าวต่อไป หลังจากที่ นาอามาน (Naaman) หายป่วยจากโรคเรื้อนแล้วกลับไป คนรับใช้วิ่งตามหาของขวัญ แต่พระเจ้าตรัสกับเขาว่า โรคเรื้อนของนาอามาน (Naaman) บัดนี้ติดเชื้อกับท่านแล้ว

        พ่อเกรงว่าพวกเราที่เป็นคนของพระศาสนจักรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเราที่เป็นศาสนบริกรบาดหลวงยังไม่มีความใกล้ชิดอย่างเสรีกับประชากรของพระเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยให้พวกเรารอด พวกเรากระทำเฉกเช่นคนรับใช้ของนายพลนาอามาน (Naaman) เพราะพวกเราช่วยเหลือผู้อื่น แต่พวกเราต่างก็แสวงหาสิ่งตอบแทน

        พ่อกลัวโรคเรื้อนประเภทนั้นจริง ๆ และสิ่งเดียวที่จะช่วยให้พวกเราพ้นจากโรคร้ายนั้น  ไม่ใช่ความโลภ และความเย่อหยิ่ง… แต่ต้องเป็นประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า

        นี่เป็นสิ่งที่พระเจ้าตรัสกับดาวิด พวกเรานำท่านมาจากฝูงแกะ จงอย่าได้ลืมฝูงแกะนั้น และสิ่งที่เปาโลพูดกับทิโมธีคือ จงจำคุณแม่และคุณยายของท่านที่หล่อเลี้ยงท่านมาในความเชื่อ กล่าวคือ จงอย่าสูญเสียความสัมพันธ์ของท่านกับประชากรของพระเจ้าเพื่อที่จะเป็นผู้ที่มีอภิสิทธิ์ในชนชั้นของผู้ที่ถวายตัว เป็นสมณะ ผู้ได้รับศีลบวชและได้รับการเจิมด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ท่านจะเป็นอะไรก็สุดแล้วแต่ ขอจงอย่าได้ทำเช่นนั้นเป็นอันขาดคือเรียกร้องค่าตอบแทน

        เพราะฉะนั้นการมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนจะช่วยพวกเรา พวกเราแจกศีลมหาสนิทให้กับประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของพวกเรา  แต่พวกเขามอบให้พวกเราซึ่งความเป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกัน ขอจงอย่าได้ลืมความสัมพันธ์กับประชากรของพระเจ้า

        แล้วก็คำถามที่ว่า พ่อพบกับสิ่งใดบ้างที่เมืองการากอซ (Qaraqosh)?  พ่ออยากจะเริ่มต้น… แต่…พ่อไม่อาจคาดคะเนได้กับซากสลักหักพังที่เมืองโมซูล (Mosul) และที่ เมืองการากอซ (Qaraqosh) พ่อคิดไม่ถึง พ่อได้เห็นของจริง หนังสือก็มีให้อ่าน แต่นี่สภาพจริงกินใจพ่อเหลือเกิน

        แต่สิ่งที่โดนใจพ่อมากที่สุดก็คือประจักษ์พยานของคุณแม่คนหนึ่งที่เมืองการากอซ (Qaraqosh) และบาดหลวงที่เป็นประจักษ์พยานอีกองค์หนึ่ง ซึ่งเข้าใจความยากจนเป็นอย่างดี การรู้จักบริการรับใช้ผู้อื่น และตั้งใจใช้โทษบาป พร้อมกับสตรีอีกผู้หนึ่งที่สูญเสียบุตรชายไปในการทิ้งระเบิดรอบแรกที่เมืองดาแอส (Daesh)… เธอพูดเพียงคำเดียว ให้อภัย ให้อภัย พ่อฟังแล้วรู้สึกสะเทือนใจมาก มารดาที่กล่าวว่า “ดิฉันให้อภัย ดิฉันขออภัยให้กับพวกเขา” แล้วก็ทำให้พ่อนึกถึงการเยือนของพ่อที่ประเทศโคลัมเบีย ในการพบปะกันที่เมืองวิลลาวีเชนชีโอ (Villavicencio) ที่ซึ่งผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะสตรีทั้งที่เป็นภรรยาและเป็นคุณแม่ พวกเขาคุยกันถึงการฆาตกรรมบุตรและสามีของพวกเขา… พวกเราสามารถด่าทอและประณามได้ทุกอย่าง ซึ่งพ่อคงจะเป็นคนแรก พวกเราทุกคนทราบเรื่องนี้ดี แต่สำหรับการให้อภัย… นี่คือพระวรสารที่บริสุทธิ์คริง ๆ  นี่คือสิ่งที่ประทับใจพ่อมากที่สุดในการเยือนเมืองการากอซ (Qaraqosh)

        (นี่เป็นเวลาเกือบชั่วโมงแล้ว พ่อจะตอบต่อไป… คำตอบสุดท้าย – คำตอบสุดท้ายก่อนที่จะฉลองวันเกิดกัน)

นักข่าวมาร์ชีอาโน (Marciano) สำนักข่าว AFP ถาม

        กระผมใคร่ที่จะทราบว่า พระองค์รู้สึกอย่างไรเมื่อทอดพระเนตรจากเฮลีคอปเตอร์ที่ได้เห็นเมืองโมซุลถูกทำลาย และหลังจากนั้นก็ไปอธิษฐานภาวนาในวัด ที่ปรักหักพังแห่งหนึ่ง ไม่ทราบว่ากระผมจะถามดีหรือไม่เกี่ยวกับสตรีที่เมืองการากอซ (Qaraqosh) ซึ่งพระองค์ชมเชยด้วยคำพูดที่อ่อนหวาน พระองค์คิดอย่างไรถึงคำสาบานที่สตรีมุสลิมครหนึ่ง ซึ่งมีความรักและไม่สามารถแต่งงานกับคริสตชน โดยที่เขาไม่ต้องถูกตัดออกจากครอบครัวหรืออะไรที่เลวร้ายกว่านั้น?

พระสันตะปาปา ตอบ

        ณ เมืองโมซุล พ่อขอบรรยายในทำนองสิ่งที่พ่อรู้สึก พ่อหยุดที่หน้าวัดซึ่งถูกทำลาย พ่อทึ่งไม่มีคำพูด พ่อไม่รู้จะพูดอะไร เพราะเหลือเชื่อจริงๆ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ

        ไม่เพียงแค่วัดนี้เท่านั้นแต่วัดอื่นๆ ด้วยรวมทั้งสุเหร่าก็ถูกทำลายอย่างยับเยิน แน่นอนพวกเราเห็นได้ว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนี้ พวกเราไม่อาจคาดคะเนได้ถึงความเหี้ยมโหดของมนุษย์

        ขณะนั้นพ่อไม่อยากบอกว่าให้มีการเริ่มต้นกันใหม่ แต่ขอให้พวกเราหันไปดูที่ทวีปแอฟริกา ซึ่งที่โมซุลนี้วัดถูกทำลาย มีความเป็นอริต่อกัน มีสงคราม แล้วก็เกิดรัฐอิสลามขึ้นมา นี่เป็นเรื่องที่น่าเกลียดน่ากลัวมาก และก่อนที่จะมีคำถามอื่น ๆ คำถามสำหรับพ่อในพระศาสนจักรคือ ใครกันเล่าที่ขายอาวุธให้กับนักทำลายเหล่านี้? ทำไมเขาไม่สร้างอาวุธแล้วเก็บไว้ที่บ้าน แต่ว่าใครเล่าที่เป็นคนขายอาวุธ ใครเป็นคนรับผิดชอบ?  อย่างน้อยพ่อก็ถามไปยังผู้ที่มีอาวุธและผู้ที่ขายอาวุธ ซึ่งควรที่จะพูดว่า พวกเรานี่แหละที่เป็นคนขายอาวุธ แต่พวกเขาไม่ยอมพูด ซึ่งเป็นพฤติกรรมอันน่าทุเรศมาก

        แล้วบรรดาสตรีล่ะ… พวกเขากล้าหาญมากกว่าผู้ชาย นี่เป็นความจริง แต่ทุกวันนี้ศักดิ์ศรีของบรรดาสตรีก็ยังถูกย่ำยีอย่างสุดๆ พ่อไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่มีคนหนึ่งในพวกท่านแสดงให้พ่อเห็นราคาของสตรี… พ่อไม่อาจเชื่อว่าอายุของคนนั้นมีราคาสูงมาก คือสตรีถูกจับมาขาย ถูกจับมาเป็นทาส… แม้กระทั่งในใจกลางกรุงโรม ยังมีความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์กันทุกวัน

        ในปีปิติมหาการุณย์พ่อได้ไปเยี่ยมบ้านของคุณพ่อเบนซี่ (Don Benzi) ที่นั่นมีเด็กสาวคนหนึ่งที่ใบหูข้างหนึ่งถูกตัดออกไป เพราะนำเงินไม่พอมาจ่ายค่าไถ่ตัว เธอถูกลักพาตัวมาในท้ายรถ เธอถูกลักพาตัวมาเป็นทาส นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในพวกเราที่มีการศึกษา แต่เป็นนักค้ามนุษย์…

        ในประเทศเหล่านี้บางภูมิภาคโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกายังมีการตัดอวัยวะกันอยู่ การตัดอวัยวะเป็นจารีตพิธีที่ต้องกระทำกัน แต่บรรดาสตรียังคงเป็นทาสอยู่ ซึ่งพวกเราต้องช่วยกันต่อสู้กับเรื่องนี้ พวกเราต้องต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของบรรดาสตรี พวกเขาเป็นผู้ที่ทำให้ประวัติศาสตร์เดินหน้าต่อไป นี่มิใช่เป็นการพูดเกินความจริง บรรดาสตรีเป็นผู้ที่ทำให้ประวัติศาสตร์เดินหน้าต่อไป และนี่ไม่ใช่เป็นการยกยอปอปั้นบรรดาสตรีเพราะวันนี้เป็นวันสตรีสากล แต่นี่คือความจริง  การทำให้พวกเขาเป็นทาสเป็นการปฏิเสธคุณค่าของบรรดาสตรี ได้มีการประชุมอภิปรายกันว่าสิทธิของสตรีต้องมีการเขียนบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร หรือจะเป็นเพียงแค่การพูดกันปากเปล่า สตรีไม่มีสิทธิแม้แต่ที่จะขอหย่าร้าง… นี่ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจนทุกวันนี้ ไม่ต้องดูอื่นไกลดูเพียงแค่ที่ศูนย์กลางแห่งกรุงโรมนี่แหละ

ผู้อำนวยการสำนักข่าวแห่งสันตะสำนัก นายบรูนี่ (BRUNI)

ขอบคุณครับ บิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทสัมภาษณ์พระสันตะปาปาบนเครื่องบินพระที่นั่งมาแบ่งปันและไตร่ตรอง)