วันอังคาร, 12 พฤศจิกายน 2567
  

สารของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ในวโรกาสรำลึกถึงวันคนยากจนโลก ครั้งที่ 7

สาของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ในวโรกาสรำลึกถึงวันคนยากจนโลก ครั้งที่ 7

19 พฤศจิกายน 2023 อาทิตย์ที่สามสิบสาม เทศกาลธรรมดา

“อย่าเบือนหน้าจากคนยากจน” (ทบต. 4:7)

1. วันคนยากจนโลกครั้งที่ 7 ประจำปีนี้ส่งสัญญาณของผลดีที่เกิดขึ้นในความเมตตาของพระบิดาเจ้าและเสริมหนุนชีวิตของชุมชนของเรา อย่างที่เห็นได้ว่าการเฉลิมฉลองของวันนี้หยั่งรากลงลึกมากขึ้นในชีวิตอภิบาลของพระศาสนจักร
การเฉลิมฉลองดังกล่าวช่วยให้เราค้นพบหัวใจของพระวาจาที่ยังคงใหม่และเป็นปัจจุบันเสมอ ทว่าความพยายามแต่ละวันของเราในการต้อนรับคนยากจนยังไม่เพียงพอ สายน้ำแห่งความยากจนอันยิ่งใหญ่กำลังไหลผ่านบ้านเมืองของเราและดูเหมือนว่าจะท่วมท้นล้นหลาม ดังเช่นพี่น้องของเราที่ต่างร้องขอความช่วยเหลือ การเกื้อหนุนและความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความต้องการที่ยิ่งวันยิ่งมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ในวันอาทิตย์ก่อนวันสมโภชพระเยซูเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล เราจึงรวมตัวกันรอบพระแท่นของพระองค์เพื่อรับของประทานและพละกำลังจากพระองค์อีกครั้งเพื่อดำเนินชีวิตแห่งความยากจนและรับใช้คนยากจน

            “อย่าเบือนหน้าจากคนยากจน” (ทบต. 4:7) ถ้อยคำเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจแก่นแท้ของการเป็นประจักษ์พยานของเรา เมื่อไตร่ตรองถึงหนังสือโทบิต ซึ่งเป็นข้อความในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่เป็นหนังสือที่มีเสน่ห์และเปี่ยมไปด้วยสติปัญญา เราก็สามารถชื่นชมและเข้าใจถึงสิ่งที่ผู้บันทึกเรื่องราวในพระคัมภีร์ที่ต้องการสื่อสาร ทำให้เราพบว่าตัวเองอยู่เบื้องหน้าฉากของชีวิตครอบครัวหนึ่ง บิดาที่ชื่อโทบิต กอดโทบียาห์บุตรชายของเขา ซึ่งกำลังจะออกไปในการเดินทางอันยาวนาน โทบิตผู้สูงวัยกลัวว่าเขาจะไม่ได้เจอลูกชายอีกเลย จึงฝากฝัง “พันธสัญญาทางวิญญาณ” ไว้ให้เขา โทบิตถูกส่งตัวไปยังเมืองนีนะเวห์และตอนนี้ตาบอด ทำให้มีสถานะความยากจนเป็นสองเท่า ในเวลาเดียวกันเขายังคงมั่นใจในสิ่งหนึ่งเสมอ ซึ่งแสดงออกมาในชื่อของเขา “พระเจ้าทรงเป็นความดีของข้าพเจ้า” ในฐานะชายผู้เกรงกลัวพระเจ้าและเป็นบิดาที่ดี เขาต้องการส่งมอบให้บุตรชายไม่เพียงแค่ความมั่งคั่งทางวัตถุเท่านั้น แต่หากเป็นประจักษ์พยานถึงวิถีทางที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต ดังนั้นเขาจึงบอกบุตรชายของเขาว่า: “ลูกเอ๋ย จงระลึกถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกวันตลอดชีวิตของลูก อย่าจงใจทำบาปหรือละเมิดบทบัญญัติของพระองค์เลย จงทำความดีทุกวันตลอดชีวิต อย่าดำเนินตามหนทางที่ไม่ถูกต้อง” (ทบต. 4:5)

2. เราเห็นได้ทันทีว่าสิ่งที่ผู้เฒ่าโทบิตขอร้องบุตรชายของเขา ไม่ใช่แค่คิดถึงพระเจ้าและอธิษฐานวิงวอนเท่านั้น เขาพูดถึงการแสดงท่าทีอย่างเป็นรูปธรรม การทำงานที่สุจริตและความยุติธรรม ผู้เฒ่ากล่าวต่อไปอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นว่า “จงแบ่งทรัพย์สมบัติของลูกส่วนหนึ่งไว้ทำทาน อย่าเสียดายสิ่งที่ลูกให้เป็นทาน” (ทบต. 4:7)

            คำพูดของชายชราผู้ปราดเปรื่องคนนี้ทำให้เราคิดและระลึกได้ว่าโทบิตสูญเสียการมองเห็นหลังจากได้ทำงานแห่งความเมตตา ดังที่ตัวเขาเองบอกเราตั้งแต่เยาว์วัยว่าเขาได้อุทิศชีวิตให้กับงานกิจเมตตา: “ข้าพเจ้าให้ทานมากมายแก่พี่น้องและเพื่อนร่วมชาติที่ถูกเนรเทศพร้อมกับข้าพเจ้าไปยังนครนีนะเวห์ ในแผ่นดินอัสซีเรีย… ข้าพเจ้าให้ขนมปังแก่ผู้หิวโหยและให้เสื้อผ้าแก่ผู้ที่ไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่ ถ้าข้าพเจ้าเห็นศพของเพื่อนร่วมชาติที่ถูกฆ่าและถูกโยนทิ้งไว้นอกกำแพงเมืองนีนะเวห์ ข้าพเจ้าก็นำไปฝัง” (ทบต. 1:3.17)

            สำหรับการบำเพ็ญกุศลด้วยกิจเมตตาดังกล่าวนี้ กษัตริย์ได้ทรงริบทรัพย์สินของเขาจนหมดสิ้นกลายเป็นคนยากไร้สิ้นเนื้อประดาตัว ถึงกระนั้นพระเจ้าก็ยังทรงต้องการโทบิต เมื่อได้ตำแหน่งข้าราชการกลับคืนมาแล้ว เขาก็ดำเนินตามอย่างที่เคยทำมาอย่างกล้าหาญต่อไป ให้เราฟังเรื่องราวของเขาซึ่งสามารถใช้กล่าวกับเราในวันนี้ได้เช่นกัน “ในวันฉลองเปนเตกอสเตหรือวันฉลองสัปดาห์ เขาเตรียมอาหารอย่างดีไว้ให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็มานั่งที่โต๊ะ ซึ่งมีอาหารหลายอย่าง ข้าพเจ้าพูดกับโทบียาห์บุตรของข้าพเจ้าว่า ‘ลูกเอ๋ย จงออกไปเถิด ถ้าพบคนยากจนที่ระลึกถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าสุดจิตใจในหมู่พี่น้องของเราที่ถูกเนรเทศมายังกรุงนีนะเวห์ด้วยกัน ก็จงนำเขามาร่วมโต๊ะกินอาหารกับเรา พ่อจะรอจนกว่าลูกจะกลับมา’” (ทบต. 2:1-2) จะมีความหมายสักเพียงไรหากในวันคนยากจน ให้ความห่วงใยของโทบิตนี้เป็นของเราเองด้วย! ถ้าเราเชิญใครสักคนมาร่วมรับประทานอาหารเย็นวันอาทิตย์หลังจากร่วมพิธีมิสซาเดียวกันแล้ว ศีลมหาสนิทที่เราเฉลิมฉลองจะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง หากเป็นเรื่องจริงที่เมื่อเราอยู่รอบพระแท่นบูชาของพระเจ้า เราจะตระหนักว่าเราทุกคนเป็นพี่น้องกัน ความเป็นพี่น้องกันของเราจะมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นสักเพียงใด ถ้าเราแบ่งปันอาหารตามเทศกาลกับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ!

            โทบียาห์ทำตามที่บิดาบอก แต่เขากลับมาพร้อมกับข่าวว่ามีชายยากจนคนหนึ่งถูกฆาตกรรมและถูกโยนทิ้งในตลาด โทบิตผู้เฒ่าลุกขึ้นจากโต๊ะไปฝังชายคนนั้นโดยไม่ลังเลใจ เมื่อกลับบ้านด้วยความเหนื่อยล้าเขาก็ผลอยหลับไปที่บริเวณลานบ้าน มีมูลนกตกที่ตาของเขา ทำให้เขาตาบอด (เทียบ 2:1-10) โชคชะตาประชด …ทำดีกลับไม่ได้ดี! นั่นคือสิ่งที่เราถูกล่อลวงให้คิด แต่ความศรัทธากลับสอนให้เราเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น การที่โทบิตตาบอดกลายเป็นจุดแข็งของเขา ทำให้เขาสามารถรับรู้ถึงความยากจนหลายรูปแบบที่อยู่รอบตัวเขาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อถึงเวลาที่กำหนด พระเจ้าจะทรงให้เขากลับมองเห็นและมีความยินดีที่ได้เห็นโทบียาห์บุตรชายของเขาอีกครั้งด้วย เมื่อวันนั้นมาถึง เรารู้ว่า “โทบิตเข้าสวมกอดบุตรชายและร้องไห้ พูดว่า ‘ลูกเอ๋ย ลูกเป็นแสงสว่างของดวงตาของพ่อ พ่อมองเห็นลูกแล้ว’ แล้วเขาพูดต่อไปว่า ‘ขอถวายพระพรแด่พระเจ้า ขอถวายพระพรแด่พระนามยิ่งใหญ่ของพระองค์ ขอถวายพระพรแด่ทูตสวรรค์ศักดิ์สิทธิ์ทุกองค์ของพระองค์ ขอพระนามยิ่งใหญ่ของพระองค์พิทักษ์รักษาเราไว้ตลอดกาล ขอถวายพระพรแด่ทูตสวรรค์ทุกองค์ของพระองค์ตลอดไป เพราะแม้พระองค์ทรงทำให้ข้าพเจ้าต้องเจ็บป่วย แต่แล้วก็ทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้า บัดนี้ ข้าพเจ้าแลเห็นโทบียาห์บุตรของข้าพเจ้าแล้ว’” (ทบต. 11:13-14)

3. เราอาจถามได้ว่าโทบิตค้นพบความกล้าหาญและความแข็งแกร่งภายในจากที่ไหนที่ทำให้เขาสามารถรับใช้พระเจ้าท่ามกลางคนนอกศาสนาได้ และทั้งยังรักเพื่อนบ้านมากจนเขาเสี่ยงชีวิตของตนเอง เรื่องของโทบิตเป็นเรื่องราวที่น่าทึ่ง เขาคือสามีที่ซื่อสัตย์และเป็นบิดาที่เอาใจใส่ เขาถูกเนรเทศไปไกลจากดินแดนบ้านเกิดของเขา ซึ่งเขาทนทุกข์ทรมานอย่างไม่ยุติธรรม ถูกกษัตริย์และเพื่อนบ้านข่มเหง แม้ว่าเขาจะเป็นคนดี แต่เขาก็ยังถูกทดสอบ ดังที่พระคัมภีร์มักสอนเราว่าพระเจ้าไม่ทรงละเว้นการทดลองกับคนชอบธรรม ทำไมน่ะหรือ มันเกิดขึ้นไม่ใช่เพื่อทำให้เราอับอาย แต่เพื่อเสริมสร้างความศรัทธาของเราในพระองค์

            ในช่วงเวลาแห่งการทดลองของเขา โทบิตค้นพบความยากจนของตนเอง ซึ่งทำให้เขาสามารถจดจำผู้อื่นที่ยากจนได้ เขาซื่อสัตย์ต่อกฎและรักษาพระบัญญัติของพระเจ้า แต่นี่ยังไม่เพียงพอสำหรับเขา เขาสามารถแสดงความห่วงใยในทางปฏิบัติต่อคนยากจนได้เพราะเขาเองรู้อย่างถ่องแท้ว่าความยากจนคืออะไร คำแนะนำของเขาที่มีต่อโทบียาห์จึงกลายเป็นข้อพิสูจน์ที่แท้จริงของเขา: “อย่าเบือนหน้าจากคนยากจน” (ทบต. 4:7)  กล่าวอีกนัยหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่เราเผชิญหน้ากับคนยากจน เราไม่สามารถละสายตาออกไปได้ เพราะนั่นจะทำให้เราไม่สามารถเผชิญหน้าของพระเยซูเจ้าได้ ให้เราพิจารณาคำพูดของเขาที่กล่าวว่า “จากคนยากจน” อย่างรอบคอบ ทุกคนคือเพื่อนบ้านของเรา
ไม่ว่าพวกเขาจะมีสีผิวอะไร สถานะทางสังคมของพวกเขาและสถานที่ที่พวกเขามาจะเป็นเช่นไร หากตัวพ่อเองยากจน พ่อจะสามารถรับรู้ได้ว่าพี่น้องของพ่อกำลังต้องการความช่วยเหลืออะไรจากพ่อ เราถูกเรียกให้ยอมรับคนยากจนทุกคนและความยากจนทุกรูปแบบ ให้ละทิ้งความเฉยเมยและข้อแก้ตัวซ้ำซากที่เราพร่ำเพื่อปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของเราอันเป็นเพียงภาพลวงตา

4. เรากำลังอยู่ในยุคที่ไม่อ่อนไหวต่อความต้องการของคนยากจนเป็นพิเศษ ความกดดันในการดำเนินชีวิตที่เน้นความร่ำรวยทางเศรษฐกิจมีเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เสียงของผู้อยู่อาศัยในความยากจนมักจะไม่ค่อยได้ยิน เรามีแนวโน้มที่จะละเลยสิ่งใดก็ตามที่แตกต่างจากรูปแบบชีวิตที่กำหนดไว้ก่อนคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผู้ที่อ่อนแอที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราไม่ปรารถนาต่อสิ่งที่เราไม่พึงประสงค์หรือสิ่งทำให้เกิดความทุกข์ และยกย่องคุณสมบัติภายนอกราวกับว่าเป็นเป้าหมายหลักในชีวิต โลกเสมือนจริงกำลังแซงหน้าโลกแห่งชีวิตจริง และโลกทั้งสองก็ผสานรวมเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้นเรื่อยๆ ชีวิตคนยากจนกลายเป็นคลิปหนังสั้นที่กระทบใจเราได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับคนที่มีเลือดเนื้อบนท้องถนน เราก็รู้สึกรำคาญและเบือนหน้าไปทางอื่น ความเร่งรีบซึ่งเป็นเพื่อนร่วมทางในชีวิตประจำวันของเรา ขัดขวางไม่ให้เราหยุดเพื่อช่วยดูแลผู้อื่น คำอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี (เทียบ ลูกา 10:25-37) ไม่ใช่แค่เรื่องราวจากอดีตเท่านั้น มันยังคงท้าทายเราแต่ละคนในชีวิตประจำวันของเราในทุกๆ วัน เป็นเรื่องง่ายที่จะมอบหมายงานกิจเมตตาให้กับผู้อื่น แต่พระองค์ทรงเรียกเรา คริสตชนทุกคน…ให้แต่ละคนมีส่วนร่วม

5. เราขอขอบพระคุณองค์พระผู้เป็นเจ้า ที่ชายและหญิงจำนวนมากทุ่มเทให้กับการดูแลคนยากจนและผู้ที่ถูกกีดกันทางสังคม พวกเขาเป็นคนจากทุกวัยและทุกสถานะทางสังคม เป็นผู้ที่แสดงความเข้าใจและพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน พวกเขาไม่ใช่ฮีโร่ แต่เป็น “เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง” เป็นคนธรรมดาที่ทำให้ตัวเองยากจนท่ามกลางคนยากจนอย่างเงียบๆ พวกเขาทำมากกว่าการให้ทาน พวกเขาฟัง มีส่วนร่วม พวกเขาพยายามทำความเข้าใจและจัดการกับสถานการณ์ที่ยากลำบากและต้นเหตุของสถานการณ์เหล่านั้น พวกเขาไม่เพียงพิจารณาความต้องการด้านวัตถุเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงความต้องการทางวิญญาณด้วย และทำงานเพื่อส่งเสริมปัจเจกบุคคลอย่างบูรณาการ อาณาจักรของพระเจ้าปรากฏขึ้นและเห็นได้ในการรับใช้อย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยปราศจากความเห็นแก่ตัว เหมือนเมล็ดพืชที่ตกบนดินดี ก็หยั่งรากในชีวิตและเกิดผลมากมาย (เทียบ ลูกา 8:4-15) ความสำนึกคุณของเราต่ออาสาสมัครจำนวนมากมายเหล่านี้จำเป็นต้องแสวงหาการแสดงออกในการภาวนาอ้อนวอนให้การเป็นประจักษ์พยานของพวกเขาจะเกิดผลมากขึ้น

6. ในวาระครบรอบหกสิบปีของพระสมณสาส์นสันติสุขบนแผ่นดิน (Pacem in Terris) เป็นโอกาสดีที่เราจะระลึกถึงพระดำรัสของนักบุญยอห์นที่ 23 พระสันตะปาปา ที่กล่าวไว้ว่า “มนุษย์ทุกคนย่อมเพลิดเพลินกับสิทธิในการมีชีวิต ความสมบูรณ์ทางร่างกาย และวิถีทางที่จำเป็นในการดำรงชีวิต การพัฒนาชีวิตอย่างเหมาะสม ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัย การรักษาพยาบาล การพักผ่อน และสุดท้ายคือบริการสังคมที่จำเป็น ด้วยเหตุนี้ ทุกคนจึงมีสิทธิได้รับการดูแลในกรณีที่สุขภาพไม่ดี ความพิการอันเนื่องมาจากการทำงาน การเป็นม่ายและการว่างงานที่ถูกบังคับ เช่นเดียวกับในกรณีอื่น ๆ ที่เขาหรือเธอขาดปัจจัยยังชีพโดยไม่ใช่ความผิดของเขาเอง” (ed. Carlen ฉบับที่ 11)

            เรายังต้องลงมือลงแรงอีกมากสักเพียงใดเพื่อให้เรื่องนี้กลายเป็นความจริง อย่างน้อยต้องอาศัยความมุ่งมั่นที่จริงจังและมีประสิทธิภาพ ด้วยความรับผิดชอบของผู้นำทางการเมืองและสมาชิกสภานิติบัญญัติ ขอให้จิตวิญญาณของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความเอื้ออาทรยังคงเติบโตต่อไปในหมู่พลเมืองที่เชื่อในคุณค่าของความมุ่งมั่นโดยสมัครใจที่จะรับใช้คนยากจน ช่วยทลายข้อจำกัดทั้งหมดและความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นในวงการเมืองที่จะวินิจฉัยและรับใช้เพื่อความดีส่วนรวม แน่นอนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นและผลักดันหน่วยงานของรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสม แต่ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะเฝ้าคอยอย่างอดทนเพื่อรอรับทุกสิ่ง “จากเบื้องบน” ผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่ในความยากจนจะต้องมีส่วนร่วมและเข้าร่วมเคียงข้างในกระบวนการเปลี่ยนแปลงและร่วมในความรับผิดชอบด้วย

7. นอกจากนี้ เราต้องยอมรับรูปแบบใหม่ๆ ของความยากจนอีกครั้ง เช่นเดียวกับที่อธิบายไว้ข้างต้น พ่อคิดถึงผู้คนที่ติดอยู่ในสถานการณ์สงครามเป็นพิเศษ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ ที่ถูกลิดรอนจากปัจจุบันอันสงบสุขและอนาคตอันสง่างาม เราไม่ควรคุ้นชินกับสถานการณ์เช่นนั้น ขอให้เราพากเพียรทุกวิถีทางเพื่อส่งเสริมสันติสุขอันเป็นของประทานจากองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฟื้นคืนพระชนม์และผลของคำมั่นสัญญาต่อความยุติธรรมและการเสวนา

            และเราไม่สามารถเพิกเฉยต่อรูปแบบการแสวงหากำไรในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การขึ้นราคาอย่างมากมายซึ่งทำให้หลายครอบครัวยากจนลงอีก รายได้ถูกใช้จ่ายไปอย่างรวดเร็ว เป็นดังการบังคับให้เสียสละซึ่งกระทบต่อศักดิ์ศรีของทุกคน หากครอบครัวต้องเลือกระหว่างอาหารสำหรับการดำรงชีวิตกับการรักษาพยาบาล เราต้องให้ความสนใจกับเสียงของผู้ที่ส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงสินค้าทั้งสองบนฐานของศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

            นอกจากนั้น เราจะละเลยที่จะสังเกตเห็นความสับสนทางจริยธรรมที่มีอยู่ในโลกของบรรดาแรงงานได้อย่างไร? การปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมเกิดขึ้นกับคนงานชายและหญิงจำนวนมาก ค่าจ้างไม่เพียงพอเหมาะสมกับงานที่ทำ; การระบาดของความไม่มั่นคงในการทำงาน จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่มากเกินไป มักเป็นผลจากความคิดที่เลือกเอาผลกำไรอย่างรวดเร็วเหนือความปลอดภัยของสถานที่ทำงาน… เราได้รับคำยืนยันย้ำเตือนของนักบุญยอห์น ปอลที่ 2 ว่า “พื้นฐานหลักของคุณค่าของงานคือตัวมนุษย์เอง… จริงอยู่อาจเป็นได้ว่ามนุษย์ถูกกำหนดไว้สำหรับการทำงานและถูกเรียกให้ทำงาน อย่างไรก็ตาม ประการแรก งานมีไว้ ‘เพื่อมนุษย์’ และไม่ใช่มีมนุษย์ไว้ ‘เพื่องาน’” (พระสมณสาส์นว่าด้วยการทำงาน – Laborem Exercens, ข้อ 6)

8. ประเด็นเหล่านี้น่าหนักใจอย่างยิ่ง มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่อธิบายถึงสถานการณ์ความยากจนซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเรา พ่อจำเป็นที่จะต้องพูดถึงรูปแบบความยากจนที่ส่งผลกระทบต่อคนหนุ่มสาวมากขึ้นเรื่อยๆ ความคับข้องใจและจำนวนการฆ่าตัวตายที่เกิดจากภาพลวงตาที่สร้างขึ้นโดยวัฒนธรรมที่ทำให้คนหนุ่มสาวคิดว่าพวกเขาเป็น “พวกขี้แพ้” “ไม่มีอะไรดีเลย” ให้เราช่วยพวกเขารับมือต่ออิทธิพลชั่วร้ายเหล่านี้ และค้นหาวิธีที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตเป็นชายและหญิงที่มั่นใจในตนเองและมีความใจกว้าง

            เมื่อพูดถึงคนยากจน เป็นเรื่องง่ายที่เราอาจตกอยู่ในวาทกรรมที่วนเวียนมากจนเกินไป นอกจากนั้นยังเป็นการล่อลวงที่เลวร้ายที่ให้เราคิดถึงคนยากจนเป็นเพียงแค่เรื่องสถิติ…แค่ตัวเลขอีกด้วย คนยากจนคือบุคคล พวกเขามีใบหน้า เรื่องราว หัวใจ และจิตวิญญาณ พวกเขาเป็นพี่น้องของเราที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นเดียวกับเราทุกคน และสิ่งสำคัญคือต้องมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพวกเขาแต่ละคน

            หนังสือโทบิตสอนให้เรามองความเป็นจริงและนำไปปฏิบัติได้จริงในทุกสิ่งที่เราทำเพื่อคนยากจน นี่เป็นเรื่องของความยุติธรรม มันทำให้เราต้องมองและแสวงหากันและกัน เพื่อสร้างความสามัคคีกลมเกลียวที่จำเป็นสำหรับชุมชนที่จะรู้สึกเช่นนั้น การดูแลคนยากจนเป็นมากกว่าแค่การแจกจ่ายอย่างเร่งรีบ สิ่งนี้เรียกร้องให้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ที่ยุติธรรมระหว่างบุคคลซึ่งได้ถูกทำลายลงไปเพราะความยากจนให้เกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง ด้วยวิธีนี้ “การไม่หันหน้าหนีจากใครก็ตามที่ยากจน” ทำให้เราได้รับประโยชน์จากความเมตตาและจิตกุศลที่ให้ความหมายและคุณค่าแก่ชีวิตของพวกเราคริสตชนทั้งมวล

9. ขอให้ความห่วงใยของเราต่อคนยากจนเป็นเครื่องหมายของความเป็นจริงของพระวาจาเสมอ การแบ่งปันของเราควรสนองความต้องการที่เป็นรูปธรรมของอีกฝ่าย แทนที่จะเป็นเพียงวิธีกำจัดของฟุ่มเฟือยออกไป ในที่นี้เช่นกัน จำเป็นต้องมีความเข้าใจที่นำโดยองค์พระจิตเจ้า เพื่อตระหนักถึงความต้องการที่แท้จริงของพี่น้องของเรา ไม่ใช่ความหวังและแรงบันดาลใจส่วนตัวของเราเอง สิ่งที่คนยากจนต้องการคือความเป็นมนุษย์ของเราอย่างแน่นอน หัวใจของเราเปิดรับความรัก ต้องไม่ลืมว่า “เราได้รับเรียกให้ค้นพบพระคริสตเจ้าในบรรดาพวกเขา ให้เสียงของเราต่อสู้เพื่อพวกเขาและให้เราเป็นเพื่อนของพวกเขา รับฟังเขา เข้าใจ และต้อนรับปรีชาญาณอันเร้นลับที่พระเจ้าทรงต้องการสื่อสารกับเราโดยผ่านทางพวกเขา” (พระสมณสาส์นเตือนใจความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร – Evangelii Gaudium, ข้อ 198) ความศรัทธาสอนเราว่าคนยากจนทุกคนเป็นบุตรหรือธิดาขององค์พระผู้เป็นเจ้าและพระคริสต์ทรงสถิตอยู่ในพวกเขา “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40)

10. ปีนี้เป็นวันครบรอบ 150 ปีของการเกิดของนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู ในบันทึกอัตชีวประวัติของเธอ “Story of a Soul” เธอบอกเราว่า “ฉันตระหนักได้ว่ากิจเมตตาที่สมบูรณ์แบบหมายถึงการอดทนต่อความผิดของผู้อื่น การไม่รู้สึกรังเกียจกับความผิดของพวกเขา การได้รับการสอนสั่งจากการปฏิบัติคุณธรรมเล็กๆ น้อยๆ ของผู้อื่นที่เราพบเห็น แต่เหนือสิ่งอื่นใด ฉันได้ตระหนักว่าความรักจะต้องไม่ถูกขังอยู่ในส่วนลึกของหัวใจ พระเยซูตรัสว่า ‘ไม่มีใครจุดเทียนแล้วเอาตะกร้าไปครอบ แต่วางไว้บนเชิงเทียน เพื่อสามารถให้แสงสว่างแก่ทุกคนในบ้านได้’ สำหรับฉันแล้ว เทียนเล่มนั้นเป็นตัวแทนของกิจเมตตาที่ต้องให้แสงสว่างและนำความสุขมา ไม่เฉพาะกับคนที่ฉันรักที่สุดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกคนในบ้านด้วย ไม่ยกเว้นใครเลย” (Ms C, 12r°)

            ในบ้านของเราซึ่งก็คือโลกใบนี้ ทุกคนมีสิทธิที่จะสัมผัสกับแสงสว่างแห่งกิจเมตตา ไม่มีใครจะต้องถูกลิดรอนจากแสงสว่างนั้น ขอให้ความรักอันแน่วแน่ของนักบุญเทเรซาปลุกเร้าจิตใจของเราในวันคนยากจนโลกประจำปีนี้ และช่วยให้เราไม่ “เบือนหน้าหนีจากคนยากจน” แต่ให้พิศเพ่งไปที่พระพักตร์ของความเป็นมนุษย์และความเป็นพระเจ้าของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราเสมอ

กรุงโรม มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน – วันที่ 13 มิถุนายน 2023

ระลึกถึงนักบุญอันตนแห่งปาดัว องค์อุปถัมภ์คนยากจน

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส


บทภาวนาของมวลชน

ในโอกาสวันคนยากจนโลกประจำปี ครั้งที่ 7 ในวันนี้ องค์สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
ทรงปรารถนาให้เราเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทที่จะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง 
ให้เราร่วมใจกันภาวนาเพื่อการเฉลิมฉลองดังกล่าว ช่วยให้เราค้นพบหัวใจของพระวาจาที่ยังคงใหม่และเป็นปัจจุบันเสมอ

1)   เพื่อสมเด็จพระสันตะปาปา และบรรดาศาสนบริกรของพระศาสนจักรทุกท่าน จะได้ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าในการเป็นผู้อภิบาลที่ดี นำฝูงแกะคือประชากรของพระองค์ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ถูกต้อง   ให้เราภาวนา

(โปรดสดับฟังเถิดพระเจ้าข้า)

2)   เพื่อบรรดาผู้นำประเทศ ขอพระเจ้าโปรดให้เขาเหล่านั้นมีความสามัคคี ความรับผิดชอบ และเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เสริมสร้างสังคมให้ความเอื้ออาทร ได้เติบโตในหมู่ประชากรที่เชื่อในคุณค่าของความมุ่งมั่นในการดูแลช่วยเหลือกันและกัน เพื่อความดีส่วนรวม   ให้เราภาวนา

(โปรดสดับฟังเถิดพระเจ้าข้า)

3)   เพื่อบรรดาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากสถานการณ์สงคราม ความไม่สงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงและเด็ก โปรดให้สถานการณ์ความขัดแย้งและสงครามสงบลงในเร็ววัน   ให้เราภาวนา

(โปรดสดับฟังเถิดพระเจ้าข้า)

4)   เพื่อบรรดาผู้ที่อุทิศตนในงานรักและรับใช้คนยากจนทุกคน ได้มีกำลังใจและได้รับการสนับสนุนในการแสดงออกถึงความห่วงใยต่อคนยากจน สามารถแสดงความเข้าใจและพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน อันเป็นเครื่องหมายของพระวาจาและทำให้ความเป็นพี่น้องกันของเรามองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น   ให้เราภาวนา   

(โปรดสดับฟังเถิดพระเจ้าข้า)

5)   เพื่องานกิจเมตตาของชุมชนวัดของเราได้เป็นประจักษ์พยานถึงการแสดงความรักของพระคริสตเจ้าด้วยกิจการที่เป็นรูปธรรม ให้หัวใจของเราเปิดออกรับความรักของพระเจ้า และแสดงความรักของเราด้วยการดูแลเอาใจใส่คนยากจนทุกคน  ให้เราภาวนา   

(โปรดสดับฟังเถิดพระเจ้าข้า)

ประธาน ข้าแต่พระเจ้า ขอให้ความรักอันแน่วแน่ของนักบุญเทเรซาปลุกเร้าจิตใจของข้าพเจ้าทั้งหลายในวันคนยากจนโลกประจำปีนี้ และช่วยให้เราไม่“เบือนหน้าหนีจากคนยากจน” แต่ให้พิศเพ่งไปที่พระพักตร์ของความเป็นมนุษย์และความเป็นพระเจ้าของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราเสมอ พระองค์ท่านทรงจำเริญและครองราชย์ตลอดนิรันดร

ทุกคน อาแมน