วันพฤหัสบดี, 7 พฤศจิกายน 2567
  

31 พฤษภาคม ฉลองพระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมเยียน

31 พฤษภาคม
ฉลองพระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมเยียน
(Visitation of the Blessed Virgin Mary, feast)

วันฉลองนี้ ระลึกถึงการเสด็จเยี่ยมของพระนางมารีย์พรหมจารี ผู้ทรงครรภ์พระกุมารน้อยเยซู เสด็จเยี่ยมญาติของเธอ นางเอลีซาเบธ ซึ่งตั้งครรภ์ ยอห์น บัปติสต์อยู่ นักบุญลูกาอธิบายอย่างซื่อๆ แต่งดงาม (ลก 1 : 39-56) ช่วยให้เราได้สัมผัสกับเหตุการณ์อันน่าชื่นชม และเผยให้เห็นแผนการแห่งความรอดที่เริ่มขึ้น

เมื่อทูตสวรรค์แจ้งข่าวการประสูติของพระเยซูเจ้านั้น พระนางมารีย์ทรงได้รับการแจ้งว่า เอลีซาเบธ ผู้ชราได้ตั้งครรภ์ (ลก 1 : 36) ทำให้พระนางทรงรีบไปช่วยเหลือญาติของพระนาง เพราะฉะนั้น จึงถือเป็นก้าวแรกเริ่มในความเกี่ยวข้องของพระนางกับงานการไถ่ให้รอด สิ่งที่ตามมาน่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ เพียงได้ยินเสียงทักทายของพระนางมารีย์ เด็กในครรภ์ของเอลีซาเบธก็ได้รับความศักดิ์สิทธิ์ และได้รับการชำระให้บริสุทธิ์จากบาปกำเนิด (เทียบ ลก 1 : 44) ดังที่ทูตสวรรค์กาเบรียลได้กล่าวไว้กับเศคาริยาห์มาก่อนแล้ว (เทียบ ลก 1 : 15 “…เขาจะได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยมตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา”) และการดิ้นในครรภ์ของยอห์น บัปติสต์ คือการเริ่มภารกิจของเขาในการเป็นพยานถึงองค์ความสว่าง

แท้จริงแล้ว เหมือนเช่นกษัตริย์ดาวิดได้เต้นรำด้วยความยินดีต่อหน้าหีบพันธสัญญาในยุคดั้งเดิม ยอห์น บัปติสต์ ซึ่งถือเป็นประกาศกคนสุดท้ายของพันธสัญญาเดิม ก็ได้โลดเต้นยินดีต่อหน้าพระนางมารีย์ผู้ซึ่งเป็นเสมือนหีบแห่งพันธสัญญาใหม่ ผู้ทรงนำการประทับอยู่ของพระเจ้าเข้ามาในโลก!

ดังนั้น นางเอลีซาเบธ ผู้เปี่ยมไปด้วยพระจิตเจ้า กล้าประกาศอย่างอาจหาญว่า พระนางมารีย์ทรงได้รับ “พระพร” ยิ่งกว่าหญิงใดๆ เป็น “พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (เทียบ ลก 1 : 42-43) นี่เป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการครั้งแรกในฐานะที่เป็น “Theotokos”! ที่น่าสนใจคือ พระพรของพระนางมารีย์หยั่งรากลึกอย่างมั่นคงในความเชื่อของพระนางในพระสัญญาขององค์พระผู้เป็นเจ้า

และต่อมา ก็มาถึง “บทเพลงสรรเสริญของพระนางมารีย์” (the “Magnificat”) ที่นำมาจากข้อความหลายตอนจากพันธสัญญาเดิม เป็นการสรรเสริญและขอบพระคุณพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ ผู้ทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่ ทรงเปลี่ยมล้นไปด้วยความรักและพระกรุณา

พบว่าวันฉลองพระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมเยียนนี้ มีหลักฐานเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1263 เมื่อคณะนักบวชฟรังซิสกันโดยได้รับคำแนะนำจากนักบุญโบนาเวนตูราได้จัดให้มีขึ้น ที่น่าสังเกตคือ ได้แพร่หลายไปกว้างขวางมากขึ้นในพระศาสนจักรในปี 1389 โดยพระสันตะปาปา อูร์บัน ที่ 6 ในการวิงวอนขอให้เรื่อง The Great Schism จบสิ้นลง ก่อนโน้นกำหนดวันที่ 2 กรกฎาคม เป็นวันฉลองโดยสังคายนาของเมือง Basel (ในปี 1441) มากำหนดใหม่ในปี 1969 ว่าเป็นวันที่ 31 พฤษภาคม เพื่อให้สอดคล้องกับกำหนดวันฉลองทูตสวรรค์แจ้งข่าวแก่พระนางมารีย์ (25 มีนาคม) และก่อนหน้าวันบังเกิดของนักบุญยอห์น บัปติสต์ (24 มิถุนายน)

ถอดความโดยคุณพ่อวิชา หิรัญญการ
จากหนังสือ Saint Companions for Each Day
โดย A.J.M. Mausolfe, J.K. Mausolfe ; pp. 197-198