วันที่ 3 ธันวาคม
ฉลองนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ พระสงฆ์ องค์อุปถัมภ์ของมิสซัง
( St. Francis Xavier, Priest, memorial )
ความคิดที่ว่าในแผนการของพระเจ้าจะทรงทำให้ท่านได้กลายเป็นหนึ่งในบรรดานักบุญมิชชันนารีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ตามแบบอย่างของนักบุญเปาโล อัครสาวก นั้นไม่เคยอยู่ในหัวขุนนางหนุ่มชาวบาสก์ (Basque) ผู้นี้เลย ท่านเพียงอยากเป็นนักการศึกษาและนักปรัชญาผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น หรือไม่ก็ประกอบอาชีพทางศาสนจักรให้กับบ้านเกิดของท่านที่ Navarre (Spain) ซึ่งบิดาของท่านเป็นประธานของสภาขุนนาง แต่เมื่อร่ำเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยปารีสที่มีชื่อเสียง ท่านได้ถูกเกลี้ยกล่อมโดยนักบุญอิกญาซีโอ แห่งโลโยลา ซึ่งตลอดระยะเวลาสองปีที่อยู่ด้วยกันนั้น ได้เตือนท่านอย่างไม่หยุดหย่อนว่า “ประโยชน์อะไรที่จะได้ทั้งโลกเป็นกรรมสิทธิ์ แต่ต้องมาเสียวิญญาณไป”
ฟรังซิส เกิดเมื่อวันที่ 7 เมษายน 1506 บิดามารดาคือ Don Juan de Jassu และ Maria de Alpilcueta ท่านเป็นลูกคนที่ 2 ในจำนวนรวม 7 คน ได้ปฏิญาณเข้าเป็นคณะเยสุอิตรุ่นแรกเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1534 รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 1537 และได้ถวายมิสซาแรกหลังจากจำศีลอย่างเคร่งครัดและเตรียมจิตใจอย่างดีเป็นเวลา 40 วัน หลังจากเจ็บไข้ได้ป่วยช่วงหนึ่งทำให้ต้องหยุดการเทศน์ที่เมืองโบโลญา อิตาลี และในขณะที่รับหน้าที่เลขาฯ ให้นักบุญอิกญาซีโอที่กรุงโรม ก็มีเสียงเรียกร้องจากกษัตริย์จอห์น ที่ 3 ของประเทศโปรตุเกสให้ส่งพวกมิชชันนารีเยสุอิตไปยังหมู่เกาะอินเดียตะวันออก (East Indies) เพียงแค่วันเดียวเท่านั้นที่ร้องขอมา ฟรังซิสได้ออกเดินทางพร้อมกับทูตโปรตุเกสข้ามภูเขาแอลป์และสเปนไปกรุงลิสบอนเป็นเวลา 3 เดือน และเริ่มเดินทางทางเรือ 11,000 ไมล์ ใช้เวลาถึง 13 เดือน เพราะต้องหยุดเดินเรือช่วงหน้าหนาวที่โมแซมบิก และในที่สุดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 1542 ก็มาขึ้นฝั่งที่เมือง กัว (Goa) บนชายฝั่งด้านตะวันตกของอินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางกิจการของโปรตุเกสทางทิศตะวันออก ที่นี่ฟรังซิสสาละวนกับการเรียนภาษาท้องถิ่น เอาใจใส่และพยาบาลคนเจ็บไข้ เทศน์และสอนคำสอน
จากเมืองกัว ท่านได้ลงไปทางใต้ที่ Fishery Coast และใช้เวลา 2 ปีกับชาวประมงที่หาไข่มุก เรียนภาษาของพวกเขาและสอนพวกเขาอย่างเอาใจใส่เป็นหลายๆอาทิตย์ และหลายๆเดือนก่อนจะให้รับศีลล้างบาป ท่านใช้วิธีเล่าแบบนิทาน ซึ่งประสบความสำเร็จมาก เป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกหลังคาเรือน และเมื่อเด็กๆกับแม่ๆมารวมตัวกัน ท่านจะพาเข้าไปในวัดและอธิบายความเชื่อด้วยความอดทนอย่างยิ่ง และด้วยความร้อนรนที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ท่านจะกล่าวว่า “ฉันจะให้พวกเขาเข้าไปทางของเขาเอง แต่ฉันเห็นเขากลับออกมาโดยทางของฉัน” ในกาลเวลาต่อมา ท่านจะกลับไปเยี่ยมภารกิจที่ท่านเริ่มไว้ โดยช่วงที่ท่านไปเทศน์ที่อื่นนั้น ได้มอบให้สงฆ์พื้นเมืองที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีคอยดูแลงานอย่างต่อเนื่อง
ในปี 1544 จะพบฟรังซิสที่เกาะซีลอน (ศรีลังกา) จากที่นี่ท่านได้ไปมะละกา (Malacca) และไปหมู่เกาะเครื่องเทศ ไปโคชิน-ไชน่า และบ้างก็เชื่อว่าท่านไปถึงฟิลิปปินส์เลยทีเดียว หลังจากนั้น เมื่อได้พบกับชาวญี่ปุ่นที่หลบหนีมา ท่านก็รับอาสาเดินทางไปทำงานมิชชันนารีที่เกาะนั้น ขึ้นฝั่งที่ คาโกชิมา (Kagoshima) ทางภาคใต้ของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1549 ขวนขวายร่ำเรียนภาษา และแม้ถูกต่อต้านอย่างมากจากพระภิกษุทางพุทธของที่นั่น แต่การเทศน์ของท่านรวมทั้งมีอัศจรรย์หลายอย่างเกิดขึ้น ทำให้ทั้งฟรังซิสเอง และครูคำสอนที่ท่านฝึกไว้ช่วยเป็นครั้งคราวและประจำได้ประสบความสำเร็จในการทำให้คนมากมายเข้ามามีความเชื่อ จนว่าในช่วงเวลา 40 ปีจากนั้นมีชาวญี่ปุ่นมามีความเชื่อเป็นจำนวนถึง 400,000 คน
สิ่งที่ได้เห็นเกี่ยวกับอารยธรรมจีนในญี่ปุ่น ทำให้ฟรังซิสวางแผนจะไปประกาศพระวรสารที่นั่น ซึ่งเรียกว่า เป็นอาณาจักรต้องห้าม แต่พวกคนจีนที่สัญญาจะพาท่านลักลอบเข้าประเทศจีนที่ Canton ไม่ปรากฏตัว หลังจากรอคอยถึง 3 เดือนแต่ไม่เป็นผล ลมพัดพาท่านไปสู่เกาะแห่งหนึ่งในทะเลจีน ชื่อ Sancian island of Canton ท่านเป็นไข้และสิ้นใจที่นั่นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 1552 ในปี 1553 พบว่าร่างของท่านไม่เน่าเปื่อย แม้จะฝังไป 2 เดือนแล้ว จึงได้นำร่างของท่านกลับไปที่เมืองกัว และยังได้รับการเคารพอยู่จนทุกวันนี้ที่ใน Bom Jesus Basilica อย่างไรก็ตาม แขนข้างขวาของท่านตัดจากตรงข้อศอกถูกนำไปที่โรมบรรจุไว้ที่วัดของคณะเยสุอิต (Church of the Gesu) โดยคำสั่งของอธิการใหญ่ของคณะเยสุอิตในขณะนั้น
ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบุญราศีในปี 1619 และได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 1622 โดยพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 15
ในการทำงานแพร่ธรรม 10 ปีของนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ทำให้ท่านได้เดินทางเข้าไปในอาณาจักรต่างๆมากกว่า 50 แห่ง ทำให้คนกลับใจมาหาพระเจ้าเกือบล้านคน และได้วางรากฐานให้มั่นคงสืบมาในสนามแพร่ธรรมใหญ่ๆของเอเซียถึง 6 แห่งด้วยกัน ดังนั้น ท่านจึงได้รับสมญานามว่า “อัครสาวกของหมู่เกาะอินดิส” (Apostle of the Indies) และเป็นองค์อุปถัมภ์ของสมณกระทรวงเผยแผ่ความเชื่อ (the Propagation of the Faith) และประเทศมิสซังทั้งหมด
(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)