วันพฤหัสบดี, 7 พฤศจิกายน 2567
  

สมณกระทรวงเพื่อส่งเสริมการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม “น้ำแห่งชีวิต” (Aqua fons vitae)

น้ำแห่งชีวิต  Aqua fons Vitae  

                                                                             สรุปเนื้อหาสั้นๆ โดย สามสอ

 แผนกยุติธรรมและสันติ

เดือนมีนาคม ปี 2020 สมณกระทรวงเพื่อส่งเสริมการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม ได้ออกเอกสาร Aqua fons Vitae น้ำแห่งชีวิต : แนวปฏิบัติเรื่องน้ำ เครื่องหมายแห่งเสียงร้องของคนยากจนและเสียงร้องของโลก  ซึ่งเป็นเอกสารที่สะท้อนความห่วงใยของศาสนจักรคาทอลิกต่อปัญหาเรื่องน้ำ  ในฐานะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ทุกคน   ทั้งๆ ที่ มติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) ที่ 64/292  เมื่อเดือน กรกฎาคม  2010   ได้รับรองสิทธิสากลด้านน้ำและสุขาภิบาล และยอมรับว่าการเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดและถูกสุขอนามัยเป็นสิทธิมนุษยชน  พร้อมกับกำหนดให้รัฐบาลต้องดูแลให้ประชาชนได้รับน้ำและสุขอนามัยที่มีคุณภาพ  เข้าถึงได้และราคาไม่แพง   แต่ดูเหมือนรัฐบาลในประเทศต่างๆ ไม่สามารถผลักดัน หรือจัดการปัญหาเรื่องการเข้าถึงน้ำ การใช้น้ำ ให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมดังกล่าว  หรือเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้คนทั่วโลกยังปรากฏ  จากการเข้าไม่ถึงน้ำ  ไม่มีน้ำที่สะอาดปลอดภัย สำหรับดื่มและใช้ในชีวิตประจำวัน  

เอกสาร น้ำแห่งชีวิต ได้สนับสนุนความคิดและความมุ่งมั่นของพระสันตะปาปาฟรังซิส  ในการดูแล พิทักษ์รักษาน้ำ ผู้เป็นพี่สาว ดังปรากฏในสมณสาสน์ ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า (Laudato Si’) (อ้างอิงข้อ 27-31) โดยนำเสนอคุณค่าของน้ำ ในมิติศาสนา วัฒนธรรม สันติภาพ และเศรษฐกิจ  และมีรูปแบบการเขียนโดย (1) นำเสนอสถานการณ์ท้าทายต่างๆ  ที่มีต่อน้ำ ใน 3 มิติใหญ่ๆ  คือ น้ำในฐานะที่เป็นปัจจัยต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์   น้ำในฐานะที่เป็นทรัพยากร สำหรับกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ โดยเฉพาะการเกษตรและอุตสาหกรรม  และน้ำในฐานะที่เป็นพื้นที่และคาบเกี่ยวพรมแดน  ได้แก่ แม่น้ำ ชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดิน ทะเลสาบ และโดยเฉพาะทะเลและมหาสมุทร  (2) เสนอจุดยืนของพระศาสนจักร และแนวทางรณรงค์เชิงนโยบาย และความร่วมมือกันในระดับสากล และระดับประเทศ ด้านกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และสหวิชาชีพต่างๆ   (3)  ให้แนวปฏิบัติรูปธรรม เพื่อความยั่งยืนของน้ำ  ต่อหน่วยงานพระศาสนจักรในระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น วัด อาราม โรงเรียน โรงอาหาร บ้าน/ศูนย์ภาวนา และศูนย์อนามัย เพื่อร่วมกันทำให้น้ำ เป็นน้ำแห่งชีวิต อย่างแท้จริง

ต่อจากนี้ เป็นการเสนอเนื้อหาของเอกสาร น้ำแห่งชีวิต อย่างสรุปสั้น  ซึ่งไม่ครอบคลุมทั้งหมด  แต่เพื่อให้เห็นภาพว่า น้ำมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตผู้คน  จากปัญหาต่างๆ ที่ปรากฏในเอกสาร  ความห่วงใย คำสอนและจุดยืนของพระศาสนจักร ที่เรียกร้องทุกคนให้ร่วมกันลงมือกระทำ เพื่อให้บ้านหลังใหญ่นี้ เป็นบ้านซึ่งทุกสรรพสิ่งต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน ตามพระประสงค์ของพระผู้สร้าง

อย่างไรก็ดี การอ่านเอกสาร น้ำแห่งชีวิต ฉบับเต็ม จะได้เนื้อหาที่สมบูรณ์ และเชื่อมโยงปัญหา ผลกระทบ และแนวปฏิบัติได้ดีกว่า

เหตุผล การฟื้นฟูเรื่องน้ำ และผู้เกี่ยวข้อง

  • น้ำเป็นบ่อเกิดของชีวิต  น้ำเป็นสัญลักษณ์ของการชำระให้บริสุทธิ์และการเกิดใหม่   น้ำช่วยฟื้นฟูชีวิตอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเครื่องดื่มที่ร่างกายเราต้องการอยู่ตลอดเวลา    น้ำเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์ และพืช    มนุษย์ใช้น้ำในทางที่ไม่ถูกต้อง จนน้ำเต็มไปด้วยมลพิษ ไม่สามารถใช้บริโภคและอุปโภคได้ หรือมีการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย  ดังนี้  จึงเรียกร้องทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ผู้นำทางศาสนา ผู้กำหนดนโยบาย สมาชิกสภานิติบัญญัติ นักเศรษฐกิจและนักธุรกิจ เกษตรกรผู้ทำกสิกรรมพอเพียงในชนบท และเกษตรกรผู้ทำเกษตรอุตสาหกรรม ฯลฯ ให้ร่วมกันรับผิดชอบ ฟื้นฟู และดูแลเอาใจใส่น้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลเอาใจใส่บ้านร่วมกันของเรา #13

ภูมิหลัง

  • ในโลกใบนี้  มีน้ำอยู่มากมาย ประกอบด้วยน้ำเค็มถึงร้อยละ 97.5 และเป็นน้ำจืดเพียงร้อยละ 2.5   ในปริมาณน้ำจืดที่มีอยู่นั้น   เพียง 1.2%  ที่มนุษย์สามารถเข้าถึงได้  นอกนั้นอยู่ในธารน้ำแข็งและใต้ดิน  รวมทั้งคุณภาพของน้ำก็แย่ลงอย่างต่อเนื่อง #16
  • ประชากรกว่า 2.2 พันล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดได้  ขณะที่ 4.2 พันล้านคนได้รับผลกระทบจากการจัดการสาธารณสุขที่ไม่ดี และ 3 ล้านคนยังไม่สามารถเข้าถึงแม้กระทั่งแหล่งล้างมือพื้นฐาน   ผู้คนนับพันล้านคนขาดน้ำดื่ม จาก ‘สภาวะขาดแคลนน้ำ’  1 ใน 3 ของโรงเรียนประถมทั่วโลก ขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาด และการดูแลด้านสุขอนามัยไม่เพียงพอ  สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กนักเรียนหลายล้านคน   การขาดแคลนห้องสุขา  ทำให้เด็กผู้หญิงจำนวนมากไม่ไปโรงเรียน #36 #41 #42
  • มนุษย์แต่ละคนต้องการน้ำสะอาดวันละ  50 ลิตร  สำหรับดื่ม ทำอาหาร และซักผ้า  และระยะทางในการเข้าถึงน้ำ ไม่ควรเกิน 100 เมตรจากที่อยู่อาศัย  เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตเนื่องจากบริโภคน้ำไม่สะอาด ประมาณปีละ 2 ล้านคน   นอกจากนี้ น้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี เป็นสาเหตุของโรคต่อมไร้ท่อหรือระบบฮอร์โมนทั้งของมนุษย์ ในระยะการตั้งครรภ์ การเติบโตของเด็กและวัยแรกรุ่น  และส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ป่า #35 #41 #45
  • ทุกวันนี้ มีเด็กๆ ที่ป่วยเป็นโรคที่หายาก (rare disease) และเป็นความทุกข์ของพ่อแม่อย่างมาก  ความเจ็บป่วยจากโรคที่หายากนี้  มาจากความเจ็บป่วยของสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ #46

ตระหนักในคุณค่าของน้ำ

  • น้ำเป็นบ่อเกิดของชีวิต”  ความอยู่รอดและสุขภาพของมนุษย์ขึ้นอยู่กับน้ำโดยตรง  รวมถึงต้องใช้น้ำในการผลิตอาหาร พลังงาน และสินค้าอุปโภคบริโภคมากมาย… ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก การทำงานของชีวนิเวศ[1]  ที่หลากหลาย และของชั้นบรรยากาศ  วัฏจักรของน้ำและภูมิอากาศ เตือนเราถึงของขวัญอันทรงคุณค่า  ซึ่งเราได้รับประทานจากพระเจ้า #20

คุณค่าของน้ำในมิติศาสนา

  • ในพระคัมภีร์ มีการพูดถึงน้ำ 1,500 ประโยค…  ในภาคพันธสัญญาเดิม  ภารกิจแห่งงานสร้างในช่วงต้นของหนังสือปฐมกาล  น้ำที่ทำให้บริสุทธิ์ หรือน้ำเป็นสัญลักษณ์ของพระพรและแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์  หรือแม้กระทั่งการลงโทษที่เกิดจากความแห้งแล้งหรือน้ำท่วม… ในภาคพันธสัญญาใหม่ การเชื่อมโยงระหว่างน้ำและการเยียวยารักษา (เทียบ 2 พกษ 5: 8-14; ยน 5: 2-4; ยน 9: 6-11)  นอกจากนี้ หลายศาสนา ถือว่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ และมีพิธีกรรม และประเพณีเกี่ยวกับน้ำ ที่เชื่อมโยงกับพระเมตตาของสิ่งศักดิ์สิทธิ์  #21#22 #23

คุณค่าของน้ำ ในมิติสังคม-วัฒนธรรม และสุนทรียศาสตร์

  • น้ำยังมี ‘คุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรม’ … น้ำเป็นตัวนำพาความทรงจำร่วมของมนุษยชาติ …วรรณกรรม ดนตรี  การแสดงออกทางศิลปะต่างๆ และโดยเฉพาะบทกวีต่างๆ ได้รับแรงบันดาลใจจากน้ำ #24
  • แหล่งน้ำต่างๆ ได้เอื้อต่อการเดินทางการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คนที่อยู่ล้อมรอบ และช่วยให้คนมีโอกาสเรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน   การประกอบอาชีพต่างๆ ต้องอาศัยน้ำ  นับตั้งแต่อาชีพกสิกรรมของคนที่อยู่บนที่ภูเขา เรื่อยไปจนถึง อาชีพประมง และการขนส่งในทะเล  #24

คุณค่าของน้ำ ในเชิงสถาบันและสร้างสันติภาพ

  • น้ำจืดบนผิวดินและใต้ดิน  ส่วนใหญ่จะคาบเกี่ยวพรมแดน  และมักเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้เข้าถึงน้ำและใช้ประโยชน์จากน้ำ  กับคนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ  นอกจากนั้น  ในเวลาสงคราม แหล่งน้ำ รวมถึง ท่อส่งน้ำต่างๆ มักจะถูกทำลายลง #27
  • ด้วยคุณสมบัติของน้ำที่เป็นตัวเชื่อมต่อ  น้ำจึงมี ‘คุณค่าเชิงสถาบัน’ และ ‘ช่วยสร้างสันติภาพ’  น้ำเป็นองค์ประกอบที่ขับเคลื่อนการเชื่อมประสาน ความร่วมมือกันและการเสวนา … ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและการปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำ   โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม  สามารถช่วยสร้างความสามัคคี และความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกัน ระหว่างชุมชน #26
  • การดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำข้ามพรมแดนร่วมกัน ระหว่างพื้นที่หรือประเทศต่างๆ เรียกว่าเป็นการทูตเรื่องน้ำ #27

คุณค่าของน้ำทางเศรษฐกิจ

  • การเข้าถึงน้ำที่เหมาะสมสำหรับการดื่ม การจัดหาและการขนส่ง การแปรรูป และการทำให้น้ำบริสุทธิ์ รวมถึงการใช้น้ำในอาชีพเกษตร งานก่อสร้าง และภาคอุตสาหกรรม  ต้องมีต้นทุน มีค่าใช้จ่าย ดังนั้น เป็นการสมควรที่จะเข้าใจ บทบาทของน้ำในการผลิต และรับรู้ว่าน้ำมี ‘คุณค่าทางเศรษฐกิจ’ ดังนั้น การประหยัดน้ำ การลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม  ลดมลพิษต่อแหล่งน้ำ เป็นการลดต้นทุนทางเศรษฐกิจ  ที่ต้องจ่ายไปกับการกรองและบำบัดน้ำเสียให้น้ำสะอาด #28

การแปรรูปน้ำ

  • สมณสาสน์ ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า เตือนให้ระวังทฤษฎีเศรษฐศาสตร์บางทฤษฎี และทัศนคติของผู้ประกอบการบางกลุ่ม (บริษัท นักลงทุน นักการเมือง) ที่อาจมองหรือบริหารจัดการน้ำในฐานะที่เป็นเพียงแค่สินค้า และใช้อำนาจผูกขาด ครอบครองกักตุน ควบคุม บริโภค และซื้อขายโดยพฤตินัย โดยปฏิเสธว่าน้ำเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับชีวิต ที่มีไว้สำหรับมนุษยชาติทั้งมวล #29

การยึดครองมหาสมุทร

  • ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจขอสัมปทานทางทะเล และทำธุรกิจการท่องเที่ยว การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การผลิตพลังงาน การดูดทรายและตักตวงทรัพยากรมีค่าจากก้นทะเล… ชาวประมงพื้นบ้าน สูญเสียสิทธิตามจารีตประเพณีท้องถิ่น  ในการจับสัตว์น้ำหรือเข้าถึงทรัพยากรจากท้องทะเล  และส่งผลเสียต่อการดำรงชีวิตของพวกเขา #33
  • การแปรรูปพื้นที่ทางทะเล  มักกระทำโดยผู้มีบทบาททางเศรษฐกิจขนาดใหญ่  และได้รับสนับสนุนจากภาครัฐ โดยไม่มีการบอกกล่าว แจ้งล่วงหน้า ให้ชุมชนรับรู้ และไม่ได้รับการฉันทานุมัติอย่างเสรีจากชุมชนท้องถิ่น  รวมทั้งมีเจตนาไม่ให้ชาวบ้านเข้ามาเกี่ยวข้อง  และไม่คำนึงถึงผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและการจ้างงานในท้องถิ่น #33

มิติที่ 1 น้ำสำหรับมนุษย์ใช้

  • ผู้คนราวสองพันล้านคน ไม่มีน้ำดื่มเพียงพอ… ไม่สามารถเข้าถึงน้ำอย่างสม่ำเสมอ  แหล่งน้ำอยู่ไกลบ้านเกินไป หรือเป็นน้ำเน่าเสีย ไม่เหมาะสำหรับการบริโภคของมนุษย์  ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ #36

ข้อจำกัดของการใช้น้ำจากบ่อขุด ในพื้นที่ชนบท

  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา  มีผลต่อน้ำซึมใต้ดิน ทำให้บ่อขุดแบบดั้งเดิม  มีน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน … บ่อน้ำถูกทิ้งไป เมื่อน้ำใต้ดินเค็ม หรือบ่อน้ำมีมลพิษ #37

การซื้อขายน้ำและราคาค่าน้ำ

  • คนยากจนอาจไม่สามารถจ่ายค่าน้ำหรือซื้อน้ำได้  หลายครอบครัวจำเป็นต้องซื้อน้ำราคาแพงจากเอกชนที่ขายน้ำนอกระบบ  ยิ่งกว่านั้น ก็ไม่มีทางตรวจสอบคุณภาพของน้ำที่พวกเขาซื้อจากรถบรรทุกน้ำนอกระบบ #39

การขู่กรรโชกทางเพศ

  • การแสวงหาประโยชน์ทางเพศเพื่อการเข้าถึงน้ำ… ช่างเทคนิคที่รับผิดชอบการประปา หรือเจ้าหน้าที่จดมิเตอร์น้ำ ใช้ประโยชน์จากตำแหน่งของตน ข่มขู่คนที่ไม่สามารถจ่ายค่าน้ำได้ (ซึ่งมักจะเป็นผู้หญิง) เรียกร้องการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อแลกกับค่าน้ำประปาเรียกได้ว่าเป็นการขู่กรรโชกทางเพศในภาคน้ำ (sextortion) #40

ไม่มีระบบสุขาภิบาลและขับถ่ายกลางแจ้ง

  • ผู้คนราวสองพันล้านคนไม่มีระบบสุขาภิบาลที่เหมาะสม และอีกหลายร้อยล้านคนที่ขับถ่ายกลางแจ้ง…

การขาดสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัย ทำให้ผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกข่มขืน ขณะออกไปหาที่ขับถ่าย  การไม่มีห้องสุขาที่เพียงพอสำหรับเด็กผู้หญิงในโรงเรียน ทำให้เด็กผู้หญิงหลายคนไม่ได้เข้าโรงเรียน #41

ขวดพลาสติกสำหรับน้ำดื่ม

  • ทุกวันนี้ ผู้คนต้องพึ่งพา น้ำดื่มบรรจุขวด  แต่ก็ไม่ควรใช้ขวดพลาสติกที่บรรจุน้ำดื่ม แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง  และการใช้ขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างไม่แยกแยะ มีส่วนทำให้บ้านร่วมกันของเราเริ่ม เป็นกองขยะขนาดมหึมามากขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสุขภาพของมนุษย์ #44

สารเคมีตกค้างในน้ำ ทำลายระบบต่อมไร้ท่อ

  • สารเคมี หรือ ของเสียจากอุตสาหกรรม ที่ปล่อยลงสู่แม่น้ำ ลำธาร  ส่งผลกระทบต่อระบบต่อมไร้ท่อ ทำให้เกิดความผิดปกติในการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ทั้งในมนุษย์และสัตว์ป่า และเป็นสาเหตุของโรคหายาก (Rare Diseases) ที่เกิดขึ้นในเด็ก… โรคภัยไข้เจ็บที่หายากเหล่านี้ เป็นผลมาจากความเจ็บป่วยที่เราทำร้ายสิ่งแวดล้อม #46

การเข้าถึงน้ำดื่ม

  • สันตะสำนักและพระศาสนจักร มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเข้าถึงน้ำดื่มสำหรับทุกคน  โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ  ผู้คนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี จากการเข้าถึงน้ำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องในปริมาณที่เพียงพอ   ยิ่งไปกว่านั้น  น้ำควรมีคุณสมบัติที่ดี คือไม่มีสี ไม่มีกลิ่นและมีรสชาติที่ดี #49

สิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิมนุษยชนสากล

  • พระศาสนจักร รับรองว่า การเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์และเป็นสิทธิสากล เพราะจำเป็นต่อการอยู่รอดของมนุษย์ และเป็นเงื่อนไขต่อการเคารพสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ดังนั้น หากจะไม่ละทิ้ง “สิทธิ” ใดไว้ข้างหลังในเส้นทางการพัฒนา  สิทธินั้นต้องเป็นสิทธิที่เข้าถึงน้ำและสุขอนามัยที่ดี #50
  • การลงทุนด้านน้ำและสุขอนามัยเพียง 1 ดอลลาร์ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษ และดูแลสุขภาพได้ถึง      4 -12 ดอลลาร์#51

ไม่ใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง

  • เป็นหน้าที่ของทุกคน ที่จะต้องใช้น้ำอย่างพอประมาณ  ในการขนส่ง การบำบัดน้ำเสีย และการบริโภคน้ำ มีค่าใช้จ่ายและต้องใช้พลังงาน…สันตะสำนักยืนยัน ถึงความสำคัญของการบริโภคน้ำอย่างพอประมาณ และเรียกร้องฝ่ายบริหาร ภาคธุรกิจและประชาชนแต่ละคน ให้มีความรับผิดชอบอย่างจริงจัง #53

การบริหารจัดการน้ำเสีย

  • เราต้องทำมากไปกว่า การลดมลพิษเพียงอย่างเดียว และต้องใช้ประโยชน์จากการปรับปรุงน้ำเสีย… การนำน้ำที่ผ่านการบำบัดอย่างเหมาะสม ไปใช้ในการเกษตรและผลิตกระแสไฟฟ้า ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน และสามารถช่วยบรรเทาความเครียดจากความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้น #54

น้ำเป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ

  • ธรรมประเพณีคริสต์ศาสนา ไม่ยอมรับเรื่องสิทธิในทรัพย์สินส่วนตัว เป็นสิทธิเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เหนือสิทธิส่วนรวม  ดังนั้น ก็ไม่ยอมรับคำกล่าวอ้างของบุคคลว่า ตนมีสิทธิเด็ดขาดต่อการใช้น้ำ เหนือคนอื่นๆ เพราะน้ำเป็นมรดกร่วมของมนุษยชาติ #55
  • การตัดสินใจทางการเมืองและเศรษฐกิจ  สัมปทาน การค้าขาย การจัดสรรทรัพยากรน้ำ ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของสาธารณะ มากกว่าผลกำไรของของบริษัท  และการผลิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือน้ำอัดลม หรือการใช้น้ำเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจใดๆ  ต้องไม่เป็นอันตรายต่อปริมาณน้ำที่มีอยู่ในท้องถิ่น ที่จำเป็นสำหรับดื่ม และใช้งานของมนุษย์ #55

หลีกเลี่ยงอาหารเหลือทิ้ง

  • ลด ละ เลิก การใช้ขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้มากที่สุด และต้องช่วยแยกขยะ #57
  • หลีกเลี่ยงการมีอาหารเหลือทิ้ง เพราะการผลิตอาหารสำหรับบริโภคต้องใช้น้ำ พลังงาน และการทำงาน… การทิ้งอาหาร เป็นรูปแบบการทิ้งขว้างที่โหดร้ายที่สุด  หมายถึงการทิ้งผู้คน  #57

การมีส่วนร่วมและรับผิดชอบ

  • ประชาชนและสมาคมต่าง ๆ ควรมีส่วนร่วมในนโยบายการบริหารจัดการน้ำ และตรวจสอบคุณภาพและความสม่ำเสมอของการให้บริการ  ผ่านทางโครงสร้างระดับชุมชน เช่น สภาเทศบาลหรือ สภาชุมชน #64

มิติที่ 2 น้ำในกิจการของมนุษย์

  • น้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพของมนุษย์  มนุษย์ใช้น้ำจำนวนมากในภาคเกษตรกรรมที่ผลิตอาหาร  ปศุสัตว์ และภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ งานก่อสร้าง งานผลิตโลหะ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  หรืองานฝีมือต่างๆ  งานขุดเจาะวัตถุดิบใต้ดิน และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ #65

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพมนุษย์จากภาคอุตสาหกรรม

  • การกักเก็บน้ำ การเปลี่ยนเส้นทางไหลของน้ำ  การทำให้น้ำใต้ดินเค็ม  การตัดไม้ทำลายป่า การสร้างเขื่อน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ และสุขภาพของมนุษย์ #66   
  • อุตสาหกรรมเคมีและยา อุตสาหกรรมผลิตอาหาร   การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่ง และอุตสาหกรรมเหมืองแร่  สร้างมลพิษที่เป็นอันตรายต่อพืช  สัตว์และมนุษย์ #66

การปนเปื้อนของสารเคมี

  • ภาคเกษตรกรรม ที่เพาะปลูกพืชแบบเข้มข้น ใช้สารเคมีจำนวนมาก ต้องรับผิดชอบต่อมลพิษประเภทต่างๆ ที่ปนเปื้อนในน้ำด้วย…   ผู้ผลิตอาหารรายย่อยหรือชาวประมงพื้นบ้านจำนวนมาก   ได้รับความเสียหาย จากมลพิษและน้ำเสีย ที่ปล่อยออกมาจากชุมชนเมืองและโรงงาน #68

แนวทางปฏิบัติและการวางแผนจัดการน้ำท่วมที่ไม่เหมาะสม

  • การเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ  ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม  และความเป็นไปได้ที่วิกฤตน้ำท่วมจะรุนแรงมากขึ้นในหลายๆ พื้นที่ของโลก  หากไม่มีการวางแผนและแนวทางจัดการน้ำท่วมที่เพียงพอ #69
  • ในแต่ละปี มีน้ำท่วม 50-300 ครั้งทั่วโลก มีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 520  ล้านคน  และผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เปราะบางต่อการเกิดน้ำท่วม คือ คนยากจนที่สุด #69

ต้องส่งเสริมชุมชนท้องถิ่น

  • ต้องส่งเสริม สนับสนุน ชาวนา ช่างฝีมือ ผู้เพาะพันธุ์ และชาวประมง ผู้ทำงานโดยพยายามเคารพธรรมชาติ… ส่งเสริมพวกเขาใช้น้ำอย่างมีสติและมีประสิทธิผล  และมีบทบาทในการตรวจสอบคุณภาพของน้ำที่ใช้  รวมถึงช่วยกันลดมลพิษ #72

ความมุ่งมั่นทุ่มเทของพระศาสนจักรท้องถิ่น

  • พระศาสนจักรต้องอยู่เคียงข้าง และทำงานอภิบาล กับบรรดาผู้มีอาชีพทางน้ำ ชาวประมง และคนชนบท ในภาคเกษตรกรรม รวมถึงชาวชุมชนแออัด… #79
  • พระศาสนจักรสนับสนุนการทำงานของกลุ่มผู้ส่งเสริม ‘ความยุติธรรมและสันติ’ ซึ่งมักเป็นนักบวช และฆราวาส  ที่ทำงานเกี่ยวกับการเก็บตัวอย่างน้ำ และนำไปวิเคราะห์เพื่อชี้ให้เห็นว่ากำลังเกิดมลพิษที่เป็นอันตราย  #80

มิติที่ 3 น้ำในฐานะพื้นที่

  • น้ำถือ’เป็นพื้นที่’ ประมาณร้อยละ 70 ของโลกถูกปกคลุมไปด้วยน้ำ น้ำผิวดินและชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดิน… ซึ่งไม่เพียงแยกมวลพื้นดินออกจากกัน แต่ยังเชื่อมต่อมวลพื้นดินเข้าด้วยกันอีกด้วย …และบางครั้งก็คาบเกี่ยวพรมแดนทางการเมือง #83

มลพิษทางทะเล

  • มลพิษที่เพิ่มขึ้นและสภาวะเสื่อมโทรมของมหาสมุทร   มีขยะพลาสติกในทะเล และไมโครพลาสติกในอวัยวะของสัตว์ทะเล ( รวมถึง ในอาหารทะเล)  มลพิษหลายประเภท ที่เกิดจากเรือประเภทต่างๆ ที่เดินทางในทะเล  กิจกรรมนอกชายฝั่งทะเล เรือดำน้ำ และกิจกรรมภาคพื้นดิน รวมถึงอุตสาหกรรมแร่ การขุดเจาะน้ำมัน และการสำรวจของอุตสาหกรรมขุดกลั่น  การปล่อยน้ำทิ้งที่มีสารพิษจากโรงงาน อุตสาหกรรม และสารเคมีทางการเกษตร #84  
  • การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล การสูญพันธุ์ของสัตว์ทะเล การทำลายปะการัง สาหร่ายทะเล ป่าชายเลนและแหล่งที่อยู่อาศัยอื่นๆ… นำไปสู่การสูญเสียต่อเศรษฐกิจชายฝั่ง การประมงและงานอาชีพ #84  

ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น

  • สภาวะโลกร้อน ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น… เป็นอันตรายต่อแหล่งที่อยู่อาศัยชายฝั่งและชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดิน  ต่อบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ  รวมทั้งแหล่งน้ำจืด พื้นที่ประมง และเกษตรกรรม #84

มรดกที่ต้องได้รับการคุ้มครองและส่งต่อไปสู่ชนรุ่นหลัง

  • พื้นที่ก้นทะเลและมหาสมุทร และใต้ผิวดิน ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจของประเทศ และทรัพยากรในพื้นที่นั้น เป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ ที่ต้องได้รับการคุ้มครองและส่งต่อไปยังชนรุ่นหลัง #87

สิทธิมนุษยชนของแรงงานในทะเล และผู้ที่อยู่ในภาคการเดินเรือ

  • สิทธิมนุษยชนของแรงงานทุกคนในท้องทะเล ตลอดจนผู้ที่อยู่ในภาคการเดินเรือทั้งหมด รวมถึงผู้ที่ทำงานในการกำจัดเรือจะต้องได้รับการคุ้มครอง…คนเดินเรือต้องได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่ง เป็นระยะเวลานานเพียงพอโดยไม่ตกงาน เพื่ออยู่กับครอบครัว และสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลหรือรับการช่วยเหลือทางศาสนา #92

เลิกใช้วัตถุพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และทำความสะอาดชาดหาด

  • ต้องหลีกเลี่ยงการใช้วัตถุพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ในสถานที่และกิจกรรมต่างๆ ของพระศาสนจักร  และมีส่วนร่วม ในการทำความสะอาดริมฝั่งแม่น้ำหรือชายหาด ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้   โดยจัดกิจกรรมเหล่านี้ขึ้นมา  หรือร่วมมือกับผู้ที่จัดกิจกรรมเหล่านี้… ร่วมกับกลุ่มเยาวชน ครอบครัว นักบวชและลูกเสือ เป็นต้น#99 #100

การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์แนวใหม่

  • เป็นการศึกษาแบบใหม่  ที่เน้นผลลัพธ์ให้ทุกคนดำเนินชีวิต มีประสบการณ์ทางสังคม มุ่งมั่นปฏิบัติ ในหนทางแห่งความเป็นพี่น้อง เพื่อให้เกิดความดีส่วนรวม หรือประโยชน์ผาสุกของส่วนรวม #104

การกลับใจด้านนิเวศ

  • การกลับใจด้านนิเวศ คือการฟื้นฟูความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า กับผู้อื่น กับธรรมชาติ และภายในตัวเราเอง #105  
  • การพินิจไตร่ตรองถึงสิ่งสร้าง สามารถให้บทเรียนอันล้ำค่าแก่เรา ทั้งเป็นบ่อเกิดอันถาวรของแรงบันดาลใจและความอ่อนน้อมถ่อมตน  มนุษย์มีขีดจำกัด  เพราะมนุษย์ไม่ใช่พระเจ้า  โลกอยู่ตรงนี้ก่อนเราและได้ถูกมอบให้เรา #105

ใช้ชีวิตอย่างมีสติ

  • ใช้ชีวิตอย่างมีสติ เพราะความมีสติ ช่วยให้เราหลุดพ้นจากสิ่งครอบงำ และดำเนินชีวิตอย่างมีอิสรภาพและตระหนักรู้ รวมทั้ง กระทำในสิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่เต็มไปด้วยความหมาย ด้วยการเอาใส่ใจต่อกันในชีวิตประจำวัน และกระจาย ‘วัฒนธรรมการดูแลเอาใจใส่’ ให้แทรกซึมอยู่ในสังคม #105
  • ต้องกลับเข้ามาสู่ชีวิตภายในตัวเอง เพื่อพิจารณาตรวจสอบชีวิตของเราอย่างจริงใจและจริงจัง… #105
  • พระอัยกาบาร์โธโลมิว กล่าวว่า การก่ออาชญากรรมต่อธรรมชาติ เป็นบาปต่อตัวเราเองและเป็นบาปผิดต่อพระเจ้า #105

น้ำเชื่อมความสัมพันธ์

  • น้ำมีคุณสมบัติที่ยอดเยี่ยม เป็นสะพานสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน… น้ำสามารถและควรเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เพื่อความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกัน และการทำงานร่วมกัน มากกว่าจะเป็นชนวนแห่งความขัดแย้ง#105

การทุจริต และความรุนแรงเกี่ยวกับน้ำ

  • ปัญหาทุจริตที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เป็นบาดแผลที่รุนแรงในสังคม  อาทิ การสมรู้ร่วมคิด ติดสินบน…การทุจริตทางการเมือง ในวงการธุรกิจ การสื่อสาร ในพระศาสนจักร ในองค์กรทางสังคมและขบวนการประชาชน…การทุจริตของผู้ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย   การทุจริตในการประมูล  และในการประเมินผลกระทบของโครงการ…การอนุมัติสัมปทาน…การเห็นแก่เงิน โดยละทิ้งความซื่อสัตย์และไม่รับใช้ความดีส่วนรวม #107
  • ปัจเจกบุคคลและชุมชนที่ปกป้องสิทธิของตนด้านสิ่งแวดล้อมและที่ดิน กลับถูกคุกคาม ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนและนักอนุรักษ์ธรรมชาติ พร้อมครอบครัว มักเผชิญกับความรุนแรง  “รวมถึงถูกฆาตกรรมและความรุนแรงทางเพศ ถูกใส่ร้ายป้ายสีให้เสื่อมเสีย และถูกข่มขู่ในรูปแบบต่างๆ #107

พระศาสนจักรทุกภาคส่วน เป็นประจักษ์พยานด้วยการปฏิบัติ

  • จงปฏิบัติตามพระวาจา มิใช่เพียงแต่ฟัง (…) จะ​มี​ประโยชน์อัน​ใด​ หาก​ผู้​หนึ่ง​อ้าง​ว่า​มี​ความ​เชื่อ​ แต่​ไม่​มี​การ​กระทำ #9
  • พระศาสนจักร ไม่สามารถและต้องไม่ทำตัวอยู่ข้างทาง ในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม  การประกาศข่าวดีของพระศาสนจักร ต้องไม่เป็นนามธรรม แต่ต้องมุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติเป็นรูปธรรม…  สมาชิกและองค์กรของพระศาสนจักร ต้องให้ความรู้ และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี แก่ผู้ที่ถูกปฏิเสธการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ  ถูกละทิ้ง ถูกกีดกันทางเศรษฐกิจ และถูกฆ่า#9
  • พระศาสนจักรมีภารกิจหลักในการรื้อฟื้นและส่งเสริมความสัมพันธ์สี่ระดับ ช่วยผู้คนให้คืนดีกับพระเจ้า; กับตัวเอง กับเพื่อนบ้าน และกับสิ่งสร้างทั้งมวล…  หรือเรียกว่าความสัมพันธ์ที่ยุติธรรม โดยอาศัยน้ำและประกอบด้วยน้ำ  ตามแบบฉบับของนักบุญ ฟรังซิส แห่งอัสซีซี “ผู้ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายและกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า กับผู้อื่น กับธรรมชาติ และกับตัวเอง”#10
  • การเลือกอยู่เคียงข้างคนยากจนของพระศาสนจักร  คือ อย่าจำกัดตัวเองให้เป็นคนกลางที่เป็นกลาง แต่ต้องเข้าข้างคนที่เดือดร้อนที่สุด คนที่ยากลำบากที่สุด คนที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียง คนที่สิทธิของพวกเขาถูกเหยียบย่ำหรือความพยายามของพวกเขาถูกขัดขวาง #81
  • จงเป็นคนดีเพียบพร้อมโดยการทำงานอย่างมีบูรณภาพ และมีทักษะในการรับใช้พี่น้องหญิงชายของท่าน’ (พระสันตะปาปา ฟรังซิส) #108
  • ทุกคนได้รับกระแสเรียก ในการทำงาน และมีส่วนร่วมในการดูแล จัดการทรัพยากรน้ำ ตามพระประสงค์ของพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ  “จงดำเนินชีวิตตามความประสงค์ของเรา และเป็นคนดีพร้อมเถิด (ปฐก 17: 1)” # 108

[1] ชีวนิเวศ  หมายถึง พื้นที่หรือภูมิประเทศที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ในสภาวะแวดล้อมที่มีสภาพภูมิอากาศอย่างเดียวกัน เช่น ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ และสภาพดิน โดยชีวนิเวศแต่ละแห่ง จะมีสภาพแวดล้อมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละพื้นที่  (www.trueprookpanya.com)