การเรียนคำสอนเรื่องจดหมายถึงชาวกาลาเทีย: 6. อันตรายของธรรมบัญญัติ
อรุณสวัสดิ์ลูก ๆ และพี่น้องชายหญิงที่รัก
จดหมายของเปาโลอัครธรรมทูตถึงชาวกาลาเทียรายงานความจริงที่ค่อนข้างทำให้พวกพวกเราประหลาดใจ กล่าวคือท่านตำหนิเชฟาสหรือเปโตรต่อหน้าชุมชนที่เมืองอันตีโอเกียเพราะพฤติกรรมของเปโตรเป็นที่สะดุด สิ่งใดหรือที่เกิดขึ้นอย่างร้ายแรงจนทำให้เปาโลรู้สึกจำเป็นต้องพูดกับเปโตรด้วยคำพูดที่หนักหน่วงเช่นนั้น? บางทีเปาโลอาจพูดเกินจริงไปสักหน่อยก็ได้เพราะนิสัยใจร้อนและพูดตรง พวกเราจะเห็นว่านี่ไม่ใช่เป็นเช่นนั้น ประเด็นก็คือสิ่งที่เป็นหัวใจในคำปรารภของเปาโลคือความสัมพันธ์ระหว่างธรรมบัญญัติและเสรีภาพ ซึ่งพวกเราคงจะมีโอกาสไตร่ตรองถึงเรื่องนี้กันบ่อยๆ
ในการเขียนจดหมายถึงชาวกาลาเทียเปาโลจงใจพูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งเกิดขึ้นในปีก่อนหน้านั้น ณ เมืองอันตีโอเกีย ท่านต้องการเตือนสติคริสตชนในชุมชนนั้นว่าพวกเขาจะต้องไม่ฟังนักเทศน์ที่ผิดเพี้ยนเป็นอันขาดที่สอนว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดคือต้องรับพิธีเข้าสุหนัต กล่าวคือต้องอยู่ “ภายใต้ธรรมบัญญัติ” ดังที่มีกำหนดไว้เท่านั้น พวกเราคงจำได้ว่านักเทศน์แบบสุดโต่งเหล่านั้นได้ไปที่เมืองกาลาเทียและสร้างความสับสนวุ่นวายจนทำให้ชุมชนชนนั้นไม่มีสันติสุข ประเด็นในการเป็นที่สะดุดของเปโตรคือพฤติกรรมของเขาเมื่อเขานั่งลงที่โต๊ะอาหารกับบุคคลต่างศาสนา สำหรับชาวยิวแล้วธรรมบัญญัติห้ามรับประทานอาหารกับบุคคลที่ไม่ใช่ชาวยิว ในอีกกรณีหนึ่งเปโตรไปยังบ้านของนายร้อยชาวโรมันชื่อคอร์เนลีอุส ที่เมืองเชซาเรีย ทั้งๆ ที่รู้ว่าเขากำลังทำผิดต่อธรรมบัญญัติ เปโตรจึงยืนยันดังนี้ว่า “พระเจ้าทรงแสดงให้ข้าพเจ้ารู้ว่า ข้าพเจ้าไม่ควรจะเรียกผู้ใดเป็นผู้มีมลทินหรือไม่สะอาด” (กจ. 10: 28) เมื่อเขากลับไปยังกรุงเยรูซาเล็มแล้วคริสตชนที่ได้รับพิธีเข้าสุหนัตแล้วพวกเขาถือซื่อสัตย์ต่อธรรมบัญญัติของโมเสสต่างก็พากันตำหนิเปโตรและพฤติกรรมของเขา แต่เขาป้องกันตนเองโดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าจดจำพระวาจาของพระเยซูคริสต์ที่ตรัสว่า ‘ยอห์นทำพิธีล้างด้วยน้ำ แต่พระองค์ทำพิธีล้างด้วยพระจิต’ ดังนั้นหากพระเจ้าทรงประทานของขวัญเดียวกันแก่พวกเขาดังที่พระองค์ประทานให้พวกเราเมื่อพวกเรามีความเชื่อในองค์พระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าเป็นใครกันเล่าที่จะไปขัดกับพระเจ้า?” (กจ. 11: 16-17) พวกเราคงจำได้ว่าพระจิตทรงเสด็จมายังบ้านของนายร้อยคอร์เนลีอุสขณะที่เปโตรไปที่นั้น
เรื่องในทำนองเดียวกันยังเกิดขึ้นที่เมืองอันตีโอเกีย เมื่อเปาโลไปถึงที่นั่น ประการแรกเปโตรมักจะไปร่วมรับประทานอาหารกับคริสตชนที่นับถือพระเท็จเที่ยมมาก่อนโดยไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อมีคริสตชนบางคนที่ได้รับพิธีสุหนัตมาแล้วซึ่งเดิมเป็นชาวยิวที่มาจากกรุงเยรูซาเล็มเดินทางมาถึงเมืองกาลาเทีย เปโตรไม่ต้องการที่จะก่อให้เกิดการติฉินนินทา ณ จุดนี้ ความผิดของเปโตรคือการใส่ใจกับการถูกตำหนิมากกว่า เพื่อที่จะสร้างภาพพจน์ตนเองให้แลดูดี นี่เป็นเรื่องใหญ่ในสายตาของเปาโล เพราะศิษย์คนอื่นๆ ต่างพากันกระทำตามเปโตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งบาร์นาบาส ซึ่งเป็นผู้ประกาศพระวรสารให้กับชาวกาลาเทียเอง (เทียบ กท. 2: 13) ในการกระทำดังกล่าว ทั้งๆที่ไม่อยากกระทำคือเปโตรทำตนเองไม่ชัดเจนคล้าย ๆ เป็นการสร้างภาพแบบไม่โปร่งใส จึงสร้างการแตกแยกที่ไม่ชอบธรรมภายในชุมชน “ข้าพเจ้าบริสุทธิ์ใจ… ข้าพเจ้าปฏิบัติตามกฎเกณฑ์… ข้าพเจ้าต้องทำเช่นนี้…สิ่งนี้ไม่อาจที่จะทำได้…”
ในการตำหนิของเปาโล – นี่คือหัวใจของปัญหา – เปาโลใช้คำพูดที่ทำให้พวกเราเข้าไปสู่หลักการปฏิบัติโดยฏิกิริยาของเปาโลที่ใช้คำหนัก คนตีสองหน้า (hypocrisy) เทียบ กท. 2: 13 นี่เป็นคำที่กล่าวย้ำหลายครั้ง คนตีสองหน้า พ่อเข้าใจว่าทุกคนคงเข้าใจว่าคำนี้หมายถึงอะไร… การถือตามธรรมบัญญัติของคริสตชนนำไปสู่พฤติกรรมของการตีสองหน้าที่อัครธรรมทูตเปาโลต้องการต่อสู้อย่างรุนแรงและอย่างมั่นใจ เปาโลเป็นคนเถรตรง ตัวท่านเองก็มีข้อบกพร่องก็จริงแล้วก็หลายอย่างด้วย… นิสัยของท่านดุดันน่าเกรงขาม ทว่าท่านเป็นคนซื่อตรงและชอบธรรม สิ่งใดเล่าคือการตีสองหน้า? อาจเรียกได้ว่าบุคคลที่ชอบตีสองหน้าได้ว่าเป็นการกลัวเผชิญความจริง คนตีสองหน้าเป็นคนที่กลัวความจริง เป็นการดีกว่าที่จะแสแสร้งแทนที่จะเป็นตัวตนเอง สิ่งนี้เหมือนกับเสริมสวยให้ดวงวิญญาณ เหมือนกับแต่งหน้าทาปากให้กับนิสัยของหลายคน แต่งหน้าแต่งตาเพื่อให้แลดูดี นี่ไม่ใช่ความจริง “ฉันไม่อยากปรากฏตัวอย่างที่ฉันเป็น…” ฉันจะทำให้ตัวฉันดูเป็นผู้ที่มีนิสัยดีและพฤติกรรมดี ฉันอยากจัดฉากให้ดูดี การเสแสร้งนี้มักก่อให้เกิดความอึดอัดใจที่จะพูดออกมาอย่างเปิดเผยสิ่งที่เป็นความจริง ดังนั้นพวกเราจึงมีหน้าที่ต้องพูดความจริงตลอดเวลา ทุกแห่งทุกหน แม้บางสิ่งบางอย่างอาจหลุดไปบ้าง แต่ก็ดีกว่าการซ่อนเร้นปิดบังแบบซับซ้อน การแสแสร้งนำไปสู่ความจริงเพียงครึ่งเดียว ความจริงครึ่งเดียวก็เหมือนกับการโกหกนั่นเองเพราะความจริงก็คือความจริง มิฉะนั้นความจริงก็จะไม่ใช่ความจริง ความจริงเพียงครึ่งเดียวเป็นวิธีของการกระทำที่ไม่เป็นความจริง อย่างที่พ่อเคยกล่าวไว้พวกเราชอบที่จะเสแสร้งมากกว่าที่จะเป็นตัวตนที่เป็นจริงของพวกเรา และการเสแสร้างนี้ทำให้พวกเราไม่กล้าที่จะพูดความจริงอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา ปิดบังบางอย่างเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง ดังนั้นพวกเราจึงเลี่ยงหน้าที่ กล่าวคือเลี่ยงธรรมบัญญัติที่พวกเราต้องพูดความจริงเสมอ พวกเราต้องเป็นผู้ที่รักษาความจริง ต้องพูดความจริงทุกหนทุกแห่งไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น รวมถึงในบรรยากาศที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่ในบริบทที่เป็นทางการ เชื้อไวรัสแห่งการตีสองหน้ามักจะแพร่ได้อย่างง่ายดายในสังคม การยิ้มแบบนั้น การมองแบบนั้นที่ไม่ได้มาจากใจจริง เป็นแบบการแสดงละคร เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าตนเป็นมิตรกับทุกคนแต่ที่จริงแล้วไม่ได้เป็นมิตรกับใครสักคนเดียว ขาดความจริงใจ
ในพระคัมภีร์ยังมีตัวอย่างมากมายที่มีเรื่องราวของการตีสองหน้า ประจักษ์พยานที่สวยงามในการต่อต้านการตีสองหน้าเป็นเรื่องของเอเลอาซาร์ (Eleazar) ผู้เฒ่าที่ถูกขอร้องให้แสร้งกินเนื้อที่ถวายให้กับพระเท็จเทียมเพื่อที่จะช่วยชีวิตของตนเอง ให้แกล้งทำเป็นว่าตนกินเนื้อเหล่านั้นแต่ที่จริงไม่ได้กิน หรือแกล้งทำเป็นว่าตนกินเนื้อหมู แต่เพื่อนๆ เตรียมอย่างอื่นที่ไม่ใช่เนื้อหมู ทว่าบุรุษผู้ยำเกรงพระเจ้าผู้นั้นที่ไม่ใช่เด็กอายุ 21 ปีตอบว่า “การเสแสร้างเช่นนั้นไม่คู่ควรกับอายุของฉัน มิฉะนั้นแล้วเด็กๆ จะคิดว่า เอเลอาซาร์ ผู้เฒ่าอายุ 90 ปีได้หันกลับไปนับถือศาสนาอื่น และเพราะการเสแสร้างของฉัน (การตีสองหน้า) เพื่อเห็นแก่การที่จะมีชีวิตยาวขึ้นอีกนิดหน่อย ทำให้พวกเขาหลงทางเพราะตัวฉันเอง ในขณะที่ฉันสร้างมลทินและตัดพ้อความแก่เฒ่าของฉัน (2 มคบ. 6: 24-25) เขาเป็นคนซื่อสัตย์ เขาไม่ได้เลือกหนทางของการตีสองหน้า นี่เป็นภาพอันสวยงามที่พวกเราควรนำมาไตร่ตรองเพื่อที่พวกเราจะได้ตีตนออกห่างจากการเป็นคนตีตนสองหน้า เล่นละครเก่ง เช่นเดียวกันพระวรสารเล่าถึงหลายเหตุการณ์ที่พระเยซูคริสต์ทรงตำหนิอย่างรุนแรงผู้ที่ดูเป็นคนชอบธรรมแต่ภายนอก ทำให้ตัวเองดูดี แต่ภายในนั้นเน่าเฟะไปด้วยความมดเท็จและความชั่วร้าย (เทียบ มธ. 23: 13-29) วันนี้หากพวกลูกมีเวลาหยิบพระวรสารบันทึกโดยนักบุญมัทธิวบทที่ 23 มาอ่านทบทวนและไตร่ตรองเพื่อที่จะทราบว่ามีกี่ครั้งที่พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “วิบัติแก่คนหน้าซื่อใจคด คนหน้าซื่อใจคด คนหน้าซื่อใจคด” นี่คือการตีสองหน้าแสดงให้เห็นถึงตัวตนเอง
คนที่ตีสองหน้าเป็นผู้ที่เสแสร้าง ประจบประแจง สร้างภาพเก่ง และหลอกลวง เพราะพวกเขามีชีวิตด้วยการสวมหน้ากากและไม่กล้าที่จะเผชิญกับความจริง เพราะเหตุนี้พวกเขาจึงไม่สามารถที่จะมีความรักได้อย่างแท้จริง คนตีสองหน้าไม่รู้ว่าจะรักอย่างไร พวกเขาหลงอยู่แต่ในการเห็นแก่ตัวและไม่มีความกล้าที่จะทำใจให้โปร่งใส มีหลายสถานการณ์ที่หลายคนตีสองหน้าซึ่งบ่อยครั้งจะแฝงตัวอยู่ในที่ทำงาน อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งบางคนแสดงตัวเป็นมิตรกับเพื่อนร่วมงาน แต่ขณะเดียวกันแอบแทงผู้อื่นข้างหลังเพื่อชิงดีชิงเด่น ในเรื่องของการเมืองนี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่จะพบได้กับพวกตีสองหน้าที่ดำเนินชีวิตแบบหนึ่งในที่สาธารณะและอีกแบบหนึ่งในชีวิตส่วนตัว การตีสองหน้าในพระศาสนจักรนั้นน่าชังเป็นพิเศษและก็โชคร้ายที่การตีสองหน้าก็มีอยู่ในพระศาสนจักรอย่างดกดื่นและมีคริสตชนจำนวนไม่น้อยรวมถึงผู้ที่ทำพันธกิจด้วย พวกเราไม่ควรลืมพระวาจาของพระเยซูคริสต์ “ท่านจงกล่าวเพียงว่า ’ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ ที่เกินไปนั้นมาจากปีศาจ” (มธ. 5: 37) ลูก ๆ และพี่น้องชายหญิงที่รัก วันนี้ให้พวกเราคิดไตร่ตรองเกี่ยวกับลักษณะบุคคลที่ชอบการตีสองหน้า ดังที่เปาโลประณามซึ่งพระเยซูคริสต์ทรงประณามไว้แล้วมากมาย ขอให้พวกเราอย่าได้กลัวที่จะเป็นคนตรงไปตรงมา พูดแต่ความจริง ฟังแต่ความจริง และทำตนให้เข้ากับความจริง เพื่อที่พวกเราจะได้สามารถมีความรัก คนตีสองหน้าไม่รู้ที่จะรักอย่างไร พวกตีสองหน้าเสแสร้งรักแบบปลอม ๆ การกระทำใดที่ไม่ใช่ความจริงย่อมเป็นอุปสรรคต่อความเป็นเอกภาพของพระศาสนจักรซึ่งพระเยซูคริสต์ทรงอธิษฐานเพื่อความเป็นเอกภาพนี้ ขอขอบคุณ
พระสันตะปาปาทรงทักทายประชาสัตบุรุษ
พ่อขอต้อนรับสัตบุรุษที่พูดภาษาอังกฤษ พ่ออธิษฐานภาวนาขอให้ฤดูร้อนอันเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนนี้จงเป็นเวลาที่จะฟื้นฟูชีวิตฝ่ายร่างกายและฝ่ายจิตสำหรับพวกลูกและครอบครัวของพวกลูก ขอให้ความชื่นชมยินดีและสันติสุขของพระเยซูคริสต์ประทับอยู่กับพวกลูกทุกคน ขอพระเจ้าโปรดอวยพรทุก ๆ คน
การวอนขอจากพระสันตะปาปา
เมื่อวานนี้ที่กรุงโตเกียวมีการเริ่มแข่งขันโอลิมปิกของคนพิการ พ่อขอส่งความปรารถนาดีไปยังนักกีฬาพิการทุกคน เพราะพวกเขามอบประจักษ์พยานแห่งความหวังและความกล้าหาญให้กับทุกคน ความจริงพวกเขาแสดงให้เห็นว่าการอุทิศตนเองให้กับการกีฬา ซึ่งช่วยให้พวกเขาเอาชนะต่อความยากลำบากแสนเข็นของพวกเขาได้
สรุปคำปราศรัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ลูก ๆและพี่น้องชายหญิงที่รัก ในการเรียนคำสอนของพวกเราต่อไปเกี่ยวกับจดหมายของอัครธรรมทูตเปาโลถึงชาวกาลาเทีย พวกเราเห็นว่าเปาโลสอนว่าผู้ที่ดำเนินชีวิตในพระหรรษทานของพระเยซูคริสต์จะเป็นไทจากธรรมบัญญัติของโมเสส วันนี้พวกเราจะพิจารณากันถึงการอ้างของเปาโลว่าท่านตำหนิเปโตรในเรื่องนี้ เปโตรรับประทานอาหารกับกลุ่มคริสตชนที่กลับใจจากศาสนาเท็จเทียม ทว่าเปโตรหยุดการกระทำดังกล่าวเมื่อคริสตชนที่ได้รับพิธีสุหนัตที่เดินทางมาจากกรุงเยรูซาเล็ม สำหรับเปาโลนี่เป็นรูปแบบหนึ่งของ “การตีสองหน้า” (กท. 2: 13) ซึ่งก่อให้เกิดการแตกแยกในชุมชน
การตีสองหน้าทุกประเภทเกิดจากความกลัวที่ทำให้พวกเราไม่กล้าพูดความจริงทั้งหมด นำไปสู่ชีวิตของการเสแสร้งซึ่งพวกเราพูดอย่างหนึ่งทำอีกอย่างหนึ่ง การตีสองหน้าแพร่กระจายดุจไวรัส บ่อยครั้งพวกเราจะพบการเสแสร้ง เล่นละครในที่ทำงาน ในชีวิตการเมือง และที่น่าชังที่สุดก็ในพระศาสนจักรเอง พระเยซูคริสต์สอนให้พวกเราพูด ‘ใช่’ คือ ‘ใช่’ ‘ไม่ใช่’ คือ ‘ไม่ใช่’ (เทียบ มธ. 5:37) การกระทำที่เป็นอย่างอื่นจะเป็นอุปสรรคต่อความเป็นเอกภาพภายในพระศาสนจักร ซึ่งพระเยซูคริสต์ทรงอธิษฐานภาวนาให้พวกเรามีเอกภาพ
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและไตร่ตรอง)