สาส์น ของ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ในโอกาสเทศกาลมหาพรต ประจำปี 2024
พระเจ้าทรงนำเราผ่านทะเลทรายสู่อิสรภาพ
พี่น้องที่รัก
เมื่อพระเจ้าของเราเผยแสดงพระองค์เอง สารของพระองค์มักจะเกี่ยวข้องกับอิสรภาพเสมอ: “เราคือพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน เป็นผู้นำท่านออกจากแผ่นดินอียิปต์ ให้พ้นจากการเป็นทาส” (อพย 20:2) คำเหล่านี้เป็นคำแรกของพระบัญญัติสิบประการ ที่ประทานแก่โมเสสบนภูเขาซีนาย ผู้ที่ได้ยินคำเหล่านี้คุ้นเคยกับการอพยพที่พระเจ้าตรัสถึงเป็นอย่างดี ประสบการณ์การเป็นทาสของพวกเขายังคงฝังลึกอยู่ในใจ ในทะเลทรายพวกเขาได้รับ “บัญญัติสิบประการ” เป็นถนนสู่อิสรภาพ เราเรียกคำเหล่านั้นว่า “พระบัญญัติ” เพื่อเน้นย้ำถึงพลังแห่งความรักที่พระเจ้าทรงใช้ในการหล่อหลอมประชากรของพระองค์ เสียงเรียกร้องสู่อิสรภาพเป็นเสียงเรียกร้องที่ต้องอาศัยความพยายาม ไม่ใช่สำเร็จได้ในทันที ต้องค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกับการเดินทาง เช่นเดียวกับอิสราเอลในทะเลทรายที่ยังคงยึดติดกับอียิปต์ มักจะโหยหาอดีตและบ่นต่อต้านพระเจ้าและโมเสส เช่นเดียวกันในปัจจุบัน ประชากรของพระเจ้าก็ยังคงยึดติดกับพันธนาการแห่งการกดขี่ที่พวกเขาควรจะปล่อยไว้ข้างหลัง เราตระหนักถึงความจริงข้อนี้ ในช่วงเวลาที่เรารู้สึกสิ้นหวัง เดินทางผ่านชีวิต เหมือนเดินผ่านทะเลทราย โดยไม่มีแผ่นดินแห่งพันธสัญญาเป็นจุดหมายปลายทาง มหาพรตคือเทศกาลแห่งพระหรรษทาน ที่ทะเลทรายสามารถกลับกลายเป็นสถานที่แห่งรักแรกของเราอีกครั้งตามคำทำนายของประกาศกโฮเชยา (เทียบ ฮชย 2:16-17) พระเจ้าทรงหล่อหลอมประชากรของพระองค์ ทรงทำให้เราสามารถทิ้งการเป็นทาสไว้เบื้องหลัง และประสบกับการผ่านพ้นจากความตายไปสู่ชีวิต เหมือนเจ้าบ่าว พระเจ้าทรงดึงดูดเราให้กลับมาหาพระองค์อีกครั้งด้วยการกระซิบคำรักแก่หัวใจของเรา
การอพยพจากการเป็นทาสสู่อิสรภาพ ไม่ใช่เพียงการเดินทางที่เป็นนามธรรม หากต้องการให้การเฉลิมฉลองเทศกาลมหาพรตของเราเป็นรูปธรรม ก้าวแรกคือต้องปรารถนาที่จะเปิดตาของเราให้กว้างเพื่อรับรู้ความจริง เมื่อพระเจ้าตรัสเรียกโมเสสจากพุ่มไม้ที่ลุกเป็นไฟ พระองค์ทรงแสดงให้เห็นทันทีว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้มองเห็น และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือทรงได้ยิน “เราสังเกตเห็นความทุกข์ยากของประชากรของเราในอียิปต์ เราได้ยินเสียงร้องเพราะความทารุณของนายงาน เรารู้ดีถึงความทุกข์ทรมานของเขา เราลงมาช่วยเขาให้พ้นมือชาวอียิปต์ และนำเขาออกจากแผ่นดินนั้น ไปสู่แผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์และกว้างใหญ่ ไปยังแผ่นดินที่มีน้ำนมและน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์” (อพย 3:7-8) ในทุกวันนี้ก็เช่นกัน เสียงร้องของพี่น้องของเราจำนวนมากที่ถูกกดขี่ก็ดังก้องไปถึงสวรรค์ ลองถามตัวเองว่า เราได้ยินเสียงร้องนั้นหรือไม่? มันรบกวนเราหรือไม่ มันกระตุ้นเตือนเราหรือไม่ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่คอยแยกเราออกจากกัน ปฏิเสธความเป็นพี่น้อง ที่ผูกพันเราเข้าไว้ด้วยกันตั้งแต่แรกเริ่ม
ในระหว่างการเดินทางเยือนเกาะลัมเปดูซาของพ่อ เพื่อต่อต้านกระแสเฉยเมยทั่วโลก พ่อได้ตั้งคำถามสองข้อที่ทวีความเร่งด่วนขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือ “ท่านอยู่ไหน” (ปฐก 3:9) และ “น้องชายท่านอยู่ที่ไหน” (ปฐก 4:9) เส้นทางมหาพรตของเราจะมีความชัดเจนก็ต่อเมื่อ เราหันกลับมาฟังคำถามสองข้อนี้อีกครั้ง และตระหนักว่าแม้กระทั่งทุกวันนี้ เรายังคงอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ฟาโรห์ กฎเกณฑ์ที่ทำให้เราอ่อนล้าและเฉยชา รูปแบบการพัฒนาที่แบ่งแยกและพรากอนาคตของเรา โลก อากาศ และน้ำล้วนปนเปื้อน แม้แต่วิญญาณของเราก็เช่นกัน แม้ศีลล้างบาปจะเป็นจุดเริ่มต้นการปลดปล่อยของเรา แต่ภายในเรายังคงมีแรงปรารถนาที่ไม่อาจอธิบายได้ต่อการเป็นทาส มันเป็นเสมือนกับแรงดึงดูดไปสู่ความมั่นคงในสิ่งที่คุ้นเคย ซึ่งทำให้เราสูญเสียอิสรภาพ
ในเรื่องราวการอพยพ มีรายละเอียดสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือ พระเจ้าทรงเป็นผู้เห็น ทรงเมตตา และทรงประทานอิสรภาพ มิได้รอให้ชาวอิสราเอลเป็นฝ่ายร้องขอ กษัตริย์ฟาโรห์ปิดกั้นความฝัน บดบังวิสัยทัศน์แห่งสวรรค์ ทำให้ผู้คนเชื่อว่าโลกใบนี้ที่เหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และปฏิเสธสายสัมพันธ์อันแท้จริง จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้ กษัตริย์ฟาโรห์กดขี่ทุกสิ่งเพื่อประโยชน์ของตนเอง ลองถามตัวเอง เราต้องการโลกใบใหม่หรือไม่ เราพร้อมที่จะละทิ้งการประนีประนอมกับโลกใบเก่าไหม ประจักษ์พยานของพี่น้องพระสังฆราชจำนวนมาก รวมถึงผู้ทำงานเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม ทำให้พ่อเชื่อมั่นยิ่งขึ้นว่า เราจำเป็นต้องต่อสู้กับภาวะขาดแคลนความหวังที่สกัดกั้นความฝันและเสียงร้องอันเงียบงันที่ดังไปถึงสวรรค์ และกระตุ้นพระหทัยของพระเจ้า ภาวะ “ขาดแคลนความหวัง” นี้ ไม่ต่างจากความคิดถึงสมัยเป็นทาสที่ทำให้ชาวอิสราเอลในทะเลทรายเป็นอัมพาต ไม่สามารถก้าวต่อไปได้ การอพยพนั้นถูกขัดจังหวะได้ มิฉะนั้น เราจะอธิบายความจริงที่ว่า มนุษยชาติมาถึงจุดเริ่มต้นของภราดรภาพสากล ทั้งในพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ ทางวิชาการ ทางวัฒนธรรม และทางกฎหมาย จนเราสามารถรับรองศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุก ๆ คนได้ กระนั้นเรายังคงคลำทางอยู่ในความมืดมิดของความไม่เท่าเทียมและความขัดแย้ง
พระเจ้าไม่ทรงละทิ้งเรา ให้เราต้อนรับมหาพรตดังเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่เตือนเราว่า “เราคือพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน เป็นผู้นำท่านออกจากแผ่นดินอียิปต์ ให้พ้นจากการเป็นทาส” (อพย 20:2) เทศกาลมหาพรตนี้เป็นเทศกาลแห่งการกลับใจ ฤดูกาลแห่งอิสรภาพ ดังที่เราระลึกถึงในวันอาทิตย์แรกของเทศกาลมหาพรตที่เล่าว่า พระเยซูเจ้าเองทรงได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้าไปยังถิ่นทุรกันดาร เพื่อเผชิญมารผจญด้วยจิตอิสระ ตลอด 40 วัน พระองค์ทรงยืนอยู่เบื้องหน้าเราและยืนเคียงข้างเราในฐานะพระบุตรผู้ทรงรับเอากาย ไม่เหมือนกษัตริย์ฟาโรห์ พระเจ้าไม่ทรงปรารถนาจะมีคนรับใช้ ทว่าทรงปรารถนาให้เรามีสถานะเป็นบุตรธิดาของพระองค์ ทะเลทรายนี้เป็นสถานที่ที่อิสรภาพของเราจะสุกงอม ผ่านการตัดสินใจด้วยตัวเราเอง ไม่หวนกลับไปสู่ภาวะทาสอีก มหาพรตเป็นโอกาสที่เราจะค้นพบเกณฑ์ใหม่แห่งความยุติธรรม และค้นพบชุมชนที่จะร่วมเดินไปบนเส้นทางที่ไม่เคยก้าวเดินมาก่อน
อย่างไรก็ตาม ดังที่หนังสืออพยพและการที่พระเยซูเจ้าทรงเผชิญการล่อลวงในทะเลทรายชี้ให้เห็นชัดว่าสิ่งนี้พัวพันกับการต่อสู้ดิ้นรน พระสุรเสียงของพระเจ้าผู้ตรัสว่า “ท่านเป็นบุตรที่รักของเรา” (มก 1:11) และ “ท่านต้องไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเรา” (อพย 20:3) ถูกศัตรูและคำลวงคัดค้าน ศัตรูที่น่ากลัวยิ่งกว่าฟาโรห์คือรูปเคารพที่เราสร้างขึ้นเอง ซึ่งเปรียบเสมือนเสียงของปีศาจกระซิบอยู่ในใจ เราอาจจะถูกล่อลวงด้วยอำนาจต่าง ๆ ด้วยการให้ตนเองเป็นผู้ที่อยู่เหนือผู้อื่นและปกครองชีวิตของผู้อื่น มนุษย์ทุกคนรู้ว่าคำโกหกเหล่านี้สามารถยั่วยวนใจได้มากแค่ไหน มันเป็นเส้นทางที่หลายคนได้เดินทางไปแล้ว เราอาจจะยึดติดอยู่กับเงินตรา หรือการทำสิ่งที่ตนอยากทำ แนวคิดหรือจุดมุ่งหมายต่างๆ หรือตำแหน่งของเรา ธรรมเนียมของเรา หรือเราอาจจะยึดติดอยู่กับคนอื่นๆ แทนที่มันจะทำให้เราก้าวเดินไปข้างหน้า มันกลับทำให้เรากลายเป็นอัมพาต แทนที่เราจะได้พบปะกับผู้อื่น มันกลับทำให้เรามีความขัดแย้ง ทว่า มีมนุษยชาติใหม่ ก่อร่างจากคนตัวเล็ก ๆ คนอ่อนน้อม ผู้ไม่โอนอ่อนต่อคำลวง ชนกลุ่มนี้ต่างกับผู้บูชารูปเคารพที่ไร้เสียง ตาบอด หูหนวก และเคลื่อนไหวไม่ได้ (เทียบ สดด 114:4) ผู้ยากจนทางจิตวิญญาณมีหัวใจเปิดกว้าง พร้อมรับ เป็นพลังแห่งความดีอันเงียบงันที่เยียวยาและพยุงโลกใบนี้
เทศกาลมหาพรต เป็นเวลาที่เราจะต้องลงมือทำ การลงมือทำก็หมายถึงการหยุดพักด้วย การหยุดพักเพื่อสวดภาวนา เพื่อเราจะได้รับฟังพระวาจาของพระเจ้า เช่นเดียวกับชาวสะมาเรียที่หยุดเพื่อช่วยเหลือพี่น้องที่บาดเจ็บ ความรักต่อพระเจ้าและความรักต่อเพื่อนมนุษย์เป็นสิ่งเดียวกัน การไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกเหนือจากพระเจ้า หมายถึงการหยุดพักต่อพระพักตร์พระเจ้าเคียงข้างพี่น้องที่บาดเจ็บของเรา ด้วยเหตุนี้ การภาวนา การทำทาน และการถือศีลอด จึงไม่ใช่กิจกรรมที่แยกจากกัน แต่เป็นการเคลื่อนไหวอันเดียวกันของการเปิดใจ ละทิ้งตัวตน โดยขับไล่รูปเคารพที่ถ่วงเราไว้ ความยึดติดที่คุมขังเรา เมื่อนั้น จิตใจที่หดหู่และโดดเดี่ยวจะฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ดังนั้น ชะลอฝีเท้าและหยุดพัก มิติด้านการภาวนาของชีวิตที่มหาพรตช่วยให้เราค้นพบใหม่ จะปลดปล่อยพลังใหม่ในการประทับอยู่ของพระเจ้า เราจะกลายเป็นพี่น้องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของกันมากขึ้น แทนที่จะเห็นเพื่อนเป็นภัยหรือศัตรู เรากลับค้นพบเพื่อนร่วมทาง นี่คือพระสุบินของพระเจ้า ดินแดนแห่งพันธสัญญาที่เราเดินทางไปหลังจากละทิ้งการเป็นทาสไว้เบื้องหลัง
รูปแบบซีนอดของพระศาสนจักรซึ่งเรากำลังค้นพบและพัฒนาในช่วงเวลาหลายปีนี้ ชี้ให้เห็นว่ามหาพรตยังเป็นช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจร่วมกัน การตัดสินใจเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงการตัดสินใจใหญ่ๆ ที่ทวนกระแส ผลักดันให้วิถีชีวิตของปัจเจกบุคคลและชุมชนเปลี่ยนแปลง เช่น วิธีการจัดหาสินค้า การดูแลธรรมชาติ และการพยายามรวมเอาผู้ที่ถูกลืมและถูกมองข้ามไว้ พ่อขอเชิญชวนชุมชนคริสต์ทุกแห่ง ให้จัดช่วงเวลาพิเศษสำหรับสมาชิกได้ทบทวนวิถีชีวิต ตรวจสอบบทบาทของตัวเองในสังคม และการมีส่วนร่วมเพื่อให้สังคมดีขึ้น พวกเราจะพ่ายแพ้ หากการใช้โทษบาปอย่างคริสตชนของเราสะท้อนถึงรูปแบบการใช้โทษบาปที่พระเยซูเจ้าทรงตำหนิ พระองค์ตรัสกับพวกเราเช่นกันว่า “เมื่อท่านทั้งหลายจำศีลอดอาหาร จงอย่าทำหน้าเศร้าหมองเหมือนบรรดาคนหน้าซื่อใจคด เขาทำหน้าหมองคล้ำ เพื่อแสดงให้ผู้คนรู้ว่าเขากำลังจำศีลอดอาหาร” (มธ 6:16) ตรงกันข้าม จงให้ผู้คนเห็นใบหน้าที่เบิกบาน สัมผัสกลิ่นอายแห่งอิสรภาพ และสัมผัสถึงความรักที่สร้างสิ่งใหม่ทั้งหมด เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ และกับคนที่อยู่ใกล้ชิด เราทุกคนในชุมชนคริสต์สามารถทำได้
หากมหาพรตนี้ กลายเป็นช่วงเวลาแห่งการกลับใจ ผู้คนบนโลกที่กำลังกังวลใจจะสังเกตเห็นประกายของความคิดสร้างสรรค์และแสงแห่งความหวังใหม่ พ่อขอทบทวนคำพูดที่กล่าวกับเยาวชนซึ่งได้พบกันที่ลิสบอน เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา “จงอย่าหยุดแสวงหาและพร้อมที่จะเสี่ยง ในช่วงเวลานี้ เราเผชิญกับความเสี่ยงมหาศาล เราได้ยินเสียงร้องขออันเจ็บปวดของผู้คนมากมาย แท้จริงแล้ว เรากำลังเผชิญสงครามโลกครั้งที่สามที่เกิดขึ้นทีละน้อยเป็นส่วนๆ ทว่า จงหาญกล้าที่จะมองโลกของเรา มิใช่ในแง่ความเสื่อมสลาย แต่เป็นกระบวนการแห่งการให้กำเนิดใหม่ มิใช่ใกล้จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของบทใหม่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เราต้องการความกล้าหาญที่จะคิดเช่นนี้” (ปาฐกถาแก่นักศึกษามหาวิทยาลัย, 3 สิงหาคม 2023) ความกล้าหาญนี้คือความกล้าหาญแห่งการกลับใจ เกิดจากการหนีพ้นจากทาส เพราะความเชื่อและความรักนำพาความหวังที่เหมือนเด็กน้อยจับมือเดิน สอนให้เธอก้าวเดิน ในขณะเดียวกัน เธอก็นำความเชื่อและความรักก้าวไปข้างหน้า (เทียบ CH. PEGUY “มุขแห่งธรรมล้ำลึกของจริยธรรมประการที่ 2”)
พ่อขออวยพรให้ทุกคน เดินทางอย่างดีตลอดเทศกาลมหาพรตนี้
ให้ไว้ ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2023 กรุงโรม มหาวิหารนักบุญยอห์นลาเตรัน
วันอาทิตย์แรกแห่งการเตรียมรับเสด็จพระคริสตสมภพ
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส