วันพุธ, 1 พฤษภาคม 2567
  

กิจกรรมการรณรงค์เทศกาลแห่งการภาวนาและดูแลรักษาสิ่งสร้าง (Season of Creation)

กิจกรรมการรณรงค์เทศกาลแห่งการภาวนาและดูแลรักษาสิ่งสร้าง (Season of Creation)

เริ่ม วันที่ 1 กันยายน – 4 ตุลาคม 2564

……………………………………………………………

เทศกาลการรณรงค์การภาวนาและดูแลรักษาสิ่งสร้าง (Season of creation) เริ่มวันที่ 1 กันยายนถึงวันที่ 4 ตุลาคมของทุกปี หัวข้อการรณรงค์ปี 2021 คือ “บ้านส่วนรวมสำหรับทุกคน ฟื้นฟูสิ่งสร้างของพระเจ้า” ( A home for all ? renewing Oikos of God)

– วิกฤตสภาวะอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงส่งผลต่อภาวะโลกร้อน สาเหตุเกิดจากการใช้ทรัพยากรหรือสิ่งสร้างของพระเจ้าที่เกินจำเป็นและใช้อย่างไม่เคารพ ยำเกรง

เป้าหมายของการรณรงค์ เพื่อตอบสนองต่อสมณสาส์น เลาดาโตซีที่ว่า “สิ่งสร้างโอดครวญ คนจนก็โอดครวญ” ที่ เป็นประเด็นรีบด่วน จะต้องหาทางออกในการเยี่ยวยาวิกฤตสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆเหล่านั้น ที่ต้องร่วมกันทุกภาคส่วนโดยเฉพาะคริสตชนผู้มีความเชื่อ ที่ว่าทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสร้างของพระเจ้า พระสันตะปาปาเรียกร้องให้ทุกคนเอาใจใส่ต่อวิกฤตเหล่านั้นอย่างจริงจัง

ในโอกาสเทศกาลแห่งการภาวนาและดูแลสิ่งสร้างนี้ (Season of creation) ทางเครือข่ายขับเคลื่อน Laudato Si ขอเชิญชวน ให้เพ่งพิศไตร่ตรองชีวิตอย่างลึกซึ้งโดยพิจารณาจาก บทสดุดี 24:1

          “แผ่นดินโลกกับสรรพสิ่งนั้นเป็นของพระเจ้าและทั้งพิภพและผู้ที่อยู่ในพิภพนั้น”

  กิจกรรมต่างๆที่แต่ละเขตวัดร่วมกันทำช่วงเทศกาลแห่งการภาวนาเพื่อสิ่งสร้างมีดังนี้

1. เขตวัดขุนยวม อำเภอขุนยวม (ศูนย์เรียนรู้นักบุญฟรังซิสอัสซีซี)

   คุณพ่อดุรงฤทธิ์ กระบวนศิริ เจ้าวัด คุณพ่อเจริญ นันทการ ครูทองและนักเรียนศูนย์คาทอลิกขุนยวม ร่วมกันปลูกไม้ผลต่างๆ เช่น ไม้พยุง อาโวคาโด มะขามและมะคาเดเมีย เพื่อเป็นแหล่งอาหารและเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรนิเวศให้กับเด็กนักเรียนในอนาคต

2. ศูนย์พระเมตตาอมก๋อย โดยมีคุณพ่อณรงค์ชัย หมั่นศึกษาเป็นพ่อเจ้าวัด คุณพ่อประยูร พ่อปลัด คุณพ่อสมพงษ์ ผู้ช่วยพ่อปลัด ครูคำสอน ซีสเตอร์ ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน ร่วมกันปลูกไม้ผลกินได้ เช่น อาโวคาโด โกโก้ มะขามและไม้ยางนา   

3. ศูนย์คาทอลิกแม่แตง คุณพ่ออนุชิต สมบูรณ์พูนเพิ่ม พ่อปลัดได้ร่วมปลูกไม้พยุง อาโวคาโด มะคาเดเมียและ  มะขาม

4. ศูนย์ฝึกอบรมคำสอนแม่ริม ดูแลโดยคุณพ่อสมชาย กิจนิชี พ่อเจ้าวัด บราเดอร์ประสาท หอมสนิท ทีมคุณครูและนักศึกษาครูคำสอน ร่วมกันปลูกไม้ผล เช่นเดียวกับศูนย์อื่นๆ

5. ศูนย์คาทอลิกแม่ลาน้อย ดูแลโดยคุณพ่อธงชัย วิวัฒน์เชาว์พันธ์ พ่อเจ้าวัด ซิสเตอร์ และชาวบ้านร่วมกันปลูกต้นไม้ มีทั้งไม้ผลและไม้โตเร็ว พืชผักเพื่อเป็นอาหารไว้บริโภคที่ศูนย์แม่ลาน้อย ซึ่งเป็นอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ

6. โรงเรียนเซ็นต์โยฯ ของคณะภคินีเซ็นต์ปอล ได้จัดให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้เรื่องสิ่งสร้างของพระเจ้าด้วยการปลูกต้นไม้ เนื่องในโอกาสวันแม่ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2564 มีเด็กเข้าร่วมทุกระดับชั้น

7. ชุมชนบ้านห้วยนาและแม่ลิดหลวง เขตวัดแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง ที่บ้านห้วยนานำโดยคุณพรชัย นิธิไพรจิตมาศและที่บ้านแม่ลิดหลวงนำโดยคุณวิทยา มณีพรไพร ทั้งสองหมู่บ้านปลูกไม้ผลกินได้ทั้งหมด 500 ต้น โดยเชิญคุณพ่อสมยศ เทพสมุทร ปลัดวัดแม่เหาะ ทำพิธีเสกกล้าไม้ก่อนที่จะนำไปปลูก

นอกจากปลูกต้นไม้แล้ว ยังมีการรณรงค์ให้เด็กเยาวชนและชาวบ้านทั่วไปร่วมกันบริหารจัดการขยะทั้งในชุมชนและพื้นที่สาธารณะทั่วไป

8. บ้านนาเกียน คุณพ่อศตวรรษ ใฝ่หาคุณธรรม ร่วมกับชุมชนบ้านนาเกียน อำเภออมก๋อย ปลูกต้นไม้ อาโวคาโดและมะคาเดเมีย เพราะหมู่บ้านนาเกียนตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 800 เมตรขึ้นไป อากาศเย็นตลอดทั้งปี เหมาะแก่การปลูกพืชเมืองหนาว

ที่บ้านนาเกียนนอกจากปลูกต้นไม้แล้ว ในเทศกาลแห่งการสวดภาวนาขอบคุณสิ่งสร้างของพระเจ้า (Season of creation) ชาวบ้านได้มีการสวดภาวนาตามไร่นาเพื่อขอพระเจ้าอวยพรไร่นาและขอบคุณพระเจ้าด้วย          

9. เขตวัด บ้านหนองแห้ง คุณพ่อธรรมนูญ จินดาดุจสายชล เจ้าวัด ซิสเตอร์และชาวบ้านร่วมกันภาวนาเพื่อสิ่งสร้างที่ไร่นาของตนเอง เพื่อสร้างจิตสำนึกแห่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเคารพ ยำเกรง รู้คุณค่า ใช้อย่างประหยัด ไม่ทิ้งขว้าง

ขณะเดียวกัน เขตวัดหนองแห้ง ทางคุณพ่อและชาวบ้านร่วมกันรณรงค์ให้เด็กและชาวบ้านบริหารจัดการขยะในชุมชนและพื้นที่สาธารณะต่างๆ

10. บ้านป่าหมาก เขตวัดแม่ลาน้อยก็ทำ เช่นเดียวกันกับเขตวัดหนองแห้ง เขตวัดอมก๋อยและเขตวัดอื่นๆอีกหลายพื้นที่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์นั้นคล้ายๆกัน

นอกนั้น มีชุมชนอื่นๆอีกมากที่มีการปลูกป่า ฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่ร่วมกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่ เพื่อช่วยกันดูแลสิ่งสร้างอย่างต่อเนื่องทุกปีอยู่แล้ว ที่เรายังไม่สามารถนำมาเผยแพร่ที่นี่ได้ทั้งหมด

11. แปลงพัฒนาเกษตรดอยทอง ที่แปลงพัฒนาเกษตรนิเวศ จิตวิญญาณ ดอยทอง อำเภอจอมทอง ของเครือข่ายกองบุญข้าว เป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียนที่มาเรียนในตัวอำเภอจอมทอง เช่นศูนย์พันธกิจแห่งรัก บ้านธิดารักษ์ แม่ปอนและที่อื่นๆที่สนใจ อยากเรียนรู้ นอกนั้นได้บริการกล้าไม้และกล้าพืชผักต่างๆให้ชุมชนหรือผู้ที่สนใจจะนำไปปลูก

ทางแปลงพัฒนาเกษตรนิเวศจิตวิญญาณดอยทอง ได้จัดให้มีการอบรมและศึกษาดูงานให้กับกลุ่มต่างๆดังนี้

1. กลุ่มชาวบ้านจากบ้านแม่ลิด

2. แกนนำชาวบ้าน บ้านห้วยบง อำเภอไชยปราการ

3. เสกแปลงพัฒนาเกษตรนิเวศจิตวิญญาณ

4. การศึกษาดูงานของบ้านเด็กคามิเลียน จังหวัดระยอง

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564 มีเด็กนักเรียน คุณพ่อและบราเดอร์จากบ้านคามิเลียน จังหวัดระยอง จำนวน 12 คน มี มาศึกษาดูงานเกี่ยวกับเครือข่ายกองบุญข้าว สถานที่แห่งนี้จะเป็นพื้นที่ทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และปฏิบัติพร้อมๆกัน ตามคำขวัญของวันอาหารโลกที่ว่า “การปฏิบัติอย่างจริงจังคือ อนาคตของเรา

กิจกรรมสวดตามไร่ นาถือว่าเป็นการสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นเวทีแห่งการร่วมชีวิตกลุ่มของคริสตชนและเป็นการนำความเชื่อไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง 

                            ……………………………………………

ประเด็นไตร่ตรอง: บทสดุดี 24:1

แผ่นดินโลกกับสรรพสิ่งนั้นเป็นของพระเจ้าและทั้งพิภพและผู้ที่อยู่ในพิภพนั้น

พระสันตะปาปาตรัสว่า

เราจะดูแลรักษาดินในแปลงเพาะปลูกของเราอย่างไร เพื่อเราจะได้ทำการเพาะปลูก

ได้อย่างยั่งยืน สืบทอดสู่ลูกหลานในอนาคต พระสันตะปาปาฟรังซิสตั้งคำถามให้กับบรรดาพ่อแม่ทั้งหลายว่า “เราจะมอบโลกแบบไหนให้ลูกหลานเราในอนาคต

 

รวบรวมโดย: สุนทร วงศ์จอมพร

       ฝ่ายสังคมมิสซังเชียงใหม่

27 ตุลาคม 2564