วันจันทร์, 6 พฤษภาคม 2567
  

คำปราศรัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พิธีรำลึกครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาสถาบันแห่งซีน็อดของบรรดาบิชอป

เจริญพรมายังสมเด็จพระอัยกา พระคุณเจ้า บาดหลวง และนักบวชชายหญิงที่เคารพทั้งหลาย

        ในขณะที่สมัชชาสมัยสามัญกำลังดำเนินอยู่ สำหรับพวกเราทุกคนน่าจะเป็นบ่อเกิดแห่งความชื่นชมยินดีเพื่อสรรเสริญและขอบพระคุณพระเจ้า จากสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 จนถึงสมัชชาปัจจุบัน พวกเราต่างมีประสบการณ์อันเข้มข้นกับความจำเป็น และความสวยสดงดงามแห่ง “การก้าวเดินไปด้วยกัน” (Synodality)

        ในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ข้าพเจ้าขอต้อนรับพระคาร์ดินัลโลเรนโซ บาลดีสเซรี (Lorenzo Baldisseri) เลขาธิการซีน็อด และรองเลขาธิการฯ บิชอปฟาบิโอ ฟาเบเน (Fabio Fabene) และเจ้าหน้าที่ คณะที่ปรึกษา รวมทั้งผู้ร่วมงานทุกคนในสำนักเลขาธิการเพื่อซีน็อดของบรรดาบิชอป ผู้ซึ่งทุ่มเททำงานอยู่เบื้องหลังอย่างเหน็ดเหนื่อย ข้าพเจ้าขอต้อนรับและขอบคุณคณะปิตาจารย์แห่งสมัชชา และผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านรวมถึงทุกคนที่อยู่ ณ ที่นี้ด้วย

        ณ เวลานี้เรายังปรารถนารำลึกถึงผู้ที่รับผิดชอบในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาซึ่งได้รับใช้ซีน็อดโดยเริ่มจากบรรดาเลขาธิการตามลำดับดังนี้พระคาร์ดินัลรูบิน (Władysław Rubin) พระคาร์ดินัลทอมโก้ (Jozef Tomko) พระคาร์ดินัลสก็อตต์ (Jan Peter Schotte) และอาร์ชบิชอปนิโกลา อีเตโรวิค (Nikola Eterovic) ข้าพเจ้ายังถือโอกาสนี้แสดงความกตัญญูต่อทั้งผู้ล่วงลับและผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ช่วยสนับสนุนด้วยใจกว้าง และทำงานอย่างมืออาชีพกับงานของซีน็อด

        ตั้งแต่เริ่มต้นสมณสมัยของข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นบิชอปแห่งกรุงโรม  ข้าพเจ้าพยายามที่จะเอื้ออำนวยต่อซีน็อดของบรรดาบิชอป ซึ่งนับว่าเป็นตำนานอย่างหนึ่งอันทรงคุณค่ามากที่สุดแห่งสภาสังคายนาวาติกันที่ 2  [1] สำหรับบุญราศีเปาโลที่ 6 ซีน็อดของบรรดาบิชอปหมายถึงการทำให้เกิดภาพลักษณ์แห่งสภาสังคายนา รวมถึงการไตร่ตรองถึงเจตนารมณ์และยุทธวิธี (2)  สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ทรงมองเห็นล่วงหน้าว่าการตั้งสถาบันเพื่อสมัชชา (ซีน็อด) ของบรรดาบิชอป “สมควรที่จะปรับปรุงให้เป็นไปตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป” [3] หลังจาก 20 ปีผ่านไป นักบุญจอห์น พอลที่ 2 สะท้อนความคิดดังกล่าวเมื่อพระองค์แถลงว่า “วิธีการเช่นนี้อาจต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป ความรับผิดชอบในงานอภิบาลร่วมกันอาจจะแสดงออกได้ดีกว่าในสมัชชา (ซีน็อด) ของบรรดาบิชอป” [4] ในปี 2006 พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 อนุมัติการเปลี่ยนแปลงหลายประการในเอกสารระเบียบซีน็อดของบรรดาบิชอป (Ordo Synodi Episcoporum) โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยนัยแห่งประมวลกฎหมายพระศาสนจักร (Code of Canon Law) และ ประมวลกฎหมายแห่งพระศาสนจักรจารีตตะวันออก ซึ่งมีการประกาศใช้ในขณะเดียวกัน [5]

        พวกเราต้องเดินตามเส้นทางนี้ต่อไป โลกที่พวกเราอาศัยอยู่นี้ พวกเราถูกเรียกร้องให้รักและรับใช้ แม้ว่าจะมีการขัดแย้งกัน แต่การเรียกร้องให้พระศาสนจักรเพิ่มความเข้มแข็งโดยการร่วมมือกันในทุกมิติแห่งพันธกิจ เพราะหนทางแห่งการก้าวเดินไปด้วยกันเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงมีประสงค์และคาดหวังจากพระศาสนจักรในสหัสวรรษที่สาม

—– 

        สิ่งที่พระเจ้าทรงขอร้องจากพวกเรานั้นมีอยู่แล้วในความเข้าใจบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับคำว่า “การก้าวเดินไปด้วยกัน” – ทั้งฆราวาส ผู้เลี้ยงดูแกะ (บิชอป) และบิชอปแห่งกรุงโรม – นี่เป็นความคิดแบบง่ายๆ เมื่อพูดเพียงแค่ปาก ทว่านั่นไม่เป็นสิ่งง่ายเมื่อนำลงสู่ภาคปฏิบัติ

        หลังจากการแถลงว่า “ประชากรของพระเจ้า” คือผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วทุกคนที่ถูกเรียกให้เป็น “บ้านฝ่ายจิตและเป็นสมณะผู้ศักดิ์สิทธิ์” [6]  สภาสังคายนาวาติกันที่ ครั้ง 2 กล่าวเพิ่มต่อไปอีกว่า “กายทั้งครบแห่งสัตบุรุษที่ได้รับการเจิมจากพระจิต (เทียบ 1 ยน. 2: 20, 27) ไม่สามารถหลงทางได้ในเรื่องของความเชื่อ คุณสมบัติเหล่านี้จะแสดงออกด้วยจิตสำนึกเหนือธรรมชาติแห่งความเชื่อ (sensus fidei) แห่งประชากรทั้งปวงของพระเจ้า เริ่มต้น ‘จากบิชอปจนถึงสัตบุรุษคนสุดท้ายได้แสดงถึงความเห็นพ้องต้องกันอย่างสากลในเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อและจริยธรรม” [7] วลีหนึ่งที่กล่าวถึงบ่อย ๆ คือ การไม่รู้จักผิดพลาด “in credendo” (ในหลักความเชื่อ)

        ในสมณสาส์นเตือนใจ “ความชื่นชมยินดีในพระวรสาร” (Evangelii Gaudium) ข้าพเจ้าย้ำเตือนว่า “ประชากรของพระเจ้าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งต้องขอบคุณการเจิม ซึ่งทำให้ไม่มีการผิดพลาดในข้อความเชื่อ [8] และข้าพเจ้ายังกล่าวเพิ่มว่า “ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดในพระศาสนจักร หรือมีระดับการอบรมในความเชื่อระดับใดก็ตามล้วนเป็นผู้ประกาศพระวรสาร และจะไม่เป็นการเพียงพอที่จะแสวงหาแผนการเพื่อการประกาศพระวรสารที่ต้องกระทำโดยบรรดามืออาชีพ ในขณะที่ประชาสัตบุรุษอื่นๆ เป็นเพียงแค่ผู้ที่คอยรับฟังเฉยๆ [9] จิตสำนึกแห่งความเชื่อจะห้ามมิให้แบ่งแยกอย่างแน่นอนระหว่างพระศาสนจักรฐานะผู้สอนและพระศาสนจักรฐานะผู้เรียนรู้ เพราะฝูงแกะก็มีความสามารถโดยสัญชาติญาณเช่นกันในหนทางใหม่ที่พระเยซูคริสต์ทรงเผยแสดงให้กับพระศาสนจักร [10]

        นี่เป็นความเชื่อมั่นที่ชี้ให้เห็นถึงความปรารถนาที่ประชากรของพระเจ้าควรได้รับการปรึกษาหารือในการเตรียมสองระยะแห่งซีน็อดเกี่ยวกับครอบครัว ดังที่ปกติกระทำกันในแต่ละแนวทางของลักษณะแบบสอบถาม หรือ “Lineamenta” แน่นอนว่าการปรึกษาหารือประเภทนี้จะไม่มีวันเพียงพอเพื่อที่จะเข้าใจในจิตสำนึกแห่งความเชื่อ (sensus fidei) แต่พวกเราจะสามารถพูดเกี่ยวกับครอบครัวได้อย่างไร หากพวกเราไม่รวบรวมครอบครัวเข้ามาประชุมด้วยการฟังในความชื่นชมยินดีและความหวังของพวกเขา ความทุกข์และความยากลำบากของพวกเขา? [11] โดยอาศัยคำตอบที่ได้รับจากคำถามสองลักษณะที่ส่งไปยังพระศาสนจักรต่างๆ พวกเรามีโอกาสอย่างน้อยก็ได้ฟังบางครอบครัวที่พูดถึงประเด็นที่มีผลกระทบต่อพวกเขา และเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่ฝังแน่นอยู่ในหัวใจและพวกเขาอยากที่จะระบายออกมา

        พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันเป็นพระศาสนจักรที่ต้องรับฟัง ซึ่งต้องรับรู้อย่างดีว่าการฟังนั้น “เป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าการได้ยิน” [12] นั่นหมายถึงการฟังกันและกัน ซึ่งทุกคนต่างก็มีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องเรียนรู้ ทั้งจากประชาสัตบุรุษ คณะบิชอป และบิชอปแห่งกรุงโรม ทุกคนต่างก็รับฟังซึ่งกันและกัน และทุกคนก็ฟัง “พระจิตองค์แห่งความจริง” (ยน. 14: 17) เพื่อที่จะทราบว่า “พระองค์ตรัสสิ่งใดกับพระศาสนจักร” (วว. 2: 7)

        ซีน็อดของบรรดาบิชอปเป็นจุดที่โค้งเข้าหากันของกระบวนการรับฟังที่กระทำในทุกระดับของชีวิตในพระศาสนจักร กระบวนการของสมัชชาเริ่มต้นด้วยการฟังประชากรของพระเจ้า ซึ่ง “แบ่งปันหน้าที่การประกาศพระวรสารของพระเยซูคริสต์ด้วย” [13] ตามหลักการอันเป็นที่โปรดปรานของพระศาสนจักรในสหัสวรรษที่หนึ่ง: “Quod omnes tangit ab omnibus tractari debet” กระบวนการซีน็อดจึงดำเนินต่อไปด้วยการฟังเสียงของผู้เลี้ยงดูแกะ (บิชอป)โดยอาศัยปิตาจารย์แห่งซีน็อดบรรดาบิชอปปฏิบัติตนดุจผู้พิทักษ์อย่างมีอำนาจ เป็นผู้ตีความและเป็นประจักษ์พยานแห่งความเชื่อของพระศาสนจักรทั้งมวล ซึ่งท่านเหล่านั้นจะต้องพิจารณา แยกแยะไตร่ตรองอย่างรอบคอบและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่ได้รับมาจากความคิดเห็นสาธารณะในยุคปัจจุบัน ในวันก่อนการประชุมซีน็อดปีที่แล้ว ข้าพเจ้าได้แถลงว่า “สำหรับบรรดาปิตาจารย์แห่งซีน็อด สิ่งแรกที่พวกเราวอนขอจากพระจิตคือ “ของขวัญแห่งการฟังพระเจ้า” เพื่อว่าพร้อมกับพระองค์พวกเราจะได้ยินเสียงร้องแห่งประชากรของพระองค์ ฟังเสียงของประชากรจนกระทั่งพวกเรามีความสมานฉันกับพระประสงค์ที่พระเจ้าทรงเรียกพวกเรา” [14] กระบวนการของซีน็อดจะเน้นที่การฟังบิชอปแห่งกรุงโรมผู้ทรงถูกเรียกให้ตรัสในฐานะที่ทรงเป็นทั้ง “ผู้ดูแลเลี้ยงแกะและพระอาจารย์ของคริสตชนทุกคน” [15] ไม่ใช่จากพื้นฐานแห่งความเชื่อมั่นส่วนตัว แต่ในฐานะที่ทรงเป็นประจักษ์พยานสูงสุดต่อความเชื่อของพระศาสนจักรทั้งมวล “พระองค์เป็นผู้ค้ำประกันถึงความนบนอบและความเห็นพ้องต้องกันของพระศาสนจักรต่อพระประสงค์ของพระเจ้า ต่อพระวรสารของพระเยซูคริสต์ และต่อธรรมประเพณีของพระศาสนจักร” [16]

        ความจริงที่ว่า ซีน็อดจะปฏิบัติการในลักษณะ cum Petro et sub Petro” กล่าวคือพร้อมกับเปโตรและภายใต้เปโตร แท้จริงแล้วไม่เพียงแค่จะต้องพร้อมกับเปโตรเท่านั้น แต่จะต้องภายใต้เปโตรด้วย  “นี่ไม่ใช่เป็นการจำกัดเสรีภาพ แต่เป็นหลักประกันถึงความเป็นเอกภาพทั้งของบรรดาบิชอปและของสัตบุรุษทั้งปวง” [17] ที่เชื่อมสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเด็นนี้คือความคิดเรื่อง “hierarchica communio” (ความเป็นหนึ่งเดียวกันของฐานันดรสมณะ) ดังที่นำมาใช้ในสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 บรรดาบิชอปมีความเชื่อมสัมพันธ์กับบิชอปแห่งกรุงโรม (พระสันตะปาปา) ด้วยสายสัมพันธ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันของคณะบิชอปพร้อมกับเปโตร (cum Petro) ในขณะเดียวกันฐานันดรสมณะก็ขึ้นกับพระองค์ในฐานะที่เป็นประมุขแห่งหมู่คณะคือภายใต้เปโตร (sub Petro) [18]

การก้าวเดินไปด้วยกัน (Synodality) ในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญในโครงสร้างของพระศาสนจักร ซึ่งมีกรอบแห่งการตีความที่เหมาะสมที่สุดเพื่อความเข้าใจในพันธกิจแห่งฐานันดรสมณะ หากพวกเราเข้าใจดังที่นักบุญจอห์น คริสโซสโตมกล่าว “พระศาสนจักรและการก้าวเดินไปด้วยกันมีความหมายเดียวกัน” [19] ตราบเท่าที่พระศาสนจักรไม่กลายเป็นอย่างอื่นนอกจากจะเป็นลักษณะ “การก้าวเดินไปด้วยกัน” ของฝูงแกะของพระเจ้าที่เดินไปตามหนทางแห่งประวัติศาสตร์สู่การพบปะกับพระเยซูคริสต์ แล้วพวกเราก็จะเข้าใจด้วยว่าภายในพระศาสนจักรนั้นไม่มีผู้ใดถูกยกให้ “สูงขึ้น” กว่าผู้อื่น ตรงกันข้ามในพระศาสนจักรจำเป็นที่แต่ละคนต้องทำให้ตนเอง “ต่ำลง” เพื่อที่จะบริการรับใช้พี่น้องชายหญิงในขณะที่ก้าวเดินทางไปด้วยกัน

        พระเยซูคริสต์ทรงสถาปนาพระศาสนจักรโดยมอบให้บรรดาอัครธรรมทูตเป็นผู้นำ ซึ่งอัครธรรมทูตเปโตรเป็น “ศิลา” (เทียบ มธ. 16: 18) เป็นผู้ที่ต้องทำให้บรรดาพี่น้องของตนยืนหยัดอยู่ในความเชื่อ (เทียบ ลก. 22: 32) ทว่าในพระศาสนจักรนี้ ต้องเป็นเฉกเช่น ปิรามิดกลับหัว คือยอดปิรามิดจะต้องอยู่ใต้ฐาน ผลที่ตามมาก็คือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้มีอำนาจและหน้าที่จึงถูกเรียกว่า “ศาสนบริกร” เพราะว่าในความหมายแรกเริ่มของคำนี้ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่ต่ำต้อยที่สุด เป็นการบริการรับใช้ประชากรของพระเจ้าซึ่งบิชอปทุกองค์ต้องเป็นส่วนหนึ่งแห่งฝูงแกะที่พระเจ้าทรงมอบให้ท่านดูแล ท่านเป็น “ผู้แทนของพระเบซูคริสต์ – vicarius Christi” [20] เป็นผู้ซึ่งพระเยซูคริสต์ในการเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้ายทรงก้มพระองค์ลงเพื่อล้างเท้าของอัครธรรมทูต (เทียบ ยน. 13: 1-15) และในทำนองเดียวกันผู้สืบตำแหน่งต่อจากเปโตร ท่านก็ไม่ได้เป็นผู้ใดอื่นถ้ามิใช่ผู้รับใช้ของผู้รับใช้ทั้งหลายของพระเจ้า [21]

        ขอให้พวกเราจงอย่าได้ลืมประเด็นนี้! สำหรับศิษย์ของพระเยซูคริสต์ ทั้งเมื่อวานนี้ วันนี้ และเสมอไป อำนาจหน้าที่เพียงแค่ประการเดียวคืออำนาจหน้าที่แห่งการบริการรับใช้ อำนาจเพียงแค่อย่างเดียวคืออำนาจแห่งไม้กางเขน เฉกเช่นที่พระอาจารย์ตรัสกับพวกเราว่า “ท่านต่างทราบกันดีว่าผู้ปกครองต่างศาสนาเป็นเจ้านายเหนือทุกคน และลูกน้องของเขาใช้อำนาจเหนือทุกคน ทว่าจะต้องไม่เป็นเช่นนั้นสำหรับพวกท่าน ผู้ที่ยิ่งใหญ่ในพวกท่านต้องเป็นผู้รับใช้ท่าน และผู้ที่เป็นคนที่หนึ่งในพวกท่านต้องเป็นทาสรับใช้ท่าน” (มธ. 20: 25-27) ต้องไม่เป็นเช่นนั้นในพวกท่าน ในการแสดงออกเช่นนี้พวกเราจะสัมผัสได้กับหัวใจแห่งพระธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักร และพวกเราได้รับความรู้เพื่อที่จะเข้าใจการรับใช้ในระบบฐานันดรสมณะของพวกเรา

                                                ———-

        ในพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกัน ซีน็อดของบรรดาบิชอปเป็นการแสดงออกที่เด่นชัดที่สุดแต่ประการเดียวนั่นคือพลวัตแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับการตัดสินใจทุกอย่างของพระศาสนจักร

        ระดับแรกแห่งการก้าวเดินไปด้วยกันในบางพระศาสนจักรยังไม่สู้ดีนัก เมื่อพวกเราพูดถึงสถาบันอันทรงเกียรติแห่งซีน็อดของเขตศาสนปกครอง (สังฆมณฑล) ซึ่งบาดหลวงศาสนบริกรและฆราวาสถูกเรียกร้องให้ร่วมมือกับบิชอป ประมุขของพระศาสนจักรท้องถิ่นเพื่อบรรลุถึงความดีส่วนรวมและคุณประโยชน์ของชุมชนพระศาสนจักรทั้งมวล [22] ประมวลกฎหมายพระศาสนจักรให้ความสำคัญกับประเด็นที่พวกเราเรียกว่า “ปัจจัยแห่งความเป็นหนึ่งระดับที่เสมอกัน” ในพระศาสนจักรท้องถิ่นยังต้องประกอบด้วย สภาบาทหลวง (สภาแห่งสมณะ) คณะที่ปรึกษา คณะที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพระศาสนจักร และฝ่ายการอภิบาล [23] มีเพียงแค่องค์กรเหล่านี้จะเชื่อมสัมพันธ์กับ “ฐาน” เท่านั้น แล้วเริ่มต้นจากประชากรและปัญหาในชีวิตประจำวันของพวกเขา พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันจึงจะสามารถเริ่มเป็นรูปเป็นร่างได้ นี่หมายความว่าแม้กระทั่งเมื่อพวกเขาจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่ายก็ยังจะต้องถือว่าเป็นโอกาสสำหรับการฟังและการแบ่งปัน

        ระดับที่สองคือพระศาสนจักรท้องถิ่น เขตศาสนปกครอง (สังมณฑล) และพระศาสนจักรในภูมิภาคหรือแขวง คณะปรึกษาพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาบิชอปคาทอลิก [24] พวกเราจำเป็นต้องพิจารณาไตร่ตรองว่า พวกเราจะทำให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร โดยอาศัยองค์กรเหล่านี้ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นหมู่คณะ ซึ่งบางทีอาจต้องผนึกองค์กร/หน่อยงานเข้าไว้ด้วยกันและปรับปรุงแก้ไขในบางประเด็นของระบบองค์กรดั้งเดิมของพระศาสนจักร ความหวังของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 คาดว่าองค์กรดังกล่าวจะสามารถช่วยส่งเสริมเจตนารมณ์แห่งความเป็นหมู่คณะ การเป็นเอกภาพของบรรดาบิชอปซึ่งยังขาดความสมบูรณ์พวกเรายังคงอยู่ในระยะเวลาของการเดินทางอาจเป็นแค่เดินได้เพียงส่วนหนึ่งของระยะทาง ในพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันดังที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า “ไม่เป็นการสมควรที่พระสันตะปาปาจะทำหน้าที่แทนบิชอปท้องถิ่นในการไตร่ตรองแยกแยะทุกประเด็นที่เกิดขึ้นในเขตศาสนปกครองของตน ในความหมายนี้ข้าพเจ้ารับรู้อย่างดีถึงความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริม “การกระจายอำนาจ” อันเหมาะสม [25]

        ระดับสุดท้ายคือพระศาสนจักรสากล ณ จุดนี้ ซีน็อดของบรรดาบิชอป ซึ่งเป็นผู้แทนของคณะบิชอปคาทอลิกกลายเป็นการแสดงออกถึง การเป็นหมู่คณะบิชอปภายใต้พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันอย่างเด็ดเดี่ยว [26]  ข้าพเจ้าจะแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน กล่าวคือ “การเป็นหมู่คณะบิชอป” และ “การเป็นพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันอย่างเด็ดเดี่ยว” ระดับนี้แสดงให้เห็นถึง “collegialis affective” ซึ่งในบางกรณีอาจเป็น “คณะที่มีประสิทธิภาพ” โดยร่วมมือร่วมใจเป็นเอกภาพในบรรดาบิชอปและกับพระสันตะปาปาเพื่อเห็นแก่ประชากรของพระเจ้า [27]

                                                 ———

        หน้าที่ของการสร้างพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกัน – เป็นพันธกิจที่พวกเราทุกคนถูกเรียกร้องให้ต้องช่วยเหลือกัน แต่ละคนต้องรับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ที่พระเจ้าทรงมอบให้ – มีความหมายสำคัญแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันของบรรดาคริสตชน ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการปราศรัยกับคณะผู้แทนจากสมเด็จพระอัยกาแห่งนครคอนสตันติโนเปิ้ล ข้าพเจ้าจึงกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งถึงความเชื่อมั่นของข้าพเจ้าว่า “การพินิจพิเคราะห์อย่างระมัดระวังว่าในชีวิตของพระศาสนจักรหลักการแห่งการก้าวเดินไปด้วยกัน และการบริการรับใช้ของผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือผู้นำซึ่งต้องมีความชัดเจนนั้นจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าในความสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนจักรทั้งสองแห่งของพวกเรา” [28]

        ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าในพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันจะมีแสงสว่างที่ยิ่งใหญ่กว่าซึ่งสามารถสอดส่องมายังการปฏิบัติหน้าที่ของอัครธรรมทูตเปโตร ผู้นำสูงสุดของพระศาสนจักร โดยตนเองแล้วพระสันตะปาปาไม่ได้อยู่เหนือพระศาสนจักร แต่อยู่ภายในพระศาสนจักรดุจผู้หนึ่งที่ได้รับศีลล้างบาป และอยู่ภายในหมู่คณะบิชอป ในฐานะที่เป็นบิชอปองค์หนึ่งท่ามกลางบรรดาบิชอป ซึ่งในขณะเดียวกันท่านก็ถูกเลือกให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งจากเปโตร เพื่อนำพระศาสนจักรแห่งกรุงโรม ผู้เป็นหัวหน้าในความรักเมตตาเหนือพระศาสนจักรทั้งปวง [29]

        ในขณะที่ยืนยันอีกครั้งหนึ่งถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องคิดเกี่ยวกับ “การกลับใจของพระสันตะปาปา” [30] ข้าพเจ้าพร้อมที่จะกล่าวย้ำถึงคำพูดของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอลที่ 2 “ในฐานะที่เป็นบิชอปแห่งกรุงโรม ข้าพเจ้ารับรู้อย่างดี […] ว่าพระเยซูคริสต์ทรงปรารถนาความเป็นหนึ่งเดียวกันที่สมบูรณ์ และมองเห็นได้ของชุมชนเหล่านั้น ซึ่งด้วยฤทธิเดชของพระเจ้า พระจิตของพระองค์ทรงประทับอยู่ ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าข้าพเจ้ามีความรับผิดชอบเป็นพิเศษในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรับรู้ถึงแรงปรารถนาที่อยากให้คริสตชนมีความเป็นหนึ่งเดียวกันจากชุมชนคริสตชนส่วนใหญ่ และในการฟังการเรียกร้องต่อข้าพเจ้าให้หาหนทางที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำ ซึ่งนอกจากจะไม่ปฏิเสธสิ่งที่จำเป็นต่อการทำพันธกิจแล้ว ถึงกระนั้นก็ดีก็ต้องเปิดใจกว้างสู่สถานการณ์ใหม่” [31]

        การเพ่งพิศอย่างมุ่งมั่นของพวกเราต้องขยายครอบคลุมมนุษย์ทุกคน พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันเป็นเสมือนมาตรฐานที่ถูกยกขึ้นมาท่ามกลางนานาชาติ (เทียบ อสย. 11: 12)  หรืออาจพูดได้ว่า – ในขณะที่เรียกร้องขอให้มีส่วนร่วม ขอให้มีความเอื้ออาทร และขอให้มีความโปร่งใสในการบริหารจัดการ – บ่อยครั้งชะตากรรมของมนุษย์ทั้งปวงถูกปล่อยไว้ให้กับกลุ่มชนเล็กๆ แต่มีอำนาจในฐานะพระศาสนจักรที่ “ก้าวเดินไปด้วยกัน” พร้อมกับมนุษย์ชายหญิง ซึ่งมีการแบ่งปันการเดินทางแห่งประวัติศาสตร์ ขอให้พวกเรานิยมในความฝันที่การค้นพบศักดิ์ศรีของประชากรที่มิอาจล่วงละเมิดได้ และการกระทำหน้าที่ของผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในฐานะที่เป็นการบริการรับใช้จะสามารถช่วยสังคมพลเรือนให้ถูกสร้างขึ้นในความยุติธรรมและภราดรภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดโลกที่สวยสดงดงามและมีความเป็นมนุษย์มากกว่าเพื่อชนรุ่นหลัง [32] ขอขอบคุณ

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บคำปราศรัยอันทรงพลังของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและไตร่ตรอง)

_______________________________

เชิงอรรถ

1) Cf. FRANCIS, Letter to the General Secretary of the Synod of Bishops, Cardinal Lorenzo

Baldisseri, on the elevation of the Undersecretary, Mgr Fabio Fabene. to the episcopal dignity, 1 April 2014.

2) Cf. BLESSED PAUL VI, Address for the Opening of the first Ordinary General Assembly of the Synod of Bishops, 30 September 1967.

3) BLESSED PAUL VI, Motu proprio Apostolica Sollicitudo (15 September 1965), Proemium.

4) SAINT JOHN PAUL II, Address for the Conclusion of VI Ordinary General Assembly of the Synod of Bishops, 29 October 1983.

5) Cf. AAS 98 (2006), 755-779.

6) SECOND VATICAN ECUMENICAL COUNCIL, Dogmatic Constitution Lumen Gentium (21 November 1964) 10.

7) Ibid., 12.

8) FRANCIS, Apostolic Exhortation Evangelii Gaudium (24 November 2013), 119.

9) Ibid., 120.

10) Cf. FRANCIS, Address to the Leadership of the Episcopal Conferences of Latin America during the General Coordination Meeting, Rio de Janeiro, 28 July 2013, 5,4; ID., Address on the occasion of a meeting with Clergy, Consecrated Persons and members of Pastoral Councils,

Assisi, 4 October 2013.

11) Cf. SECOND VATICAN ECUMENICAL COUNCIL, Pastoral Constitution Gaudium et Spes (7 December 1965), 1.

12) Apostolic Exhortation Evangelii Gaudium, 171.

13) SECOND VATICAN ECUMENICAL COUNCIL, Dogmatic Constitution Lumen

 Gentium, 12.

14) FRANCIS, Address at the Prayer Vigil for the Synod on the Family, 4 October 2014.

15) FIRST VATICAN ECUMENICAL COUNCIL, Dogmatic Constitution Pastor Aeternus (18 July

1870), ch. IV: Denz. 3074. Cf. Codex Iuris Canonici, can. 749, § 1.

16) FRANCIS, Address to the Third Extraordinary General Assembly of the Synod of Bishops, 18 6October 2014.

17) SECOND VATICAN ECUMENICAL COUNCIL, Dogmatic Constitution Lumen Gentium, 23. cf.

FIRST VATICAN ECUMENICAL COUNCIL, Dogmatic Constitution Pastor Aeternus, Prologue: Denz. 3051.

18) Cf. SECOND VATICAN ECUMENICAL COUNCIL, Dogmatic Constitution Lumen Gentium, 22; Decree Christus Dominus (28 October 1965), 4.

19) SAINT JOHN CHRYSOSTOM, Explicatio in Ps. 149: PG 55, 493.

20) Cf. SECOND VATICAN ECUMENICAL COUNCIL, Dogmatic Constitution Lumen Gentium, 27.

21) Cf. FRANCIS, Address to the Third Extraordinary General Assembly of the Synod of Bishops, 18 October 2014.

22) Cf. Codex Iuris Canonici, cann. 460-468.

23) Cf. ibid., cann. 495-514.

24) Cf. ibid., cann. 431-459.

25) FRANCIS, Apostolic Exhortation Evangelii Gaudium, 16. cf. ibid., 32.

26) Cf. SECOND VATICAN ECUMENICAL COUNCIL, Decree Christus Dominus, 5; Codex Iuris Canonici, cann. 342-348.

27) Cf. SAINT JOHN PAUL II, Post-Synodal Apostolic Exhortation Pastores Gregis (16 October 2003), 8.

28) FRANCIS, Address to the Delegation of the Ecumenical Patriarchate of Constantinople, 27 June 2015.

29) Cf. SAINT IGNATIUS OF ANTIOCH, Epistula ad Romanos, Proemium: PG 5, 686.

30) FRANCIS, Apostolic Exhortation Evangelii Gaudium, 32.

31) SAINT JOHN PAUL II, Encyclical Letter Ut Unum Sint (25 May 1995), 95.

32) Cf. FRANCIS, Apostolic Exhortation Evangelii Gaudium, 186-192; Encyclical Letter Laudato Si’ (24 May 2015), 156-162.