
คำนำ
หลังจากเสร็จสิ้นสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ในปี ค.ศ.1965 นักบุญพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ได้กำหนดให้มีประชุมซีนอดของบรรดาบิชอปทั่วโลกทุก ๆ 4 ปี เพื่อขับเคลื่อนพระศาสนจักรให้ก้าวหน้าทันกับยุคสมัย ในปี ค.ศ. 2023 จะเป็นกระชุมซีนอดสมัยสามัญครั้งที่ 16 พระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงตั้งหัวข้อว่า “เพื่อพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกัน: ความเป็นเอกภาพ การมีส่วนร่วม และพันธกิจ” พระองค์ทรงเน้นให้มีการรับฟังจากประชากรของพระเจ้าอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องฟังเสียงของบุคคลชายขอบสังคม เป็นการฟังเสียงของประชากรของพระเจ้าที่ร่ำร้องออกมาในความจริงแห่งความเชื่อที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งการเจริญชีวิต
ในกระบวนการรับฟังเสียงของประชากรของพระเจ้านั้นก็จะมีขั้นตอนในการออกไปซักถาม การให้ตอบแบบสอบถามในจำนวนสัดส่วนที่พอรับได้ว่าเป็นตัวแทนของประชากรของพระเจ้า แต่ถึงกระนั้นพระสันตะปาปาทรงเปิดโอกาสกว้างขวางที่สุด โดยให้ประชากรของพระเจ้าส่งข้อคิดของตนเองถึงคณะกรรมการดำเนินการซีนอดในระดับเขตศาสนปกครองท้องถิ่น(สังฆมณฑล) ระดับภาคพื้นทวีปและระดับสากลได้โดยตรง สำหรับประเทศไทยของพวกเรา ทุกเขตศาสนปกครอง (สังฆมณฑล) ได้เปิดกระบวนการในการก้าวเดินไปด้วยกัน (ซีนอด) พร้อมกันในวันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 2021 และต้องส่งผลการแสดงความคิดเห็นให้สำนักเลขาธิการสภาบิชอปคาทอลิกแห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 2022 เพื่อทำการสรุปรวมผลการประชุมซีนอดของประเทศไทย สำหรับส่งต่อไประดับภาคพื้นเอเชีย (FABC) และส่งไปยังสำนักเลขาธิการซีนอด กรุงโรม ภายในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 2022 ดังนั้นหากพี่น้องท่านใดที่ไม่ได้อยู่ในจำนวนที่ต้องตอบแบบสอบถามหรือขอข้อมูลในกระบวนการของการทำซีนอดระดับท้องถิ่น ท่านมีโอกาสแสดงความคิดเห็นของท่านโดยตรงไปที่คณะทำงานของแต่ละเขตศาสนปกครอง (สังฆมณทล) ของท่านหรือส่งมาที่สำนักเลขาธิการสภาบิชอป ฯ ภายในเวลากำหนดที่แจ้งให้ทราบแล้ว
จุดประสงค์: เพื่อให้ผู้ที่ปรารถนามีส่วนร่วมในกระบวนการซีนอดฐานะประชากรพระเจ้า และต้องการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์
ผู้ตอบคำถาม: ประชากรของพระเจ้า (ผู้ที่ได้รับพิธีล้างบาป) ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นจากมโนธรรมของตนเอง ด้วยความสำนึกในความเชื่อ และในความรับผิดชอบฐานะเป็นคริสตชนคนหนึ่ง
ลักษณะการตอบ: 1) ขอให้ท่านแสดงตนเองระบุชื่อนักบุญ ชื่อตัว นามสกุล อายุ ที่อยู่ หรือเครื่องมือสื่อสารที่ติดต่อได้ กรณีที่คณะกรรมการอาจจะขอความเห็นเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจชัดเจน แต่ขอรับรองว่าจะเก็บทุกอย่างไว้เป็นความลับ
2) ขอให้ท่านตอบคำถามจากประสบการณ์จริงที่สัมผัสได้จากคำสอนของพระเยซูคริสต์และการเป็นคริสตชน
3) ขอให้ตอบด้วยความกล้าหาญ ซื่อตรง ตามมโนธรรม ไม่ต้องระบุชื่อบุคคลที่สามที่เกี่ยวข้องแบบเฉพาะ ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายส่วนบุคคลได้
4) ท่านไม่จำเป็นต้องตอบคำถามทุกข้อ อาจเลือกบางหัวข้อที่ท่านอยากแสดงความคิดเห็น ประเด็นที่ตนเองมีประสบการณ์จริง ท่านอาจจะมีประเด็นอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในคำถามเหล่านี้ก็ได้ แต่ขอให้คำตอบเป็นลักษณะสร้างสรรค์ เพื่อความดีงามและคุณประโยชน์ของพระศาสนจักรส่วนรวม
5) ขอให้มีการสวดภาวนา ฟังเสียงของพระจิต และไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งก่อนตอบคำถาม
คำถามแบบทั่วไป:
- ประสบการณ์จริงในพระศาสนจักรท้องถิ่นที่ท่านสังกัดอยู่
- ท่านมีความชื่นชมยินดีอะไรบ้างที่พระศาสนจักรนำมาให้?
- มีความยากลำบากและอุปสรรคใดบ้างที่ท่านเผชิญ?
- ท่านเห็นความผิดพลาด บกพร่อง สิ่งไม่ดีงามใดบ้างในพระศาสนจักรที่ท่านดำเนินชีวิตอยู่?
- ท่านปรารถนาที่จะแก้ไขจุดใดบ้างในพระศาสนจักรที่ท่านสังกัด?
- การไตร่ตรองและการแบ่งปันประสบการณ์
- จากประสบการณ์ที่ท่านมี ท่านได้ยินเสียงของพระจิตก้องกังวานที่ใดบ้าง?
- พระจิตทรงขออะไรจากตัวท่าน?
- ท่านมีประเด็นใดบ้างที่เห็นชอบสนับสนุน หรือมีแนวโน้มที่อยากให้ปรับเปลี่ยน หรือข้อเสนอในขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนแปลง?
- ท่านเห็นพ้องต้องกัน ณ จุดใดบ้างเพื่อจะทำให้พระศาสนจักรท้องถิ่นเจริญเติบโตขึ้น?
- ท่านเห็นหนทางใดบ้างที่เปิดให้พระศาสนจักรท้องถิ่นของท่านก้าวเดินไปด้วยกัน?
คำถามแบบเฉพาะที่ควบคู่ไปกับประเด็นต่าง ๆ ที่ท่านควรพิจารณาไตร่ตรอง:
“การเดินทางไปด้วยกัน” จะเกิดขึ้นได้ในสองหนทางที่เชื่อมสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น ประการแรก พวกเราเดินทางไปด้วยกันในฐานะที่เป็นประชากรของพระเจ้า ประการที่สองพระจิตนำพาพวกเราเดินทางไปด้วยกันในฐานะประชากรของพระเจ้าพร้อมกับครอบครัวมนุษย์ทั้งปวง
คำถามที่ควบคู่กับหัวข้อ 10 ประเด็น ต่อไปนี้สามารถถูกนำมาใช้เป็นจุดเริ่มต้นหรือช่วยเป็นตัวชี้นำ การสนทนาและการเสวนาของพวกท่านไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แต่ในประเด็นเหล่านี้
- เพื่อนผู้ร่วมเดินทาง
ในพระศาสนจักรและในสังคม พวกเราเดินเคียงบ่าเคียงไหล่อยู่บนถนนสายเดียวกัน ในพระศาสนจักรท้องถิ่นที่กำลัง “เดินทางไปด้วยกัน” สิ่งใดบ้างที่พวกเราควรไตร่ตรอง…
- เพื่อนร่วมเดินทางในแวดวงของท่านมีใครบ้าง?
- ใครบ้างในคนเหล่านั้นที่ดูเหมือนจะเดินอยู่ห่างไกลโดยลำพัง?
- ท่านถูกเรียกร้องให้เจริญเติบโตขึ้นในฐานะที่เป็นกัลยาณมิตรได้อย่างไร?
- กลุ่มหรือบุคคลใดที่ถูกทอดทิ้งไว้เป็นบุคคลชายขอบสังคม?
2. การฟัง
การฟังเรียกร้องให้ต้องเปิดใจกว้างโดยปราศจากความลำเอียง พระเจ้าตรัสกับพวกเราโดยอาศัยเสียงของผู้ร่วมเดินทาง ท่านจึงควรไตร่ตรอง เช่น
- ท่านให้ความสนใจฟังเสียงของพระเจ้าผ่านทางบุคคลต่าง ๆ หรือไม่?
- พระศาสนจักรฟังเสียงฆราวาสดังกล่าวอย่างไร โดยเฉพาะเสียงของสตรีและเยาวชน?
- มีองค์ประกอบอะไรบ้างที่ส่งเสริมและสนับสนุนในการฟังของพวกท่าน?
- ท่านฟังเสียงของบุคคลที่ไม่มีความสำคัญอะไรในสังคมได้ดีแค่ไหนและฟังอย่างไร?
- ท่านฟังเสียงของบรรดาผู้ถวายตัว นักบวชชายหญิงด้วยหรือไม่?
- สิ่งใดเป็นอุปสรรคในการรับฟังความเห็นของท่าน โดยเฉพาะเสียงของผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากพวกท่าน?
- มีพื้นที่ใดบ้างในการฟังเสียงของชนส่วนน้อยโดยเฉพาะคนที่ยากจน คนที่ไม่มีใครเหลียวแล และคนที่ถูกตัดออกจากสังคม?
3. การพูดแสดงความเห็น
ทุกคนได้รับการเชิญให้พูดความจริงด้วยความกล้าหาญ กล่าวคือ พูดอย่างอิสระเสรี พูดความจริง และพูดด้วยความรัก ดังนั้น
- อะไรสนับสนุนหรือขัดขวางให้พูดความจริง ด้วยมุ่งหวังที่จะแสดงถึงความรับผิดชอบต่อพระศาสนจักรท้องถิ่นและสังคม?
- พวกท่านสามารถพูดถึงสิ่งที่มีความสำคัญต่อพวกท่านในฐานะคริสตชน เมื่อใดและอย่างไร?
- ความสัมพันธ์กับสื่อและสำนักข่าวท้องถิ่นเป็นอย่างไรบ้าง (ไม่ใช่เพียงแค่สื่อของคาทอลิก)?
- ใครเป็นผู้แทนชุมชนคาทอลิกและเขาจะถูกเลือกที่จะขึ้นไปพูดแทนชุมชนคาทอลิกอย่างไร?
4. การเฉลิมฉลองพิธีกรรม
“การเดินไปด้วยกัน” จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีพื้นฐานอยู่ที่การฟังซึ่งกันและกัน การฟังพระวาจาและการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท ดังนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณา เช่น
- การอธิษฐานภาวนาและจารีตพิธีกรรมสร้างแรงบันดาลใจและชี้นำชีวิตและพันธกิจในชุมชนของท่านอย่างไร?
- จารีตพิธีกรรมสร้างแรงบันดาลใจให้กับการตัดสินใจที่สำคัญอย่างไร?
- ท่านส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสัตบุรุษทุกคนในจารีตพิธีกรรมอย่างไร?
- ท่านมีพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมในพันธกิจของผู้อ่านและผู้ช่วยพิธีกรรมบ้างไหม?
5. การมีส่วนในความรับผิดชอบต่อพันธกิจร่วมกันของพวกเรา
การก้าวเดินไปดัวยกันเป็นการรับใช้พันธกิจของพระศาสนจักรซึ่งสมาชิกทุกคนถูกเรียกร้องให้ต้องมีส่วนร่วม เนื่องจากพวกเราทุกคนเป็นศิษย์ธรรมทูต ดังนั้นสิ่งที่ท่านควรไตร่ตรอง เช่น
- ผู้ที่ได้รับพิธีล้างบาปถูกเรียกให้มีส่วนร่วมในพันธกิจของพระศาสนจักรอย่างไรบ้าง?
- พันธกิจใดบ้างที่ท่านรู้สึกว่าถูกละเลย?
- ชุมชนให้การสนับสนุนอย่างไร ในฐานะผู้ที่รับใช้สังคมในรูปแบบต่างๆ (การมีส่วนร่วมในสังคมและการเมือง การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การศึกษา การส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม การปกป้องสิทธิมนุษยชน การพิทักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ฯลฯ)
- พระศาสนจักรช่วยสมาชิกเหล่านี้ให้ดำเนินชีวิตการรับใช้สังคมในลักษณะที่เป็นธรรมทูตอย่างไร?
- การไตร่ตรองเกี่ยวกับการเลือกงานธรรมทูตกระทำกันอย่างไรและโดยผู้ใด?
6. การเสวนาภายในพระศาสนจักรและภายในสังคม
การเสวนาเรียกร้องให้ต้องมีความเพียรและความอดทน ต้องทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันด้วย สิ่งที่เสนอให้ท่านไตร่ตรอง เช่น
- บุคคลที่มีความแตกต่างในชุมชนของท่านมีการมาประชุมเสวนากันในระดับไหนบ้าง?
- พระศาสนจักรท้องถิ่นของพวกท่านมีพื้นที่และเครื่องมือในการเสวนาอย่างไรบ้าง?
- ท่านส่งเสริมความร่วมมือกันกับเขตศาสนปกครองใกล้เคียง คณะนักบวชในท้องที่ สมาพันธ์ฆราวาสและกระบวนการขับเคลื่อน ฯลฯ อย่างไร?
- ความแตกต่างแห่งวิสัยทัศน์ ความขัดแย้ง และความยุ่งยากจะมีการกล่าวถึงและแก้ไขอย่างไร?
- ประเด็นพิเศษใดบ้างในพระศาสนจักรและสังคมที่ท่านคิดว่าต้องใส่ใจมากขึ้น?
- ประสบการณ์ในการเสวนาและความร่วมมืออะไรบ้างที่ท่านมีกับผู้มีความเชื่อในศาสนาอื่น ๆ และกับผู้ที่ไม่มีความเชื่อ?
- พระศาสนจักรทำการเสวนาและเรียนรู้จากภาคส่วนอื่นของสังคมอย่างไร เช่น ในบริบทของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และผู้ที่มีชีวิตอยู่ในความยากจน?
7. คริสตศาสนจักรสัมพันธ์ (ความเป็นหนึ่งเดียวกันของคริสตชน)
การเสวนาระหว่างคริสตชนนิกายต่างๆ ที่เป็นหนึ่งเดียวกันในศีลล้างบาปมีพื้นที่พิเศษในการเดินทางที่ก้าวเดินไปด้วยกัน สิ่งที่ท่านควรไตร่ตรอง เช่น
- ชุมชนแห่งพระศาสนจักรของพวกเรามีความสัมพันธ์อะไรบ้างกับสมาชิกของคริสตชนนิกายอื่น ๆ ?
- ท่านมีการแบ่งปันอะไรกันและมีการเดินทางร่วมกันอย่างไร?
- ท่านได้รับผลอะไรบ้างจากการที่พวกเราก้าวเดินไปด้วยกัน?
- ท่านมีความยุ่งยากลำบากอะไรบ้างไหม?
- พวกท่านจะมีขั้นตอนต่อไปอย่างไรในการก้าวเดินไปด้วยกัน?
8. อำนาจ (authority) และการมีส่วนร่วม
พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันเป็นพระศาสนจักรที่ทุกคนมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบ สิ่งที่ต้องไตร่ตรอง เช่น
- ชุมชนพระศาสนจักรของพวกท่านมีเป้าหมายที่ต้องปฏิบัติ มีหนทางที่จะต้องไปให้ถึง และมีขั้นตอนที่ต้องทำอย่างไรบ้าง?
- การใช้อำนาจและการปกครองในพระศาสนจักรท้องถิ่นของพวกท่านเป็นอย่างไร?
- การทำงานเป็นทีมและการรับผิดชอบร่วมกันอย่างไร?
- กระบวนการก้าวเดินนั้นมีการประเมินผลกันอย่างไรและโดยผู้ใด?
- มีการส่งเสริมพันธกิจและความรับผิดชอบของฆราวาสอย่างไร?
- พวกท่านมีประสบการณ์ของการก้าวเดินไปด้วยกันที่เป็นผลในระดับพระศาสนจักรท้องถิ่นบ้างหรือไม่ (สภาภิบาลวัด และเขตศาสนปกครอง สภาสมณะ ฯลฯ)?
- พวกท่านสามารถส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการเป็นผู้นำในการก้าวเดินไปด้วยกันให้มากยิ่งขึ้นได้อย่างไร?
9. การไตร่ตรองและการตัดสินใจ
ในลักษณะรูปแบบของการก้าวเดินไปด้วยกัน พวกเราทำการตัดสินใจโดยอาศัยการไตร่ตรองสิ่งที่พระจิตตรัสกับพวกเราโดยผ่านชุมชน สิ่งที่นำเสนอในการไตร่ตรอง เช่น
- ท่านใช้ยุทธวิธีและกระบวนการอะไรในการตัดสินใจ?
- ท่านจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร?
- ท่านจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจภายในโครงสร้างของพระศาสนจักรได้อย่างไร?
- วิธีการตัดสินใจของท่านช่วยให้ฟังประชากรทั้งมวลของพระเจ้าหรือไม่?
- ในรูปแบบของการก้าวเดินไปด้วยกัน ท่านตัดสินใจผ่านการไตร่ตรองแยกแยะสิ่งที่พระจิตตรัสผ่านชุมชนทั้งหมดของพวกท่าน ท่านใช้วิธีการและกระบวนการใดในการตัดสินใจ?
- ท่านจะปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ของการก้าวเดินไปด้วยกันได้อย่างไร?
- ท่านจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจภายในโครงสร้างแบบลำดับชั้นพระฐานานุกรมได้อย่างไร?
- ท่านมีวิธีการตัดสินใจของท่านเพื่อช่วยการรับฟังเสียงประชากรทั้งปวงของพระเจ้าหรือไม่?
- สิ่งใดคือความสัมพันธ์ระหว่างการปรึกษาหารือกับการตัดสินใจ และท่านจะนำสิ่งเหล่านี้ไปปฏิบัติได้อย่างไร?
- เครื่องมือและขั้นตอนใดบ้างที่พวกท่านใช้เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสและความรับผิดชอบ พวกท่านจะเติบโตในการแยกแยะชีวิตฝ่ายจิตของชุมชนได้อย่างไร?
10. การพัฒนาสร้างตัวตนของพวกเราเองในการก้าวเดินไปด้วยกัน
การก้าวเดินไปด้วยกันนำมาซึ่งการเปิดรับการเปลี่ยนแปลง การอบรม และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งที่ควรไตร่ตรอง เช่น
- ชุมชนพระศาสนจักรของพวกท่านสร้างบุคคลให้สามารถ “เดินไปด้วยกัน” รับฟังซึ่งกันและกัน มีส่วนร่วมในพันธกิจ และมีส่วนร่วมในการสนทนาได้อย่างไร?
- มีการเสนอรูปแบบใดเพื่อส่งเสริมการเล็งเห็นและการใช้อำนาจในลักษณะสร้างสรรค์ในการก้าวเดินไปด้วยกัน?
คณะกรรมการดำเนินการบริหารสภาบิชอปคาทอลิกฯ
ออกแบบสอบถามพื้นฐานส่วนกลาง
4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2021