จงพูดด้วยความกล้าหาญ และจงฟังด้วยความตั้งใจ

แบ่งปันเรื่องราวภายในการประชุมซีนอด

พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงทำมิสซาเปิดประชุมกระบวนการซึ่งจะนำไปสู่การประชุมซึ่นอด วันที่ 10 ตุลาคม 2021

        ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมในการเตรียมสำหรับสิ่งที่เรียกกันว่า “ซีนอดแห่งการก้าวเดินไปด้วยกัน” สำนักเลขาธิการแห่งคณะกรรมการชีวิตฝ่ายจิตของซีนอดได้จัดให้มีการประชุมกันของบรรดาหัวหน้าของคณะนักบวชที่อยู่ในกรุงโรม ณ หอประชุมใหญ่แห่งคูเรียคณะนักบวชเยซุอิต ที่ถนนบอร์โก ซางโต สปีริโต (Borgo Santo Sprito) บรรดาเจ้าคณะนักบวชต่างพากันมารวมตัวเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งมี คณะเยซุอิต คณะมาริสต์ คณะคลาเรเทียน คณะเอวดิส และ คณะซาเลเซียน (Jesuits, Marists, Claretians, Eudists and Salesians) และยังมีคณะนักบวชโดมินิกัน (Dominicans) รองเจ้าคณะนักบวชออกัสติน (Augustinians) และมหาธิการคณะเบเนดิกติน (Benedictine) ฯลฯ พร้อมกับหัวหน้าคณะนักบวชชายหญิงทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นคณะที่ใช้ชีวิตในการเพ่งพิศ คณะแพร่ธรรม หรือคณะแห่งพระพรพิเศษของพระจิต (charismatic) ท่านเหล่านั้นต่างก็รวมตัวอย่างเป็นเอกภาพมาทำอะไรกันหรือ? ท่านเหล่านั้นมารวมตัวกันเพื่อที่จะแบ่งปันประสบการณ์จากธรรมประเพณีอันหลากหลายแห่งการก้าวเดินไปด้วยกัน และการไตร่ตรองร่วมกัน หรือพูดง่ายๆ คือว่า เพื่อพิจารณาดูว่าคณะนักบวชชายหญิงต่างๆ พวกเขาตัดสินใจกันอย่างไร เลือกผู้นำกันอย่างไร และฟังเสียงพระจิตที่เตือนสติให้พวกเขาพร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

        ในขณะที่ผู้นำคณะนักบวชอยู่ที่กรุงโรมวันที่ 9-10 ตุลาคม ค.ศ. 2021 เพื่อร่วมพิธีเปิดการประชุมซีนอด ข้าพเจ้าทราบข่าวการชุมนุมพิเศษของคณะนักบวชนี้จากผู้ที่มีความเกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง ซึ่งในบรรดาเขาเหล่านั้นมีบรรดาสตรีเป็นหน้าตาและซุ่มเสียงแห่งซีนอด มีสิ่งใดบ้างที่เป็นสีสันของการประชุมซีนอด ซิสเตอร์นาตาลี เบ็กการ์ (Sr. Nathalie Becquart) ชาวฝรั่งเศสแห่งคณะซาเวรี (Xaverian) แบ่งปันกับข้าพเจ้าว่า แต่ละคณะบักบวชต่างก็พัฒนากลไกที่แตกต่างกันในความเห็นพ้องต้องกันในการตัดสินใจของคณะนักบวช – อาจด้วยมาตรการชั้นสูงในรูปแบบของ “การประชุมใหญ่” ของคณะนักบวชหรือคณะฤษีนักพรต หรือโดยอาศัยการไตร่ตรองของกลุ่มที่ค่อยๆพัฒนาขึ้น อย่างเช่นคณะเยซุอิต วิธีการและธรรมเนียมปฏิบัติอันหลากหลายนั้นมากมายเหลือเกิน ทว่าก็เป็นไปตามแนวทางที่ชัดเจนแห่งอำนาจและความนอบน้อมในคณะนักบวชส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นปัจจัยสองประการที่พวกเขาทุกคนดูเหมือนจะมีร่วมกันอย่างแท้จริง

        ประการแรกคือการไตร่ตรองและการตัดสินใจนั้นถือว่าเป็นเรื่องราวของทุกองค์กร ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่บางสถาบันที่มีหน้าที่ในการปกครอง ในคำปราศรัยอันทรงพลังในการประชุมซีนอดเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2015 พระสันตะปาปาฟรานซิสอ้างอิงถึงสุภาษิตโบราณ: “Quod omnes tangit, ab omnibus tractari et approbari debet” กล่าวคือ สิ่งที่มีผลกระทบต่อทุกคนควรที่จะมีการอภิปราย และได้รับความเห็นชอบจากทุกคน เพราะว่า ดังที่นักบุญเบเนดิกต์ตั้งข้อสังเกตไว้ในพระวินัยของคณะนักบวชเบเนดิกติน ในศตวรรษที่ 7 ว่า บางครั้งพระเจ้าตรัสกับบุคคลที่เยาว์วัยที่สุดในคณะนักบวช การทำให้เกิดการมีส่วนร่วมหมายถึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษต่อพวกที่ดูเหมือนจะไร้คุณค่า ต่อสถานที่ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ต่อผู้ที่อยู่ข้างนอกสถานการณ์

        ประการที่สองคือเรื่องของการปรึกษาหารือ และการตัดสินใจจะต้องไม่แยกออกจากชีวิตแห่งการสวดภาวนา แต่จะต้องเป็นเรื่องแห่งชีวิตภายใน (intrinsic) ทัศนคติแห่งการตัดสินของชุมชนคือการฟังผู้อื่นด้วยความตั้งใจ การรู้จักการเงี่ยหูฟังเสียงกระซิบของพระจิตแม้จากปากของบุคคลที่พวกเราไม่ชอบหรือไม่เห็นด้วย ดังนั้นสิ่งนี้เรียกร้องให้พวกเราต้องให้เวลากับทุกคนในมาตรการที่เท่าเทียมกัน เพื่อที่จะพูดออกมาด้วยความซื่อสัตย์และด้วยความกล้าหาญ แต่จะไม่ได้ไปขัดขวางผู้อื่นด้วยความคิดของตัวเราเท่านั้น เพื่อที่จะนั่งอย่างสันติสุขในความเงียบโดยเปิดใจกว้างพร้อมที่จะรับฟัง เพื่อที่พวกเราจะได้สามารถฟังคำพูดที่ไม่ค่อยจะมีใครพูดกันและบางครั้งถูกปกปิดเอาไว้ การก้าวเดินไปด้วยกันเรียกร้องให้พวกเราต้องเข้าใจว่าพวกเราไม่ได้เป็นเจ้าของความจริง แต่บางครั้งเมื่อพวกเราระงับอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว และวาระของพวกเราที่ครอบงำตัวพวกเรา จะทำให้พวกเราเริ่มมองเห็นถึงความคิดที่แสนจะแคบของตัวเอง หรือคิดว่าตัวเองฉลาดกว่าคนอื่น และจะเริ่มเห็นคุณค่าของผู้อื่น

        สรุปก็คือการมีส่วนร่วมและการฟังพร้อมกับการสวดภาวนาเป็นจุดเด่นแห่งคณะนักบวช ในลักษณะ “modus vivendi, operandi et cogitandi” (วิธีการดำเนินชีวิต วิธีการกระทำ และวิธีการเรียนรู้) นี่คือการก้าวเดินไปด้วยกันที่ต้องถูกนำมาใช้ในการเลือกของพระศาสนจักรตั้งแต่บรรดาอัครธรรมทูตขอให้พระเจ้าเผยแสดงในหัวใจของพวกเขา พวกเขาทราบว่าผู้ใดควรที่ที่จะมาแทนที่ยูดาสผู้ทรยศ วิธีการถูกนำมาใช้เพื่อก้าวข้ามปัญหาและความขัดแย้งตั้งแต่สมัยที่ “คำถามของชาวยิว” คุกคามมุ่งที่จะโจมตีพระศาสนจักรให้แตกแยกออกเป็นส่วน ๆ ในหนังสือกิจการอัครสาวก บทที่ 15 เล่าว่าในสภาสังคายนาแห่งกรุงเยรูซาเล็ม ประชาชน ผู้อาวุโส และบทบาทของพระจิต ทุกคนต่างพากันไตร่ตรองหาหนทางใหม่สำหรับพระศาสนจักรที่ประกาศโดยเปโตรด้วยคำพูดอันเป็นอมตะว่า “นี่ดูเหมือนเป็นการท้าทายต่อพระจิตและต่อพวกเรา

        ทว่าด้วยเหตุผลแห่งประวัติศาสตร์ – การคอรัปชั่นจากโลกีย์วิสัย การเหลิงตัวเองหลงอยู่กับอำนาจ การพัวพันกับเรื่องของอาณาจักร ยศตำแหน่งของตนเอง – การก้าวเดินไปด้วยกันถูกบีบให้กระเด็นออกไปจากพระศาสนจักร ทำให้โครงสร้างแห่งอำนาจแท้จริงดูจะขาดหายไปดุจที่พวกเราพบในหนังสือกิจการของอัครสาวก และดูเหมือนจะเป็นลักษณะแบบเผด็จการราชาธิปไตย เป็นโครงสร้างที่เข้ามาครอบงำโลกสมัยใหม่

        บัดนี้ไม่จำเป็นต้องบอกผู้ใดว่าเรื่องนี้จะนำพาเราไปถึงไหน ในช่วงเช้าของวันที่ข้าพเจ้าพบกับรองเลขาธิการแห่งซีนอดคือซิสเตอร์นาตาลี เบ็กการ์ (Sr. Nathalie Becquart) บรรดานักหนังสือพิมพ์ต่างพากันประโคมข่าวเกี่ยวกับการรายงาน 2,500 หน้าของ ฌอง-มาร์ค โซเว (Jean-Marc Sauve) ที่ได้รับฉันทานุมัติจากสภาบิชอปแห่งฝรั่งเศส ขอให้สำรวจการล่วงละเมิดเพศที่กระทำโดยบรรดาสมณะและนักบวช ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 เป็นต้นมา ตัวเลขนั้นน่าตกใจมาก การพาดหัวข่าวและการอ้างอิงเต็มไปด้วยคุณศัพท์ที่ทำให้ทั้งตกตะลึงและน่าอับอาย แต่ข้าพเจ้ารู้สึกตกใจในจังหวะของการออกข่าวเพียงไม่กี่วันก่อนที่จะเปิดการประชุมซีนอด และวิธีการที่มีการพูดถึงสิ่งที่เรียกกันว่า “การมอบความศักดิ์สิทธิ์จนเกินไปให้กับผู้ที่เป็นสมณะ” หรือ บรรพชิตนิยม (Clericalism) – การเคารพบูชาบรรพชิตจนเกินไป การเคารพบูชาสถาบันจนสุดโต่ง การใช้อำนาจของพระศาสนจักรไปในทางที่มิชอบ – ถูกนำมาตีแผ่อีกครั้งหนึ่ง และนี่ไม่เป็นเพียงแค่การเป็นการทรยศของบรรพชิต (Trahison des clercs) ในครั้งนี้เท่านั้น แต่ทรยศกับฆราวาสเช่นเดียวกัน เป็นโรคระบาด เป็นวัฒนธรรมผิดเพี้ยนอย่างเป็นระบบ “ของการใช้อำนาจของพระศาสนจักรไปในทางที่มิชอบ” ดังที่โซเวกล่าวซึ่งดูเหมือนจะถูกสร้างขึ้นในโครงสร้างแห่งพระศาสนจักรคาทอลิกด้วย

        ในพระศาสนจักรที่ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ต้องขอให้พระจิตจะเป็นผู้นำของเราทุกคน ทั้งศาสนบริกร บาดหลวงและบิชอปท่ามกลางบรรดาประชากรของพระเจ้า ไม่ใช่จะใช้อำนาจของพระศาสนจักรแบบผิด ๆ หลงตัวเองครอบงำพวกเขา

        ณ ร้านกาแฟชื่อ “caffe lungo” ที่อยู่ตรงกันข้ามกับสำนักงานใหญ่ซีนอด เลขที่ 34 ถนนคอนซีลีอาซีโอเน (Via della Conciliazione) ซิสเตอร์เบ็กการ์ ( Sr. Nathalie Becquart) ก็ได้รับรายงานของโซเวด้วย เธอกล่าวว่า “การกลับใจอย่างแท้จริงในเชิงการก้าวเดินไปด้วยกัน” หมายความว่า พวกเราไม่อาจที่จะมีพระศาสนจักรที่ปล่อยให้วัฒนธรรมแห่งการเป็นเจ้านายทำให้พวกเราต้องอับอายด้วยรายงานดังกล่าว ต้องเป็นพระศาสนจักรที่ฟังเสียงของประชากรธรรมดาสามัญ และยอมรับว่าตนเองก็มีหน่วยผู้กระทำการตัวแทน –  เป็นศิษย์ธรรมทูตที่แตกต่างจากการเป็นบรรพชิตโดยหน้าที่ แต่ว่าพวกเขาเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรี – ซึ่งจะต้องไม่เป็นพระศาสนจักรที่ปล่อยปะละเลยอีกต่อไป หรือทำเป็นคนตาบอดในการใช้อำนาจชอบสั่งการหรือใช้มโนธรรมในทางที่ผิด ซึ่งเป็นการเอารัดเอาเปรียบในเรื่องทางเพศกับผู้ที่อ่อนแอเปราะบาง

        พระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสในห้องประชุมซีนอด เมื่อวันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม 2021 ว่า “ไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างอีกพระศาสนจักรหนึ่ง” พระองค์อ้างอิงคำพูดของอีฟส์ คองการ์ (Yves Congar) เรื่อง “ความถูกและผิดในการปฏิรูปพระศาสนจักร” (True and false reform in the Church) หน้าที่คือ “การสร้างพระศาสนจักรที่แตกต่างออกไป” พระศาสนจักรที่ต้องคำนึงถึงคำสอนจากสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ในพระธรรมนูญ “Lumen gentium” พระศาสนจักรคาทอลิกที่ก้าวเดินไปด้วยกันยังคงเป็น “communio hierarchica” (ความเป็นหนึ่งเดียวกันแห่งหลั่นชั้นหน้าที่หรือฐานันดร) แต่จะไม่มีการใช้อำนาจในท่วงทีของผู้มีอำนาจสั่งการที่อยู่ห่างไกล การเป็นผู้นำกลายเป็นลักษณะ “การร่วมกัน” เป็นเรื่องราวของการร่วมมือกันและการรับผิดชอบร่วมกัน    ซิสเตอร์นาตาลี เบ็กการ์ ซึ่งทำงานเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปพระศาสนจักรและความร่วมมือในพระศาสนจักรมาหลายปี เธอกล่าวว่านี่เกิดขึ้นง่ายกับคนหนุ่มสาว เธอเรียกพวกเขาเหล่านี้ว่าเป็น “ชนรุ่นใหม่ที่ร่วมมือกัน” ในพระศาสนจักรที่มีความรับผิดชอบร่วมกันพระจิตจะทรงเป็นผู้นำทางให้กับพวกเรา ทั้งบาดหลวงและบิชอปจะอยู่ท่ามกลางประชากรของพระเจ้าไม่ใช่การใช้อำนาจเพื่อครอบงำพวกเขา เพราะนี่เป็นพระศาสนจักรที่สถาปนาโดยพระเยซูคริสต์ซึ่งจะต้องสะท้อนให้เห็นถึงพระองค์ พระศาสนจักรต้องไม่หลงผิดอีกต่อไป ต้องไม่เป็นระบบบรรพชิตนิยม แต่ต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยกันกับประชากรของพระเจ้าทุกคน

        สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับตัวข้าพเจ้าเองเหมือนกัน ฐานะนักประวัติศาสตร์เมื่อมองเหตุการณ์ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 2021 ก็เห็นสิ่งเป็นที่สะดุดและพฤติกรรมที่น่าวิตกมากมาย พร้อมกับบอกพวกเราว่าพระสันตะปาปาจากคณะนักบวชเยซุอิต – ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากซิสเตอร์ธรรมทูตชาวฝรั่งเศสคณะซาเวเรียนผู้มีไฟแรงคนหนึ่ง – ทรงกระทำการปฏิรูปอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่การปลุกธรรมประเพณีแห่งการก้าวเดินไปด้วยกันของพระศาสนจักรให้ตื่นขึ้นจากการนอนหลับอย่างไร เมื่อหันไปมองการปฏิรูปพระศาสนจักรของพระสันตะปาปาเกรโกรี ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ซี่งได้รับแรงบันดาลใจจากอารามฤษี หรือการปฏิรูปของคณะนักบวชฟรันซิสกันแห่งศตวรรษที่ 13 หรือ คณะนักบวชเยซุอิตที่มีการปฏิรูปแบบซ้ำซ้อน นักประวัติศาสตร์จะเห็นบทใหม่แห่งเรื่องราวเก่าที่เกิดซ้ำอีกบ่อยครั้งตลอดประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร แล้วก็เรื่องราวของคณะนักบวชที่เข้ามากอบกู้พระศาสนจักรในเขตศษสนปกครองต่าง ๆ (สังฆมณฑล) ที่เต็มไปด้วยวิกฤติมากมาย

        ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจถ้าหากบิชอป ประมุขพระศาสนจักรและเจ้าวัดทั้งหลายของพวกท่าน ดูเหมือนจะออกอาการหงุดหงิดที่ต้องผ่านกระบวนการแห่งซีนอดใหม่นี้โดยพยายามสุดความสามารถที่จะสะบัดให้กระบวนการปฏิรูปให้หลุดพ้นไป อย่างไรก็ตามพระศาสนจักรส่วนใหญ่ที่ยังมีเคลิ้มอยู่กับโลกีย์วิสัยอยู่มากในสมัยนั้นก็มีการตอบสนองต่อการปฏิรูปจากพระสันตะปาปาเกรโกรี

        ข้าพเจ้าประหลาดใจพร้อมด้วยความกตัญญูที่ได้รับเชิญให้เข้าสู่ห้องประชุมซีนอดในเช้าของวันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม 2021 พร้อมกับบรรดาพระคาร์ดินัลหมวกแดงและคณะบิชอปจากเขตศาสนปกครอง (แต่ละทวีปได้รับการขอร้องให้ส่งผู้แทน 10 ท่าน) พร้อมกับสมาชิกคณะนักบวชนักบวชชายหญิง และฆราวาสอีกจำนวนมาก ซึ่งหลายคนยังหนุ่มสาวอยู่  ที่เก้าอี้เท้าแขนจะมีไมโครโฟนและหูฟังสำหรับบิชอปเพื่อใช้ในการขอให้ “พูดอย่างกล้าหาญและฟังด้วยความตั้งใจ” ดังที่พระสันตะปาปาฟรานซิสแนะนำให้พวกเขากระทำเมื่อเริ่มต้นการประชุมซีนอดเรื่องครอบครัวในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2014

        แม้จะเป็นสัปดาห์ที่งานหนักมากพระสันตะปาปาก็ทรงอยู่ในสภาพคล่องแคล่วตลอดเวลาพระองค์ทรงเตือนใจพวกเราว่า การประชุมซีนอดไม่ใช่เป็นเหมือนรัฐสภาหรือเป็นเพียงแค่การสำรวจความคิดเห็น แต่เป็น “เหตุการณ์ของพระศาสนจักรซึ่งพระเอกของการประชุมก็คือพระจิต” พระองค์ทรงเจียดเวลากล่าวถึงเทววิทยาเกี่ยวกับพระศาสนจักร (Ecclesiology) แห่งสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 โดนเน้นว่า: คำที่เป็นกุญแจดอกสำคัญของซีนอดนี้คือ ความเป็นเอกภาพ การมีส่วนร่วม และการทำพันธกิจ ซึ่งเป็นแก่นแท้ภายในของพระศาสนจักรที่เกิดจากสภาสังคายนาวาติกันที่ 2  สองคำแรกจะไตร่ตรองถึงชีวิตของพระตรีเอกภาพ คำที่สามจะไตร่ตรองถึงหน้าที่การแพร่ธรรมในโลกของพวกเราทุกวันนี้

        พระสันตะปาปาฟรานซิสก็หวนกลับไปพูดถึงคำพูดที่เป็นกุญแจสำคัญอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ตรัสว่าหากปราศจากซึ่งการมีส่วนร่วม การก้าวเดินไปด้วยกันก็จะเสี่ยงที่จะกลายเป็นนามธรรมและ “การพูดคุยเรื่องความเป็นเอกภาพก็จะกลายเป็นเพียงการพูดการฟัง – ในที่สุดการก้าวเดินไปด้วยกันก็จะเป็นเรื่องเพียงแค่บนกระดาษ หรือเอกสารหรู พระองค์ตรัสว่าการมีส่วนร่วมไม่ใช่เป็นเรื่องของรูปแบบ แต่เป็นเรื่องของความเชื่อ สิ่งที่เกิดขึ้นในพิธีล้างบาปคือการประทาน “ศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันแห่งบุตรของพระเจ้า” ในความหลากหลายแห่งพระพรและพันธกิจ

        ทว่า 50 ปี หลังจากสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงทราบว่าสิ่งที่กำหนดไว้ในสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ พระองค์กล่าวว่า “ยังคงมีการต่อต้านอยู่ [fatoca]”  เมื่อรับรู้ว่า “ความผิดหวังและการทนไม่ไหวที่รู้สึกได้ในบรรดาผู้อภิบาล สมาชิกของคณะที่ปรึกษาแห่งเขตศาสนปกครองและวัด รวมทั้งบรรดาสตรีที่บ่อยครั้งอยู่ตามชายขอบสังคม” พระองค์จึงเพิ่มว่าการมีส่วนร่วมของทุกคนจึงเป็น “หน้าที่จำเป็นของพระศาสนจักร” ข้าพเจ้ารู้สึกสะกิดใจในคำที่ว่า: เป็นหน้าที่ของพระศาสนจักรที่ต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วม การขาดการมีส่วนร่วมแห่งประชากรของพระเจ้าเป็นผลที่ไม่ใช่การลังเล การอาย หรือการเฉื่อยชาของพวกเขา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า บ่อยครั้งพระศาสนจักรไม่ยอมเปิดโอกาสให้พวกเขา ต่อมาในคำปราศรัยเมื่อพูดถึงพระหรรษทานแห่งกระบวนการของการก้าวเดินไปด้วยกันทั่วโลก พระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสว่า: นี่คือโอกาสที่จะต้องรีบคว้าเอาไว้ “ไม่ใช่ทำกระบวนการซีนอดแบบฉาบฉวย หรือจะต้องยึดติดยู่ในโครงสร้างเลยทีเดียว” ในทิศทางแห่งพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันซึ่งพระองค์ให้คำจำกัดความว่าเป็น “เวทีเปิดที่ทุกคนรู้สึกเป็นกันเองและมีส่วนร่วมแท้จริง

        การวิเคราะห์นี้ไม่ได้มีในคำปราศรัยอื่น ซึ่งจะเน้นไปที่การเชื้อเชิญให้เข้ามาส่วนร่วม แต่ละเลยข้ามการพูดถึงอุปสรรคของพระศาสนจักรที่จะกระทำเช่นนั้น “ประชากรทุกคนของพระเจ้าถูกเรียกร้องเป็นครั้งแรกที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมการประชุมซีนอดของบรรกาบิชอป” คริสตินา อีโนเกส ซานซ์ (Christina Inoges sanz) นักเทววิทยาชาวสเปนกล่าว “และที่ถูกรวมอยู่ในการเชื้อเชิญด้วย คือพวกที่ไม่รู้จักฟัง ที่พ้นจากการสังเกตของพวกเราไปโดยไม่รู้ว่าพรรคพวกไปไหน – พวกนี้ก็เช่นเดียวกันที่ได้รับเชิญเพื่อที่พวกเราจะได้ฟังเสียงของพวกเขา เพื่อที่พวกเขาจะส่งเสียงถึงสิ่งที่พวกเขาไตร่ตรองให้พวกเราทราบเกี่ยวกับความกังวลและความเจ็บปวดของพวกเขา” ประธานผู้กำกับการประชุมซึ่งได้แก่พระคาร์ดินัลฌอง โคด ฮอลล์ริค (Jean-Claude Hollerich) คณะนักบวชเยซุอิตจากประเทศลักแซมเบอร์ก (Luxembourg) ที่รับหน้าที่ในการบันทึกเสียงจากที่ประชุมกล่าวว่า กระดาษบันทึกเอกสารทำงานยังว่างอยู่และท่านก็ไม่ทราบว่าจะเขียนอะไรลงไปในรายงาน ซึ่ง “ขึ้นอยู่กับท่านที่พวกท่านจะทำให้หน้ากระดาษรายงานเหล่านั้นเต็ม” ท่านบอกพวกเราโดยย้ำว่า “ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ยากจนที่สุด คนที่ไม่มีปากเสียง คนที่อยู่ตามชายขอบสังคม”  แต่ไม่มีใครตั้งข้อสังเกตในคำถามว่าจะต้องทำอย่างไร พระสันตะปาปาฟรานซิส กล่าวด้วยความสุภาพว่า: โครงสร้างของพระศาสนจักรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อที่จะเอื้ออำนวยในการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

        การก้าวเดินไปด้วยกันและความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งคู่กัน ซึ่งจะทำให้การไตร่ตรองเกิดผลมากกว่า ดังที่พระสันตะปาปาฟรานซิสเพิ่งตรัสกับพวกเราว่า “ต้องเป็นรูปแบบของพระเจ้า ซึ่งได้แก่ ความใกล้ชิด การเห็นอกเห็นใจ และความอ่อนโยน

        เมื่อเช้านี้มีโอกาสที่จะสร้างรูปแบบของการก้าวเดินไปด้วยกัน เมื่อพวกเรามีการแบ่งกลุ่มออกเป็นกลุ่มละ 20 คนซึ่งประกอบด้วยด้วยเจ้าหน้าที่โรมันคูเรีย “ซึ่งมีหัวหน้าของสมณกระทรวง 3 แห่ง ที่อยู่ในกลุ่มที่พูดภาษาอังกฤษ “E” บิชอปผู้เป็นประมุขแห่งเขตศาสนปกครอง นักบวชชาบหญิงซึ่งประจำอยู่ที่กรุงโรม แขกและฆราวาสที่ได้รับเชิญจากอาชีพต่างๆ ผู้ดำเนินรายการเชิญให้พวกเราพูดเกี่ยวกับ “การก้าวเดินไปด้วยกัน” ที่เกิดขึ้น (หรือไม่เกิดขึ้น) ในพระศาสนจักรท้องถิ่นของพวกเรา พร้อมกับความหวังและความกลัวของพวกเราสำหรับกระบวนการซีนอดระดับสากล

        วิธีการนั้นน่าสนใจมาก หลังจากที่มีการแนะนำกันแล้ว พวกเรามีการไตร่ตรองกันอย่างเงียบๆ เป็นเวลา 5 นาทีเตรียมสิ่งที่พวกเราจะพูด แต่ละคนจะพูดได้ไม่เกิน 3 นาที แล้วจะมีการไตร่ตรองกันอย่างเงียบๆ อีก 5 นาที หลังจากนั้นจะมีการการอ่านข้อความที่แต่ละคนพูด แต่และคนแบ่งปันกันคนละไม่เกิน 2 นาที ไม่ว่าสิ่งใดที่สะกิดใจและก้องกังวานในใจตน (การชี้นำที่พวกเราได้รับ ก่อนที่พวกเราได้รับการเชิญให้พิจารณาถึงสิ่งที่พระจิต ดูเหมือนจะเรียกร้องจากพวกเราว่า พวกเราจะต้องเลือกเดินทางหนทางไหนที่เปิดกว้างให้พวกเราก้าวเดิน และขอให้พวกเราสังเกต “การขับเคลื่อนแห่งจิตภายใน” ถึงความชื่นชมยินดีหรือความทุกข์เศร้า ความร้อนใจหรือความมั่นใจ ความบรรเทาใจหรือความสิ้นหวัง) สุดท้ายจะมีเวลาว่างประมาณ 20 นาที สำหรับการไตร่ตรองและการสรุป” ซึ่งจะถูกบันทึกแล้วส่งไปให้สำนักเลขาธิการซีนอด

        สิ่งที่น่าสนใจว่าผู้อาวุโสแห่งวาติกัน – บรรดาพระคาร์ดินัลและบรรดาบิชอป – มักจะอ้างถึงความรู้ด้านเทววิทยา ในขณะที่นักบวชและฆราวาสจะพูดเกี่ยวกับประสบการณ์ในชีวิตจริง แน่นอนเทววิทยานั้นเป็นสิ่งที่ดี พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงอนุญาตให้พระศาสนจักรเป็นสิ่งที่สภาพระสังคายนาวาติกันที่ 2 เน้นใน Lumen gentium ที่มีภาพพจน์ การก้าวเดินไปด้วยกันเป็นยาป้องกันลัทธิปัจเจกนิยมและการแบ่งแยกชนชาติ บัดนี้พวกเรามีโอกาสทองที่จะรับหนทางจากต้นฉบับของการ “เป็นพระศาสนจักร” ทียอมให้มีการตัดสินใจที่ผุดขึ้นมาจากเบื้องล่างระดับรากหญ้า ทว่าประสบการณ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าเสมือนการบังคับ โดยเฉพาะจากบรรดาซิสเตอร์นักบวชหญิง ซึ่งอธิบายถึงความพยายามของคณะนักบวชที่จะก้าวไปด้วยกันในหนทางของตนในการปกครองและในการทำการตัดสินใจ พวกเขากล่าวว่านี่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงความคิดและวัฒนธรรมพร้อมกับยอมรับถึงขอบเขตแห่งความไม่แน่นอนและความตึงเครียดที่ทำให้หลายคนรู้สึกไม่สบายใจ  แต่การสร้างบรรยากาศการสวดภาวนาและการฟังให้เป็นกระบวนการนำพวกเขาไปสู่การรับรู้ยิ่งขึ้นถึงช่องโหว่ ถึงความเป็นเอกภาพและความชื่นชมยินดี และถึงการที่ต้องมีความสุภาพมากกว่า พวกเขาพูดถึงการล่อลวงแห่งโลกีย์วิสัย ของการที่จะตกอยู่ในความพยายามที่จะใช้อำนาจเพื่อที่แสดงใบหน้าภายนอกแห่งความเป็นเอกภาพ และความมีประสิทธิภาพแทนที่จะยอมรับความขัดแย้ง และความไม่แน่นอนของตนและรอคอยพระจิตเพื่อคำตอบหาทางออก

        ในขณะที่พวกเขาพูดอยู่นั้น ดูเหมือนจะมีความชัดเจนว่าการก้าวเดินไปด้วยกันและความศักดิ์สิทธิ์นั้นต้องเดินคู่ขนานกันไป ดังที่พระสันตะปาปาฟรานซิสเพิ่งจะสอนพวกเรา “รูปแบบของพระเจ้าซึ่งได้แก่ความใกล้ชิด ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และความอ่อนโยน” ในกลุ่มเล็ก ๆ ของข้าพเจ้า แม้ว่าข้าพเจ้าไม่เห็นมีลิ้นที่เป็นไฟ แต่เมื่อไตร่ตรองถึงประสบการณ์ภายหลัง รู้สึกว่านี่เป็นของแท้ ราวกับว่านี่คือสิ่งที่พระศาสนจักรควรจะต้องเป็นจริง ๆ ซึ่งพระคาร์ดินัล บิชอป นักบวชชายหญิง และฆราวาสต่างฟังซึ่งกันและกันในฐานะที่มีความเท่าเทียมกันใน “เวทีเปิดที่ทุกคนสามารถรู้สึกเป็นกันเองและมีส่วนร่วม”

        และแล้วเกือบจะทันทีทันใดข้าพเจ้าก็รู้สึกเศร้าใจที่หลายเขตศาสนปกครองและวัดมาจากวัฒนธรรมเช่นนี้ และโครงสร้างหลายอย่างที่ไม่ใช่เป็นโครงสร้างที่ก้าวเดินไปด้วยกัน ไม่ช้าก็จะมีการต่อต้าน

        ในเช้าวันต่อมาในมหาวิหารนักบุญเปโตร – มิสซาแรกทางกายภาพของข้าพเจ้าที่นานกว่าหนึ่งปีเพราะโรคระบาดโควิด – พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเปิดการประชุมซีนอด เป็นความชื่นชมยินดีที่พวกเราคาดหวัง แต่ก็ไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้นเป็นพิเศษ  บทอ่านพระวรสารเกี่ยวกับการที่พระเยซูคริสต์พบกับชายหนุ่มที่ร่ำรวยบนถนน ในบทเทศน์จนเป็นเรื่องปกติ พระสันตะปาปาฟรานซิสมักจะหยิบยกเอาสามคำกิริยามากล่าว การพบปะกับพระเยซูคริสต์ การฟังพระองค์ และไตร่ตรองว่าพระองค์ทรงต้องการให้พวกเราทำอะไร ก็เช่นเดียวกันกับกระบวนการของซีนอด พวกเราต้องมีเวลาและมีหัวใจให้กับผู้อื่น ต้องฟังพวกเขาด้วยหัวใจและไม่มีการตัดสินผู้ใด  “พวกเราต้องไม่ปิดกั้นหัวใจของพวกเรา ขอให้พวกเราอย่าได้เป็นเครื่องกีดขวางในความแน่นอนของตัวเรา” พระองค์ทรงขอร้อง พระเยซูคริสต์กำลังเรียกพวกเราเฉกเช่นที่พระองค์ทรงเรียกชายผู้ร่ำรวย “เพื่อให้ทำตนเป็นบุคคลว่างเปล่าเพื่อที่จะเป็นไทจากทุกสิ่งที่เป็นของโลกรวมถึงรูปแบบของการอภิบาลที่ต้องมองทั้งภายในและภายนอก แล้วถามตัวเราเองว่าเป็นพระเจ้าเองหรือเปล่าที่ตรัสกับตัวเราในขณะนี้”

        เมื่อสองวันที่แล้วในคำปราศรัยในการประชุมซีนอด พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเอ่ยถึงการละเลยการนมัสการ และพระองค์ก็ทรงเอ่ยอีกครั้งในวันนี้ในบทเทศน์ของพระองค์เมื่อพระองค์พูดถึงความสำคัญของ “การอุทิศเวลาให้กับการนมัสการพระเจ้า” การกล่าวย้ำเรื่องนี้ซึ่งสะกิดใจข้าพเจ้า เหตุใดพระองค์จึงนำเอารูปแบบแห่งการสวดภาวนานี้ ซึ่งเป็นศรัทธาของพระองค์มาพูด – พระองค์ทรงปฏิบัติเช่นนี้ทุกวัน เวลา 3 ทุ่มทุกวันโดยไม่มีการละเว้น – ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการประชุมซีนอดที่เกี่ยวกับการก้าวเดินไปด้วยกันของพวกเราหรือไม่? แล้วข้าพเจ้าก็เข้าใจว่า การนมัสการเป็นการอธิษฐานภาวนาเพื่อการประชุมซีนอดที่ดีที่สุด เพราะว่าพวกเราจะตื่นตัวขึ้นในหน้าที่แห่งการทำพันธกิจของพวกเรา เมื่อพวกเราภาวนาต่อพระเยซูคริสต์ในความเป็นเอกภาพร่วมกับพระองค์ในศีลมหาสนิท พวกเราจะเป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับ และได้รับความรัก  พวกเราเป็นผู้ที่มีส่วนร่วม

        การนั่งฟังการประชุมในวันต่อมา ข้าพเจ้าอดใจไม่ได้ที่จะเห็นความอ่อนแอแห่งโครงสร้างของซีนอด เมื่อเทียบกับความตั้งใจหรือความทะเยอทะยาน ไม่มีองค์กรทางโลกใดที่จะเริ่มงานใหญ่เช่นนี้โดยมีทรัพยากรเพียงเล็กน้อย และการเตรียมตัวเพียงนิดเดียวในเวลาอันสั้น ทีมผู้นำซีนอดกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งมีการเสริมทีมงาน โดยแต่งตั้งผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่มีประสบการณ์สูง ดร. เธียรี่ บอนาเวนตูรา  (Thierry Bonaventura) ท่านเป็นปรมาจารย์เรื่องสื่อและก็ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการด้านชีวิตฝ่ายจิต เทววิทยา กลยุทธ์ และการสื่อสาร ทว่าสมาชิกส่วนใหญ่แห่งคณะกรรมการเหล่านี้จะพบปะกันเป็นการส่วนตัวเป็นครั้งแรกและเมื่อคำนึงถึงงานที่จำเป็นต้องทำแล้วต้องถือว่ายังใช้ไม่ค่อยได้

        ในคณะกรรมาธิการต่างๆ พวกเราต้องเผชิญกับปัญหาของการท้าทาย เริ่มต้นด้วยคำศัพท์ต่าง ๆ ที่พวกเราไม่คุ้นเคย จะให้คำจำกัดความกับคำว่าซีนอดอย่างไร ในขณะเดียวกันในเมื่อมีสถาบันที่ตั้งอยู่ในกรุงโรม และเพิ่งจะเริ่มดำเนินกระบวนการ? จะทำให้เข้าใจได้อย่างไรว่านี่คือกระบวนการแห่งการเปลี่ยนแปลง เป็นการกลับใจเปลี่ยนแปลงทัศนคติใหม่ในการก้าวเดินไปด้วยกัน ซึ่งผลของการก้าวเดินไปด้วยกันนี้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนวัฒนธรรม และในขณะเดียวกันสื่อสารสังคมก็ว่า นี่เป็นกระบวนการที่ปราศจากเงื่อนไขที่เปิดกว้างสู่การดลใจของพระจิต? จะอธิบายเรื่องนี้กันอย่างไรในขณะที่จะหยิบยกเรื่องอะไรมาพูดกันก็ได้ เพียงแต่ให้บรรดาบิชอปลงคะแนนเสียงแล้วให้พระสันตะปาปาเป็นผู้ตัดสินใจ เพียงแค่นี้หรือ? จะจัดการกับความหวังแบบเทียมๆและความกลัวที่กระทำแบบผิดที่ผิดทางได้อย่างไร? พวกเราทำงานหนัก สร้างเอกสาร นำทีมสื่อสารสังคมวาติกันมาถ่ายทำข่าวด้วยการสัมภาษณ์กับสมาชิกของคณะกรรมาธิการด้านกลยุทธ์ แต่ดูเหมือนจะเป็นของแปลกที่มีการทำกันเช่นนี้เพียงไม่กี่วันก่อนที่จะเปิดกระบวนการในขั้นตอนพระศาสนจักรท้องถิ่น แต่ละเขตศาสนปกครอง

และแล้วในช่วงเวลาอาหารเที่ยงของวันถัดมาเจ้าหน้าที่วาติกันเกษียณท่านหนึ่งบอกข้าพเจ้าว่า นี่เป็นความไม่สู้ฉลาดสำหรับการที่พระสันตะปาปาเริ่มกระบวนการที่ทะเยอทะยานเช่นนี้ในช่วงที่พระองค์เรียกว่านี่เป็น “ขาลง” แห่งสมณสมัยของพระองค์  ทว่าข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง พระสันตะปาปาฟรานซิสพยายามปั้นเรื่องนี้มาตลอดเวลา 8 ปี ทรงสอนเรื่องการก้าวเดินไปด้วยกันในคำปราศรัย และในเอกสารรวมถึงในที่ประชุมของบรรดาบิชอปเพื่อที่พูดกันถึงเรื่องที่มีความสำคัญ เช่น ครอบครัว เยาวชน และอะเมซอน บัดนี้พระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะรวบรวมประชากรเข้าไว้ด้วยกัน ที่จะเชิญพวกเขาให้เข้ามาสู่กระบวนการแห่งการก้าวเดินไปด้วยกันด้วยการไตร่ตรอง เพราะพระองค์ทรงสัมผัสได้กับ “ไครอส – Kairos” (จังหวะเวลา) หรือ ณ เวลาที่เหมาะสม หลังจากหนึ่งปีแห่งการอยู่อย่างโดดเดี่ยวของบรรดาคริสตชนที่รู้สึกน่ากลัวและวัดที่ปิดประตูสนิท อะไรจะดีไปกว่าการการรวบรวมสัตบุรุษให้ฟังพระจิต? จากมุมมอของทางโลกดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ทว่าตรงนี้ผู้ใดเป็นผู้ที่รับผิดชอบ? เป็นอย่างไรเมื่อนักบุญยอห์น ที่ 23 ได้ประกาศให้มีกระประชุมสังคายนาวาติกัน 2?

        วันถัดมาในการประชุมร่วมกันของคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ที่ห้องประชุมใหญ่แห่งคูเรียคณะนักบวชเยซุอิตเกิดมีความตึงเครียดขึ้นมา กลุ่มนักเทววิทยา – มีคนที่ชื่อดังหลายคน – กังวลว่าพวกตนไม่ได้รับคำสั่งที่ชัดเจนให้พัฒนาเทววิทยาแห่งการก้าวเดินไปด้วยกัน สมาชิกบางท่านแห่งคณะกรรมาธิการชีวิตฝ่ายจิตต่างก็กังวลว่าการประชุมเหล่านี้ในขณะที่ตัวเองยังไม่ได้ก้าวเดินไปด้วยกันที่เพียงพอ จะต้องมีการพัฒนา “จุดยืน” แห่งการก้าวเดินไปด้วยกันอย่างไร ในขณะที่เนื้อหาของการประชุมยืดยาวและอัดแน่นในสาระสำคัญ?  ความรู้สึกผิดหวังเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งแห่งประสบการณ์ของการประชุมซีนอด ซึ่งมักจะเป็นเช่นนี้เสมอดังที่นักบวชของคณะเยซุอิตท่านหนึ่งกล่าวว่า นี่เป็นการกระทำการที่เร่งรีบและ “แข่งกับเวลา” จะได้ผลดีจริงหรือ?

        ไม่มีที่ใดที่จะเป็นความจริงมากไปกว่าภาระกิจที่ยุ่งยากซับซ้อนไปกว่าการที่มีการพูดออกมาอย่างจริงใจและมีการแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ชาวลาตินอเมริกันที่ได้ทำสิ่งนี้มาแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1968 กล่าวว่านี่เป็นโอกาสที่เปิดประตูให้มีความคิดสร้างสรรค์ในการสังเคราะห์ เรื่องสำคัญจริง ๆ อยู่ที่ต้องซื่อสัตย์กับสิ่งที่ท่านได้รับมาในการมองหา “ไขมุกเม็ดที่สวยงาม” ในภาษาของประชากร นักเทววิทยาท่านหนึ่งกล่าวว่าสิ่งที่จำเป็นคือ “homo synodalis” มนุษย์ที่มีหัวใจพร้อมที่จะก้าวเดินไปด้วยกัน ผู้ซึ่งเอื้ออำนวยในการก้าวเดินไปด้วยกันแทนที่จะบังคับผู้อื่น ผู้นั้นต้องมองเห็นการเริ่มของ “สิ่งใหม่ ๆ” ที่พระจิตทรงเรียกร้อง

        การนำเสนอโดย Power Points จัดเรียงลำดับของอุปสรรคต่าง ๆ ทำให้รับรู้ว่าหลายคนยังขาดความสนใจและการรับรู้อย่างจริงจัง ข้อมูลและความชำนิชำนาญมีน้อย การท้าทายโครงสร้างของเขตศาสนปกครองในประเทศที่ยากจน ภาระหน้าที่มหึมาที่ซัดโถมเข้ามาพร้อม ๆ กันในกลุ่มวัด และในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีความทุกข์ยากลำบาก บุคคลที่อยู่ภายนอกยังห่างไกลจากพระศาสนจักร และบุคคลที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ

        นี่ยังไม่ใช่การประชุมที่มีความร้อนระอุ การแทรกแซงต่าง ๆ ยังเป็นความมั่นใจและทำด้วยทัศนคติที่ดี ยังมีความชื่นชมยินดีในที่นี้ ยังมีความเชื่อแบบเรียบ ๆ เงียบๆ ว่าทุกอย่างจะดำเนินไปได้ด้วยดี  และจะเป็นพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกัน – แม้ว่าจะเคร่งเครียด ซับซ้อน ยุ่งเหยิง แฝงความสุภาพ แต่ก็เป็นเวทีที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน – นี่คือสิ่งที่พระเจ้าทรงขอร้องความเป็นคาทอลิกในสหัสวรรษที่สาม มีความมั่นใจเช่นเดียวกันว่าประชากรของพระเจ้าเมื่อถึงเวลาจะได้ยินเสียงของพระจ้าให้พวกเรามารวมตัวกัน และเมื่อพวกเขาทำเช่นนี้พวกเขาจะพูดด้วยความกล้าหาญและฟังด้วยความตั้งใจ และโดยวิธีใดวิธีหนึ่งแม้จะมีอุปสรรคและแรงต้านทานจะไม่มีพระศาสนจักรใหม่ที่แตกต่าง พวกเรายืนต่อพระพักตร์พระองค์ พระจิตเจ้า “Adsumus Sancte Spiritus”

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทความที่น่าสนใจมาแบ่งปันและไตร่ตรอง) Cr. Austen Ivereigh October 21, 2021 ท่านนักเขียนที่มีชื่อเสียงที่ดีและคริสตชนคุณภาพ ขอขอบคุณ