วันที่ 24 มกราคม
ระลึกถึง นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์
พระสังฆราชและนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร
(St Francis de Sales, Bishop & Doctor, memorial)
นักบุญฟรังซิส เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1567 เป็นบุตรคนโตสุดในจำนวนทั้งหมด 13 คน ของขุนนางที่ชื่อ Francis de Boisy และ Frances de Sionnaz เกิดที่ปราสาทของตระกูลซาลส์ แถบซาวอย ประเทศฝรั่งเศส เมื่ออายุ 25 ปีได้จบปริญญาเอกทางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยของเมืองปาดัว (Padua) อิตาลี แต่ในปีต่อมาท่านปฏิเสธตำแหน่งสมาชิกสภาสูง และละทิ้งวิชากฎหมายเพื่อมุ่งหน้าจะเป็นพระสงฆ์ แม้ว่าพ่อของท่านจะคัดค้านอย่างหนักหน่วงก็ตาม
แคว้น Le Chablais ที่อยู่ชายฝั่งด้านใต้ของทะเลสาบเจนีวาในขณะนั้นเพิ่งยอมแพ้ให้แก่ ดยุค แห่งซาวอย ซึ่งเป็นคาทอลิก หลังจากตกอยู่ใต้อิทธิพลของโปรแตสตันท์ของกรุงเบอร์น (Berne) มาเป็นเวลา 50 ปี ดังนั้นฟรังซิสและญาติของท่านคือ the Canon Louis de Sales ได้อาสาที่จะพาประชาชนที่ไปนับถือลัทธิคาลวินิสต์ (Calvinist) ให้กลับมาสู่ความเชื่ออีกครั้งหนึ่ง ท่านได้ตั้งกฎเกณฑ์ของพระศาสนจักรขึ้นมาเรื่อง “ข้อโต้แย้ง” (“Controversies”) ที่มีชื่อเสียงมาก ได้คัดลอกลายมือเป็นแผ่นปลิวสอดไปตามประตูบ้าน หรือช่องว่างตรงกำแพง
ผู้คนมากมายค่อยๆหลั่งไหลมาฟังคำเทศน์ของท่านแล้วก็กลับใจ ด้วยความที่ท่านเป็นคนดีและซื่อจนหาคนเปรียบได้ยาก รวมทั้งมีความอดทนและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อีกทั้งคำสอนที่ชัดเจนและไม่อาจคัดค้านได้ ท่านเคยกล่าวว่า “คุณสามารถจับแมลงมากมายด้วยน้ำผึ้งเพียงช้อนเดียว มากกว่าใช้น้ำส้มเป็นร้อยๆ ถัง” ภายในเวลา 4 ปีที่ท่านทำงานอย่างหนัก ผ่านการเดินทางไปตามหมู่บ้านต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ประสบภัยอันตรายต่างๆ มากมาย ฟรังซิสก็สามารถทำให้ผู้นับถือลัทธิคาลวินิสต์กลับใจได้ถึง 70,000 คน และในที่สุดก็มีความยินดีที่ได้เห็นวัดต่างๆ เปิดขึ้นใหม่มาเป็นแบบคาทอลิก ความสำเร็จจากการงานที่ยากลำบากเหล่านี้และชื่อเสียงทางด้านความศักดิ์สิทธิ์ของท่านเป็นที่เลื่องลือไป ทำให้ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชผู้มีสิทธิ์สืบทอดตำแหน่ง (Bishop-coadjutor) ในปี ค.ศ. 1599 แม้ขณะนั้นท่านมีอายุเพียง 32 ปีเท่านั้น พระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 8 มีความประทับใจในตัวท่านมาก ทรงเชิญท่านเป็นการส่วนตัวมาสอบถามต่อหน้าบรรดาพระคาร์ดินัลของพระองค์
เมื่อพระสังฆราช Granier สิ้นชีพในปี ค.ศ. 1602 ฟรังซิสก็รับตำแหน่งต่อทันที และจากนั้นมาเป็นเวลา 20 ปีในตำแหน่งพระสังฆราชที่ท่านทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง เช่น บ้านพักอาศัย อาหาร เครื่องแต่งกาย ถูกลดทอนให้เรียบๆ ง่ายๆ ที่สุดตามที่ท่านต้องการ เพื่อท่านจะได้ดูแลช่วยเหลือคนยากจนและคนที่ขาดแคลนทั้งหลาย ด้วยใจร้อนรนท่านออกเยี่ยมวัดที่อยู่ห่างไกลทั้งหลาย ซึ่งยากต่อการไปถึงเพราะอยู่บนเทือกเขาที่ห่างไกลมาก ท่านไปที่ไหนก็เทศน์ที่นั่น ฟังแก้บาป ปฏิรูปคณะนักบวชต่างๆ สอนและทำหนังสือสอนคำสอนด้วยภาษาง่ายๆ ที่เหมาะสำหรับคนหนุ่มสาวและคนแก่ และยังจัดให้มีการประชุมซีนอดประจำปีสำหรับบรรดาสมณะของท่าน และสิ่งที่ควรกล่าวถึงอีกด้วย คือการที่ทำให้ทุกคนประทับใจอย่างยิ่งในบทเทศน์ที่มีคุณค่าแบบสั้นๆ ตรงไปตรงมา ไม่แต่งเติม วางอยู่บนพื้นฐานของคำคมที่ว่า “ยิ่งคุณพูดมาก คนจะจำได้น้อยลง” และ “เพื่อจะพูดอย่างดี เราต้องการเพียงรักให้ดี” ในขณะเดียวกันฟรังซิสก็หาเวลาทำงานด้านการเขียนอย่างกว้างขวางด้วย ผลงานชิ้นเอกของท่านเกี่ยวกับการแนะนำวิญญาณที่ชื่อว่า Introduction to the Devout Life, Treatise on the Love of God และ Spiritual Conferences. โดยที่หนังสือ 2 เล่มหลังเขียนให้กับคณะซิสเตอร์ชื่อ “แม่พระเสด็จเยี่ยม” (The Sisters of the Visitation Order) ซึ่งท่านและนักบุญ Jane Frances de Chantal ได้ตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ. 1610 บทนำของท่านบอกว่าเขียนเป็นพิเศษสำหรับบรรดาฆราวาส
ฟรังซิสสิ้นชีพเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ.1622 ได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1662 โดยพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 7 และได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญโดยพระสันตะปาปาองค์เดียวกันในปี ค.ศ. 1665 ในวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1877 นักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์ ได้รับการประกาศเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักร โดยพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 และเป็นองค์อุปถัมภ์ของบรรดานักเขียน ซึ่งได้รับการประกาศโดยพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 เมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ.1923
(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)